posttoday

หนี้เสียจะไม่เพิ่มสูง หากเร่งปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง

28 กันยายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ตอนที่ 39/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

สืบเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางสาธารณสุข จนมีผลกระทบต่อการหยุดชะงักของการทำกิจกรรมทางธุรกิจ ต่อเนื่องมาจนถึงการเริ่มเปิดบ้านเปิดเมืองให้มีกิจกรรมทางการค้าขายภายในประเทศแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยยังมีการรักษาระดับตัวเลขผู้ติดเชื้อภายในประเทศอยู่ที่ 0 คนมาอย่างต่อเนื่องเกินกว่าสามเดือนอย่างที่เราเห็นกันอยู่ ในด้านของคนเป็นหนี้ระดับบุคคลธรรมดาที่มีหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หนี้บัตรเครดิตและหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลก็จะพบว่า ในช่วงเฟสที่ 1 ของการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ที่ธนาคารกลางได้กรุณาจัดให้ก็คือ การให้ชะลอการชำระหนี้ที่ถึงกำหนดในช่วงเวลานั้นได้ ภาษาชาวบ้านที่เข้าใจง่ายๆ คือแขวนต้นเงิน แขวนดอกเบี้ย โดยไม่ถูกนับว่าเป็นลูกหนี้ค้างชำระ หรือไม่ถือว่าเป็นหนี้เสียมาตรการช่วงแรกคือช่วงสามเดือนจากเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2563 ในภาษาแวดวงทางการเงินก็คือ Debt payment holiday ตัวอย่างที่ผู้เขียนพบในตลาดเงินกู้ที่มีการทำกันคือ

1. สินเชื่อบัตรเครดิต สามารถลดยอดจ่ายขั้นต่ำจากเดิม 10% เป็น 5% หรือบางที่ลดลงไปถึง 3% สิ่งที่สถาบันการเงินทำคือส่ง SMS แจ้งลูกค้าว่าได้รับสิทธิอัตโนมัติ หากไม่ต้องการใช้สิทธิก็แจ้งกลับประมาณนี้ ผลตอบรับคือลูกหนี้ที่ยังพอจ่ายได้ก็ยังจ่ายสูงกว่าหรือเท่ากับ 10% ด้วยเหตุว่ากลัวมีดอกเบี้ยจ่ายเยอะขึ้น อันนี้เป็นสัญญาณที่ดีว่าความสามารถในการชำระหนี้หรือการเลี้ยงงวดต่อไปอีกระยะหนึ่งยังทำได้

2. สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ก็พบว่าทางเจ้าหนี้ก็ออกมาตรการมาแบบว่า ค่างวดเช่าซื้อในช่วง 3 เดือนนั้นให้ยกไปจ่ายต่อท้ายงวดสุดท้ายของสัญญา แต่ให้จ่ายเงินในช่วง 3 เดือนนั้นเดือนละไม่เกินพันบาท คิดแบบบ้านๆ คือ มันเป็นดอกเบี้ยในช่วงที่เว้นวรรคไม่ต้องจ่ายค่างวด 3 งวดนั้น หรือมีอีกแบบคือแยกค่างวดออกเป็นต้นเงินกับดอกเบี้ย แล้วให้จ่ายแต่ดอกเบี้ย ยกเอาต้นเงินนั้นไปต่อตอนท้ายเพื่อจ่ายในวันข้างหน้า แบบนี้เรียกว่าจ่ายแต่ดอกเลี้ยงงวดกันไป วันข้างหน้าค่อยว่ากัน

3. สินเชื่อบ้าน อันนี้ก็จะมีลูกเล่นหลายแบบ แต่ที่เห็นเยอะหน่อยก็คือ ในยอดค่าผ่อนหนี้บ้านรายเดือนก็เอามาแยกเป็นต้นเงินกับดอกเบี้ย แล้วให้ลูกค้าจ่ายดอกเบี้ยเต็มยอดบ้าง 50% ของยอดดอกเบี้ยบ้าง (ยอดที่เหลือแขวนไว้จ่ายกันวันหลัง) เรียกรวมๆ มาตรการนี้ว่าลดยอดการผ่อนชำระลงให้เหลือเท่าที่พอจะจ่ายได้ แบบว่าพยุงกันไปก่อนเดี๋ยวค่อยว่ากัน เพราะเวลานั้นมันมาเจอหน้ากันไม่ได้

