posttoday

เครื่องมือทางเทคนิค กับ ตลาดหุ้นสหรัฐฯ

22 กันยายน 2563

คอลัมน์ คู่คิดนักลงทุน โดย...บรรณรงค์ พิชญากร บล.บัวหลวง

เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีม BLS Global Investing ของหลักทรัพย์บัวหลวง ได้จัดสัมมนาสุดพิเศษให้กับลูกค้าที่สนใจลงทุนในต่างประเทศของบริษัทในหัวข้อ “กลยุทธ์เทรด Technical ใช้ได้กับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไหม?” โดยมีวิทยากร คือ คุณธนรัตน์ อิศรกุล ผู้อำนวยการ สายงานวิจัย และ คุณรัฐศรัณย์ ธนไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่าย Global Investing แม้ว่าเราจะคุ้นเคยกับการใช้เครื่องมือทางเทคนิคกับตลาดหุ้นไทย แต่รู้หรือไม่ว่า เครื่องมือทางเทคนิคนั้นใช้ได้กับตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้เช่นกัน หรืออาจใช้ได้ดีกว่าด้วยซ้ำไป เนื่องจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีปริมาณการซื้อขายโดยเฉลี่ยต่อวันกว่า 5 ล้านล้านบาท สูงกว่าตลาดหุ้นไทยเป็นร้อยเท่า ทำให้โอกาสที่การทำราคาโดยรายใหญ่ หรือการปั่นหุ้น เกิดขึ้นได้ยากมาก ส่งผลให้สัญญาณทางเทคนิคผิดเพี้ยนไม่บ่อยครั้งเท่ากับในตลาดหุ้นไทย

วิทยากรได้สรุปหัวใจของการวิเคราะห์เทคนิคไว้ ดังนี้

1. The market discounts everything กล่าวคือ ภาพโดยรวมของตลาดได้ซึมซับเหตุการณ์ทุกสิ่งทุกอย่างเอาไว้แล้ว ดังนั้นการใช้เครื่องมือทางเทคนิคนั้น แม้ว่าอาจมีเซียนบางท่านบอกว่า ควรใช้ประกอบกับการวิเคราะห์ ด้านปัจจัยพื้นฐานด้วย แต่จริง ๆ แล้ว เนื่องจากตลาดได้ซึมซับทุกสิ่งอย่างไว้แล้ว การวิเคราะห์เฉพาะกราฟ หรือสัญญาณทางเทคนิคเพียงอย่างเดียวนั้น ก็ควรจะเพียงพอ

2. Price moves in trends กล่าวคือ ราคาจะยังคงเคลื่อนไหวไปตามแนวโน้มเดิม จนกระทั่งแนวโน้มเดิมหมดลง โดยแนวโน้มนั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ทิศทางหลัก ได้แก่ 2.1 แนวโน้มขึ้น (Uptrend) สังเกตได้จากราคาหุ้นทำจุดสูงสุดใหม่ต่อเนื่อง (Higher high) ประกอบกับ เมื่อพักฐานก็ทำจุดต่ำที่สูงกว่าจุดต่ำสุดครั้งก่อนหน้า (Higher low)

2.2 แนวโน้มลง (Downtrend) สังเกตได้จากราคาหุ้นทำจุดต่ำสุดใหม่ต่อเนื่อง (Lower low) ประกอบกับ เมื่อพักฐานก็ทำจุดสูงต่ำกว่าจุดสูงครั้งก่อนหน้า (Lower high) และ 2.3 แนวโน้มแกว่งตัวออกข้าง (Sideways) สังเกตได้จากราคาหุ้นเคลื่อนไหวแกว่งตัวขึ้นลงในกรอบ ไม่ได้ทำจุดสูงสุด หรือจุดต่ำสุดใหม่

3. History tends to repeat itself คำกล่าวนี้ผมชอบที่สุด กล่าวคือ รูปแบบหรือพฤติกรรมของหุ้นที่เกิดขึ้นในอดีตมักมีโอกาสที่จะเกิดขึ้นซ้ำในอนาคต ซึ่งนักลงทุนที่ดีก็ควรจะเรียนรู้จากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดซ้ำอีกในอนาคต

ในงานสัมมนานี้ ยังได้โชว์ผลทดสอบ (Back test) ว่า เครื่องมือทางเทคนิคชิ้นใดสามารถใช้ได้ผลดีในการคาดการณ์ทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐฯ โดยอ้างอิงจากดัชนี DJIA และ S&P500 ที่นับว่า เป็นตัวแทนที่ดีที่สุด โดยผลปรากฏว่าเครื่องมือในกลุ่มเส้นค่าเฉลี่ย (Moving average) เป็นเครื่องมือทางเทคนิคที่ใช้วิเคราะห์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ดีที่สุด โดยเฉพาะเส้นค่าเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก (Exponential moving average) แบบ 50 วัน และ 200 วัน ที่วิทยากรถนัดใช้มากที่สุด

โดยหลักการก็คือ เมื่อเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นตัดเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาวขึ้น เรียกว่า เกิดสัญญาณซื้อ (Golden cross) ในขณะที่เมื่อเส้นค่าเฉลี่ยระยะยาวตัดเส้นค่าเฉลี่ยระยะสั้นลง เรียกว่า เกิดสัญญาณขาย (Dead cross) อย่างไรก็ดี หากแนวโน้มตลาดอยู่ในทิศทางแกว่งตัวออกข้าง (Sideways) ก็มีโอกาสที่สัญญาณดังกล่าวจะผิดเพี้ยนได้ กล่าวคือ เครื่องมือในกลุ่มเส้นค่าเฉลี่ยจะใช้ได้ดีกว่าสภาวะตลาดที่มีทิศทางเป็นแนวโน้มขาขึ้น หรือขาลง แต่หากตลาดอยู่ในแนวโน้มแกว่งตัว อาจใช้เครื่องมือทางเทคนิคอื่นประกอบการวิเคราะห์ เช่น Bollinger Bands

โดยสรุป ผมเห็นตรงกับวิทยากรว่า เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคนั้นสามารถใช้ได้กับตลาดหุ้นสหรัฐฯ และอาจใช้ได้ดีกว่าตลาดหุ้นไทยเสียด้วย โดยนอกจากลูกค้าของหลักทรัพย์บัวหลวง จะสามารถดูกราฟหลักทรัพย์ต่างประเทศกว่า 8,000 ตัว เช่น Apple, Facebook, Starbucks หรือ Alibaba ผ่านระบบ Global Invest ของบริษัทได้แล้ว เรายังมีเครื่องมือจับสัญญาณทางเทคนิคอัตโนมัติแบบรายวัน หรือ Global Signals ให้กับลูกค้าใช้งานได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกด้วย โดยหากนักลงทุนท่านใดสนใจสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อเปิดบัญชีลงทุนต่างประเทศออนไลน์ได้ง่าย ๆ ได้ที่ https://knowledge.bualuang.co.th/knowledge-base/openglobalinvesting/ หรือติดต่อ 0-2 618 - 1111