posttoday

เศรษฐกิจฟื้นไม่ได้ด้วยมาตรการแจกจ่าย

15 กันยายน 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; [email protected]

มาตรการที่รัฐจะใช้เครื่องมือทางการคลังในรูปแบบการแจกจ่ายเงินหรืออย่างอื่นให้ประชาชนนั้น ในทางเศรษฐกิจมหภาคไม่ได้ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด เป็นเพียงการโยกย้ายทรัพย์สิน (อาจจะเป็นเงิน) หรือความมั่งคั่งจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจเท่านั้น ในทางวิชาการอาจจะเรียกว่า (Re)allocation of wealth โดยมีความหวังว่า เมื่อรัฐแจกจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนการใช้จ่ายไปแล้ว ประชาชนผู้ได้รับการแจกจ่ายก็จะนำเงินที่ได้รับจากการแจกจ่ายนั้นไปจับจ่ายใช้สอย ซึ่งถ้าจะหวังผลให้เกิดเป็นการ "กระตุ้น" การใช้จ่ายได้จริง ประการที่หนึ่ง การจับจ่ายใช้สอยนั้นต้องใช้จ่ายจริงทั้งหมดของเงินรายได้ที่ได้รับการจ่ายแจกมา ซึ่งถ้าใช้น้อยกว่า มาตรการในการแจกจ่ายของรัฐก็จะไม่มีผลเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างที่ต้องการ เช่น ได้รับแจกมา 100 บาทก็จะต้องใช้จ่ายให้ครบทั้ง 100 บาท

ประการที่สอง นอกจากประชาชนหรือครัวเรือนจะต้องใช้จ่ายเงินที่ได้รับแจกจ่ายมาแล้ว ยังต้องมีการใช้จ่ายรายได้ในส่วนที่เตรียมไว้ หรือตั้งใจว่าจะใช้จ่ายอยู่แล้ว (หรือจำเป็นจะต้องใช้จ่ายอยู่แล้วแม้ว่าจะไม่ได้รับการแจกจ่ายจากรัฐ) ไม่ใช่เมื่อได้รับเงินจากการแจกจ่ายมา ก็นำมาใช้จ่ายทดแทนในส่วนที่เตรียมหรือตั้งใจ หรือต้องใช้จ่ายอยู่แล้ว เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น มาตรการรัฐผ่านกระบวนการแจกจ่ายหรือช่วยค่าใช้จ่ายก็จะไม่มีผลในแง่การกระตุ้นการใช้จ่าย ไม่ได้แตกต่างจากที่รัฐเอาไปใช้จ่ายเสียเอง

ประการที่สาม ถ้าจะให้ได้ผลในแง่การกระตุ้นในเกิดการใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจ การสนับสนุนทางด้านการใช้จ่ายให้กับประชาชนหรือครัวเรือน ต้องทำให้ประชาชนไม่เพียงแต่ใช้จ่ายในส่วนที่เตรียม หรือตั้งใจว่าจะใช้จ่าย แต่ต้องใช้จ่ายมากกว่าที่เตรียมหรือตั้งใจไว้ เช่น ถ้าครัวเรือนมีรายได้เดือนละ 30,000 บาท มีค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เป็นประจำ 80% คือ 24,000 บาท เป็นเงินออม 20% คิดเป็น 6,000 บาท ถ้าได้รับเงินแจกจ่ายจากรัฐมาอีก 5,000 บาท (ซึ่งมาตรการของรัฐก็จะบังคับให้ใช้จ่ายให้หมดทั้ง 5,000 บาท) มาตรการรัฐในการสนับสนุนให้เกิดการใช้จ่ายนั้น จะมีผลเป็นการกระตุ้นการใช้จ่าย (ไม่ชัดเจนว่าจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่?) ก็ต่อเมื่อ ครัวเรือนนี้จะต้องใช้จ่ายเงินในส่วนที่เตรียมไว้เพื่อการใช้จ่ายอยู่แล้ว (24,000 บาท) บวกกับเงินที่ได้มาจากการแจกจ่ายของรัฐ (5,000 บาท) และยังจะต้องไปดึงเอาเงินในส่วนที่ตั้งใจจะออม (บางส่วน หรือทั้งหมด) ออกมาใช้จ่ายด้วย จึงจะมีผลให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่ายได้