4. พวกสินเชื่อส่วนบุคคล หรือกู้เป็นก้อนผ่อนเป็นงวด ส่วนใหญ่ช่วงแรกก็อาจยังไม่มีอะไรมารองรับ แต่ที่สุดก็มีการลดยอดผ่อนต่อเดือนลงมาจนเต็มที่สุดๆ กันก็น่าจะอยู่ที่ 30% ของยอดผ่อนเดิมหรือไม่ก็ยกยอดการผ่อน 3 งวดนี้ไปไว้ข้างหลัง หรือทำตารางการชำระหนี้ใหม่แบบมีฟันหลอไม่ต้องจ่ายในช่วงนั้น แต่พอครบเวลาแล้วต้องมาเริ่มจ่ายตามตารางใหม่ ประเด็น คือ ลูกค้าสินเชื่อแบบนี้จะเป็นลูกหนี้ที่รายได้ไม่สูงมาก หากได้รับผลกระทบแบบว่างงาน ลดชั่วโมงทำงานก็จะแย่ลงอย่างเห็นได้ชัด ยิ่งประเภทลักษณะเงินเดือนไว้ใช้หนี้ OT เอาไว้กินใช้ พอมันไม่มี OT งานก็เข้าในเรื่องการชำระหนี้ทันที สินเชื่อส่วนบุคคลในสายตาผู้เขียนคือตัวปัญหาที่น่าหนักใจที่สุดในบรรดาหนี้การบริโภคของบุคคลธรรมดา

หากแต่ภาพสะท้อนจากการให้ข้อมูลของทุกฝ่ายต่างมองไปว่า ยังอยู่ในขีดความสามารถที่จะบริหารจัดการได้ เช่น

จากฟากฝั่งผู้ทำนโยบายระบุว่า... การแก้ไขหนี้ ธนาคารก็จะพิจารณาปรับโครงสร้างหนี้ ดูตามศักยภาพของลูกหนี้ เรา (หมายถึงภาครัฐ) ก็พยายามช่วยเหลือ และทุกธนาคาร/สถาบันการเงินพยายามช่วย ฝั่งลูกหนี้เองต้องมองระยะยาวด้วยว่า ทำอย่างไรให้ธุรกิจ (พวก SME รายย่อยที่ใช้สินเชื่อพวกนี้มาดำเนินธุรกิจ) กลับมาให้ได้ SME ต้องปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจใหม่เช่นกัน เราถึงไปรอดกันทุกคน..

ฝั่งของนายธนาคารก็ระบุในเนื้อข่าวว่ามั่นใจและสามารถบริหารจัดการได้ หนี้เสียอาจเพิ่มขึ้นได้บ้างเนื่องจากธนาคารได้ลงสนามสำรวจลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวมาแล้วกว่า 9 หมื่นราย พบว่า ราว 80% ไม่ต้องการมาตรการช่วยเหลือต่อ อีก 6% อยู่ระหว่างการสำรวจ และ 0.5% หรือราว 400 กว่าราย ปิดกิจการ ถือว่า สถานการณ์ปัจจุบันไม่ได้แย่กว่าที่คาดไว้เมื่อช่วง 4 เดือนที่แล้ว

ในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ก็คงเป็นเรื่องของเจ้าหนี้กับลูกหนี้ที่จะต้องทำให้การจ่ายหนี้คืนอยู่ในระดับที่รับกันได้ คิดแบบว่า ถ้าลูกหนี้รอด สถาบันการเงินก็รอด จะรอดก็ต้องรอดไปด้วยกัน เรื่องนี้จะไปได้ดีหรือทุลักทุเลก็มีประเด็นเรื่องการรักษารายได้ให้มีอยู่ต่อไปผ่านการมีงานทำ ยังมีธุรกิจที่เดินต่อไปได้ด้วยความหวังว่าวัคซีนจะมาปลายปี 2565

ขอทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงครับ