posttoday

ติดตามการประชุมนโยบายการเงินของไทย

21 กันยายน 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 30.80-31.30 ประเมินว่าตลาดจะใส่ใจผลการประชุมนโยบายการเงินของไทยและตัวเลขเศรษฐกิจไทยที่สำคัญของไทย โดยคาดว่าคณะกรรมการจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% โดยให้น้ำหนักการเร่งเบิกจ่ายนโยบายการคลังเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกของไทยตามระบบศุลกากรจะประกาศในวันเดียวกัน โดยคาดว่าจะถูกกดดันจากผลกระทบของโควิด-19 ในด้านตลาดโลก ประธานเฟดโพเวลจะแถลงต่อคณะอนุกรรมการสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับมาตรการการเงินในภาวะวิกฤตโควิด-19 และการรายงานดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับลูกค้าชั้นดีของจีน

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าในกรอบ 31.00-31.30 ในช่วงต้นสัปดาห์เงินบาทเปิดตลาดทรงตัวจากสัปดาห์ก่อน ก่อนหน้าการประชุมนโยบายการเงินของเฟดในช่วงกลางสัปดาห์ ทั้งนี้ เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นตามเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์มากที่สุดตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2019 จากตัวเลขเศรษฐกิจจีนที่ออกมาแข็งแกร่ง โดยยอดค้าปลีกเดือนสิงหาคมกลับมาขยายตัวเป็นครั้งแรกในปีนี้ นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินหยวนยังมีแรงหนุนจากแรงซื้อพันธบัตรรัฐบาลจีนจากนักลงทุนต่างชาติ เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าจะมีการเพิ่มพันธบัตรรัฐบาลจีนเข้าไปในการคำนวณดัชนี WGBI โดย FTSE Russell อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงเนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าขึ้นภายหลังการประชุมนโยบายการเงินของเฟด โดยนายเจอโรม โพเวล ประธานเฟด กล่าวหลังการประชุมนโยบายการเงินว่าระดับการเข้าซื้อสินทรัพย์ของเฟดในปัจจุบันเหมาะสมแล้ว ทั้งนี้ เฟดปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2020 มาที่ -3.7% จากประมาณการเดิม ณ เดือนมิถุนายนที่ -6.5% และประเมินว่าอัตราการว่างงานจะอยู่ที่ 7.6% จากประมาณการเดิมที่ 9.3% อย่างไรก็ดี เฟดมองว่าความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังสูงหากไม่มีมาตรการการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในช่วงปลายสัปดาห์ เงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์ โดยนักลงทุนรอติดตามความเคลื่อนไหวทางการเมืองของไทยช่วงสุดสัปดาห์ ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ 31.10 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นสำคัญที่นักลงทุนทุกท่านเฝ้าติดตามคือการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่มีมติเป็นเอกฉันท์คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00-0.25% พร้อมกับมีการออกประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ย ณ ระดับปัจจุบันไปจนถึงปี 2023 พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะรักษาระดับดอกเบี้ยนโยบายใกล้ศูนย์ (0-0.25%) เพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวเข้าสู่ระดับการจ้างงานอย่างเต็มศักยภาพและเงินเฟ้อเฉลี่ยระยะยาวอยู่ที่ 2% ซึ่งหมายถึงเฟดอาจปล่อยให้เงินเฟ้อสูงกว่า 2% ไปในระยะหนึ่ง ทั้งนี้เฟดประเมินว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่ได้ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ สะท้อนผ่านการปรับคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเป็น -3.7% จากประมาณการเดิมที่ -6.5% และคาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวที่ 4% ในปีหน้า ส่วนด้านอัตราการว่างงานปรับประมาณการดีขึ้นมาอยู่ที่ 7.6% ลดลงจาก 9.3% ในครั้งก่อนหน้า และคงมุมมองอัตราการว่างงานในระยะยาวคงเดิมที่ 4% โดยในสาระสำคัญถือว่าไม่ได้มีอะไรผิดไปจากที่นักลงทุนได้คาดไว้อยู่แล้ว จึงเห็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ เคลื่อนไหวทรงตัวกับระดับปิดของสัปดาห์ก่อนหน้า ขณะที่ความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางอื่นๆ เริ่มจากธนาคารกลางอังกฤษส่งสัญญาณว่ากำลังพิจารณาใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบเพื่อสนับสนุนตลาดแรงงาน โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 0.1% สอดคล้องกับตลาดฟิวเจอร์ที่เห็นดอกเบี้ยติดลบตั้งแต่ต้นปีหน้าเป็นต้นไป ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติคงนโยบายการเงินไว้ที่ระดับเดิม พร้อมกับมองเศรษฐกิจดีขึ้น โดยประธานบีโอเจย้ำว่า เงินเฟ้อคือเป้าหมายหลักของนโยบายการเงิน โดยคงเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 2% และส่งสัญญาณสนับสนุนสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจอย่างต่อเนื่อง สำหรับธนาคารกลางอินโดนีเซียคงดอกเบี้ยที่ 4% และสุดท้ายธนาคารกลางไต้หวันคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 1.125% ตามที่ตลาดคาด

สำหรับประเทศไทยจะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 23 กันยายน 63 ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่คาดหวังว่า ธปท.จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% ต่อไป ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวทรงตัวจากระดับปิดในสัปดาห์ก่อนหน้า ทั้งนี้ระหว่างสัปดาห์มีการประมูลพันธบัตรรัฐบาลตัว benchmark 10ปีและ 50ปี ออกมาค่อนข้างดี เป็นแรงสะท้อนมุมมองที่นักลงทุนยังคงให้ความสนใจเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดย ณ วันที่ 18 กันยายน 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.51% 0.56% 0.65% 0.87% 1.09% และ 1.39% ตามลำดับ