เมื่อมีการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายแล้วก็เป็นที่คาดหมาย หรือคาดหวังว่า จะมีการผลิตเพิ่มขึ้น ซึ่งต้องใช้คำว่า "คาดหวัง" เพราะในช่วงที่เศรษฐกิจมีปัญหา อยู่ในช่วงของเศรษฐกิจถดถอยนั้น เงื่อนไขดังกล่าวอาจจะไม่เกิดขึ้น หรือเกิดขึ้นได้น้อย เช่น เมื่อผู้ผลิตได้รับอนิสงค์จากมาตรการของรัฐที่สนับสนุนให้เกิดการใช้จ่าย เมื่อขายสินค้าที่ตนผลิตได้แล้ว แต่ไม่มีความมั่นใจว่าถ้าผลิตใหม่เพิ่มขึ้นอีกแล้วจะสามารถขายสินค้าที่ผลิตออกมาได้ ก็อาจจะเลือกตัดสินใจเก็บรายได้ที่ได้จากการขายสินค้าไปได้จากการกระตุ้นการใช้จ่ายของรัฐ และไม่ผลิตใหม่ ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้น การสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจที่จะขับเคลื่อนให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างที่รัฐคาดหวังไว้จากการใช้มาตรการทางการคลังเพื่อ "กระตุ้น" เศรษฐกิจ งบประมาณทางการคลังที่ใช้ไปด้วยการแจกจ่ายนั้นก็จะเป็นเพียงการระบายสินค้าคงคลัง (Inventory) ของผู้ผลิตที่มีสินค้าคงคลังค้างอยู่ จะหวังว่าเงินที่รัฐใช้แจกจ่ายออกมานั้น จะหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจอีกเป็น 2 รอบ 3 รอบ ก็ดูเหมือนจะเป็นไปได้ไม่ง่าย

ดังนั้น มาตรการทางการคลังของรัฐจึงต้องแยกความแตกต่างให้ดีว่ามาตรการนั้นจะมีวัตถุประสงค์เพื่อการให้ความช่วยเหลือ หรือ "เยียวยา" แกผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนและไม่สามารถปรับตัวเพื่อรับมือได้ด้วยตัวเอง หรือจะเป็นมาตรการเพื่อวัตถุประสงค์ในการกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งถ้าเป็นมาตรการที่มีวัตถุประสงค์อย่างหลังนี้ ก็ต้องมีความแน่ใจและชัดเจนได้ว่า มาตรการทางการคลังนั้นจะก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อย่างไร

จะเห็นได้ว่าปัญหาทางเศรษฐกิจ (อาจจะเป็นเศรษฐกิจถดถอย หรือเศรษฐกิจซบเซา หรือเศรษฐกิจชะลอตัว ก็ตามแต่ที่แต่ละท่านจะประเมิน) จากการระบาดของโรคโควิด-19 นั้น ต้นตอหรือสาเหตุของปัญหาไม่ได้อยู่ที่เรื่องการใช้จ่ายโดยตรง แต่เป็นปัญหาทางด้านการสร้างรายได้ เมื่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลงในวงกว้าง ทั้งจากการระบาดของโรคเองและมาตรการจำกัดการระบาดของโรคที่รัฐนำมาใช้ รวมทั้งผลจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นระยะเวลาหนึ่งที่ทำให้พฤติกรรมและความต้องการสินค้าและบริการของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้กระบวนการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจไม่สามารถเกิดขึ้นได้ หรือมีข้อจำกัด รายได้ของเกือบจะทุกภาคส่วนในระบบเศรษฐกิจลดลง สภาวการณ์ทางเศรษฐกิจในลักษณะนี้ การแก้ไขเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจึงไม่น่าจะใช้เครื่องมือทางการคลังเพื่อไปกระตุ้นการใช้จ่าย

ในทางตรงข้าม เนื่องจากปัญหาทางเศรษฐกิจเป็นปัญหาทางด้านการสร้างรายได้ (ถ้าครัวเรือนสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นปกติ ครัวเรือนก็จะใช้จ่ายเองตามปกติ ไม่จำเป็นต้องมีการกระตุ้นให้ใช้จ่าย) ก็เป็นสิ่งที่เหมาะที่ควรแล้วที่ครัวเรือนหรือธุรกิจจะต้องตัดสินใจอย่างมีเหตุมีผล (Rational decision) ที่จะระมัดระวังการใช้จ่าย เพื่อให้สามารถมีรายได้เพียงพอต่อการครองชีพ ไม่ต้องถูกบังคับให้ต้องก่อหนี้ หรือมีหนี้สินเพิ่มพูนมากขึ้น การไปสนับสนุนให้ใช้จ่ายกลับจะเป็นการซ้ำเติมครัวเรือนให้อ่อนแอ ตกอยู่ในสภาวะที่ต้องแบกรับภาระหนี้สินมากขึ้น ยาวนานขึ้น ทั้ง ๆ ที่ปัจจัยแวดล้อมก็เอื้ออำนวยอยู่แล้วต่อการสร้างหนี้เมื่ออัตราดอกเบี้ยถูกกดให้อยู่ในระดับต่ำอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หนี้เสียที่พอกพูนขึ้นในภาคครัวเรือนจะเป็นเสมือนระเบิดเวลาลูกต่อไปที่รอการประทุขึ้นในเวลาอันใกล้ถ้าผลกระทบของการระบาดของโรคทอดระยะเวลายาวออกไปเรื่อย ๆ

