posttoday

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อในระยะยาว

18 กันยายน 2563

คอลัมน์ Global Investment Advisory โดย..ทิพย์รัตน์ นันทปรีดาวัฒน์ นักวิเคราะห์กลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2011 และได้แข็งค่าทำจุดสูงสุดไปในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา นับเป็นการแข็งค่าขึ้น 35% ใกล้เคียงกับการแข็งค่าในรอบก่อน (33%) แต่ใช้เวลานานกว่าการแข็งค่าใน 2 รอบก่อนเป็นอย่างมาก (รอบนี้ 103 เดือน ในส่วนของ 2 รอบก่อนอยู่ที่ 78 และ 76 เดือน)

เรามองว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่กลับมาอ่อนค่าในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา จะยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องในระยาว เนื่องจาก

1) วัฏจักรการเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ในอดีต มักมีการเปลี่ยนทิศทางทุกครั้งที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เช่น การอ่อนค่าในรอบก่อน เริ่มขึ้นหลังวิกฤตฟองสบู่ในปี 2002 และจบลงหลังวิกฤต Subprime ในปี 2011 ซึ่งการเข้าสู่วิกฤตท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ในรอบนี้ จึงอาจเป็นสัญญาณชี้ว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจกลับมาอ่อนค่าต่อเนื่อง

2) Fed ขยายขนาดงบดุลเร็วกว่าธนาคารกลางประเทศอื่น โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้เคลื่อนไหวตามขนาดงบดุลของธนาคารกลาง ในช่วงที่ขนาดงบดุลของ Fed ขยายตัวเร็วกว่าของธนาคารกลางประเทศอื่น ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มักอ่อนค่า เมื่อเทียบกับสกุลเงินของประเทศนั้น ซึ่งการขยายขนาดงบดุลของ Fed ในปัจจุบันที่เร็วกว่าธนาคารกลางประเทศอื่น อย่าง ECB และ BoJ เป็นอย่างมาก ชี้ว่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ อาจอ่อนค่าลงอีก

3) เมื่อพิจารณาในแง่ของความน่าสนใจในการลงทุน อัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ลดลงเร็วกว่าประเทศอื่น ทำให้ความน่าสนใจในการทำ Carry Trade หรือการกู้เงินจากประเทศที่มีอัตราดอกเบี้ยถูกกว่า แล้วมาลงทุนในสหรัฐฯ ลดลง เห็นได้จากค่า Carry-to-Volatility (หรือ ส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และยุโรปอายุ 3 เดือน หารด้วยความผันผวนของค่าเงิน EUR/USD) ซึ่งเปรียบเสมือนค่า Sharpe Ratio ของการทำ Carry Trade ลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบกว่า 4 ปี

ในระยะข้างหน้า ค่า Carry-to-Volatility น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อ เนื่องจาก Fed ยังไม่มีท่าทีจะกลับมาขึ้นดอกเบี้ยเร็วๆ นี้ โดยระบุว่าจะคงดอกเบี้ยที่ระดับนี้ต่อไปจนถึงปี 2022 เป็นอย่างน้อย ทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยน่าจะยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ค่าความผันผวนได้กลับมาอยู่ระดับใกล้เคียงกับก่อนการระบาดแล้ว ทำให้ความน่าสนใจในการทำ Carry Trade น่าจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อ

4) ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่อาจลดลง โดยตั้งแต่ตลาดประเมินโอกาสที่ผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี (ปธน.) นาย Joe Biden ซึ่งมีนโยบายการค้าระหว่างประเทศเป็นมิตรกว่าปธน. Donald Trump จะชนะการเลือกตั้งในปลายเดือน พ.ค. ค่าเงินหยวนก็กลับมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ถึงแม้จะมีประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การผ่านกฏหมายความมั่นคงที่เข้มงวดของจีน เพื่อบังคับใช้ในฮ่องกง ในวันที่ 28 พ.ค. ซึ่งทำให้สหรัฐฯ ตอบโต้โดยการเพิกถอนสถานะพิเศษของฮ่องกงในวันที่ 14 ก.ค. และการสั่งปิดสถานกงสุลของกันและกันในวันที่ 22 และ 24 ก.ค. รวมถึงการออกคำสั่งห้ามไม่ให้บุคคลหรือบริษัทอเมริกันทำธุรกรรมกับบริษัท ByteDance (แอปพลิเคชัน TikTok) และบริษัท Tencent (แอปพลิเคชัน WeChat) ของจีน ในวันที่ 7 ส.ค. ที่ผ่านมา

ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนลงจะส่งผลบวกต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เนื่องจากเงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินสกุลหลักในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและการกู้ยืมระหว่างประเทศ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนลงจึงส่งผลให้ต้นทุนในการบริโภคสินค้าและการกู้ยืมลดต่ำลง ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์ เช่น ทองคำและน้ำมัน ซึ่งซื้อขายในเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นหลัก เป็นสินทรัพย์ที่ได้ผลบวกจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างชัดเจน ในขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงอื่นๆ เช่น หุ้น โดยเฉพาะหุ้นในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) ก็มักให้ผลตอบแทนดีในภาวะดอลลาร์สหรัฐฯ อ่อนเช่นกัน

เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อในระยะยาว