ถ้าจะถามว่า แล้วมาตรการทางการคลังอะไรที่ขาดหายไปที่จะมีความจำเป็นต่อการฟื้นฟู หรือกระตุ้นเศรษฐกิจนอกเหนือจากมาตรการที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่ได้กล่าวถึงข้างต้น ตัวอย่างเช่น มาตรการในการยกระดับหรือฟื้นฟูสภาพแวดล้อมในประเทศให้ดีขึ้น ให้มีความสมบูรณ์มากขึ้น ส่งเสริมกระบวนการนำกลับมาใช้ซ้ำ (Recycle) ทำให้บ้านเมืองสะอาด เป็นระเบียบมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทางด้านสิ่งแวดล้อมภายในประเทศได้ หรือในพื้นที่เขตเมือง ก็อาจจะมีโครงการรับซื้อขยะเศษอาหารเพื่อนำมาแปรรูปสร้างมูลค่า ในขณะที่ครัวเรือนซึ่งปกติก็ทิ้งเศษขยะอาหารไปอย่างเปล่าประโยชน์ เป็นภาระในการจัดเก็บและกำจัด (ซึ่งมีต้นทุน) ก็อาจจะมีรายได้เล็ก ๆ น้อย ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาบ้าง (หรือสำหรับครัวเรือนที่ยากจนมาก ๆ ก็อาจจะเก็บรวบรวมขยะเศษอาหารมาขายเพื่อสร้างรายได้ประทังชีวิตไปได้) ในแง่ของภาครัฐ สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการแปรรูปขยะเศษอาหาร ลดภาระในการจัดเก็บ และเกิดประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์จากอาหารที่ถูกผลิตขึ้นในประเทศได้ด้วย หรือแม้แต่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนน จะพร้อมใจกันเพิ่มความใส่ใจมากขึ้นกับกฎจราจรเพื่อลดจำนวนอุบัติเหตุที่จะก่อให้เกิดความสูญเสียทั้งต่อชีวิตและทรัพย์สินลง ก็จะมีส่วนไม่น้อยในการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจโดยที่ไม่ต้องรอเฉพาะภาครัฐมา "กระตุ้น" นอกจากนี้ ยังสามารถขยายขอบเขตของประเภทของมาตรการไปถึงการสนับสนุนการผลิตและใช้พลังงานไฟฟ้าจากพลังงานทางเลือก ซึ่งจะเป็นประโยชน์และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานของประเทศจากการเลือกประเภทของพลังงานที่สอดคล้องกับการใช้งานและต้นทุนของพลังงาน

ดังนั้น จะเห็นได้ว่ามาตรการทางการคลังที่ดูเหมือนจะใช้งบประมาณน้อยกว่า แต่มีประสิทธิภาพสูงอาจจะเป็นมาตรการที่รัฐในฐานะผู้บริหารเศรษฐกิจของประเทศจะใช้ความเป็นผู้นำในการสร้างความร่วมมือร่วมใจ กำหนดแนวทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีทิศทางที่ชัดเจน เป็นที่ยอมรับ เช่น ในกรณีประเทศเยอรมัน ผู้นำประกาศชัดเจนว่า การฟื้นฟูทางเศรษฐกิจของเขาจะเป็นไปแบบ Green recovery และเขาก็ขอความร่วมมือจากประชาชนให้ร่วมกันขับเคลื่อน ที่สำคัญคือ รัฐให้ความมั่นใจว่าประชาชนจะมีความมั่นคงทางด้านรายได้ เพื่อให้ไม่ต้องกังวลกับความเป็นไปได้ในการสูญเสียรายได้ในอนาคต ทำให้ประชาชนในประเทศไม่ตระหนี่ถี่เหนียวจนเกินไปและตัดลดการจับจ่ายใช้สอยลงเพราะไม่มั่นใจรายได้ในอนาคต ในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจสูงอย่างในปัจจุบัน การสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในระบบเศรษฐกิจจึงเป็นปัจจัยที่มีค่าอย่างมาก และมีความสำคัญต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีนัยะสำคัญ เพราะความไม่มั่นใจจะทำให้การขับเคลื่อนมาตรการทางการคลังให้สัมฤทธิ์ผลมีต้นทุนที่สูงขึ้นไปอีกมาก และอาจจะเป็นความสูญเปล่าทางการคลังเมื่อมาตรการที่ดำเนินการไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้