posttoday

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมกับสังคมสูงวัย

08 กันยายน 2563

คมลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ข้อสมมติประการสำคัญของการอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ด้วยทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ คือ มนุษย์ตัดสินใจโดยใช้ “ความมีเหตุมีผล” หากแต่มนุษย์ทั่วไปไม่ได้ใช้เหตุผลในการตัดสินใจทุกครั้ง ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการไปซื้อของจากซุปเปอร์มาร์เก็ตโดยจดรายการของที่ต้องการซื้อไปด้วย ถ้าเราเป็นคนมีเหตุมีผลไม่ว่าเราจะซื้อของตอนหิว หรือซื้อของตอนที่เพิ่งรับประทานอาหารอิ่ม จำนวนรายการของที่ซื้อไม่ควรแตกต่างกัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว เมื่อเราหิว “ความรู้สึกหิว” จะทำให้เราซื้อขนมขบเคี้ยวหรืออาหารอื่น ๆ เพิ่มขึ้นมาโดยไม่ตั้งใจ

เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจึงพยายามอธิบายพฤติกรรมการตัดสินใจของมนุษย์โดยใช้ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์และจิตวิทยามาผสมกันเพราะคนเราตัดสินใจโดยใช้ “อารมณ์” บ่อยครั้ง ทำให้งานวิจัยด้านนี้เป็นที่สนใจ อีกทั้ง Richard H. Thaler นักเศรษฐศาสตร์ชาวอเมริกันก็ได้รับรางวัลโนเบล (Nobel Memorial Prize) สาขาเศรษฐศาสตร์ ด้วยงานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในปี 2560 ด้วย ทำให้หลายประเทศมีความสนใจในการนำความรู้ที่ได้จากสาขานี้มาประยุกต์ใช้เพื่อออกแบบนโยบายที่มีเป้าหมายในการปรับพฤติกรรมของคนให้เป็นไปตามที่ต้องการ เช่น ออมเพิ่มขึ้น รักษาสุขภาพมากขึ้น เป็นต้น

การเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือการมีประชากรสูงวัยในสัดส่วนที่สูงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทย ผลกระทบของสังคมสูงวัยนั้นมีหลากหลายประการด้วยกัน หนึ่งในผลกระทบซึ่งเป็นที่กังวลของรัฐบาลไทยคือ ภาระทางการคลังเพื่อจัดสรรสวัสดิการให้กับผู้สูงวัย อันได้แก่ เบี้ยยังชีพ และบริการทางด้านสาธารณสุข ซึ่งหากประชาชนมีการออมเพื่อการเกษียณ และรักษาสุขภาพตั้งแต่วัยทำงานแล้ว จะส่งผลให้สามารถลดภาระทางการคลังได้

งานวิจัยที่ใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเพื่อส่งเสริมการออม และเพื่อให้ประชาชนดูแลรักษาสุขภาพ จึงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และได้มีการพูดถึงกันอย่างแพร่หลายแล้ว บทความนี้จึงขอยกตัวอย่างงานวิจัยที่เกี่ยวกับการใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเพื่อส่งเสริมสุขภาพของผู้สูงวัยโดยเฉพาะ ซึ่งอ้างอิงจากงานวิจัยในประเทศสหรัฐอเมริกา และงานวิจัยเหล่านี้อยู่ในขั้นการทดลองกับคนกลุ่มเล็กเท่านั้น โดยตัวอย่างงานวิจัย ได้แก่

งานวิจัยที่ต้องการส่งเสริมให้ผู้สูงวัยเดินให้มากขึ้นเพราะการเดินจะส่งผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งพบว่า ข้อความเชิงบวก ดังเช่น “การเดินจะช่วยให้รักษาความยืดหยุ่นของข้อต่อและช่วยชะลอการเกิดโรคกระดูกพรุน” จะทำให้ผู้สูงวัยเดินเพิ่มขึ้นมากกว่าข้อความเชิงลบ (“การไม่เดินจะทำให้สูญเสียความยืดหยุ่นของข้อต่อและช่วยเร่งการเกิดโรคกระดูกพรุน”) ซึ่งหากเป็นคนหนุ่มสาวการใช้ข้อความเชิงบวกหรือเชิงลบให้ผลที่ไม่แตกต่างกัน ซึ่งอาจเนื่องมาจากคนหนุ่มสาวตัดสินใจโดยนึกถึงอนาคต ในขณะที่ผู้สูงวัยจะตัดสินใจโดยคำนึงถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังพบว่า ทั้งคนกลุ่มหนุ่มสาวและผู้สูงวัยมีการตอบสนองเหมือนกันต่อแรงจูงใจซึ่งเป็นเงินที่ตนจะได้รับเมื่อเดินมากขึ้น ในขณะที่กลุ่มผู้สูงวัยมีการตอบสนองมากกว่ากลุ่มหนุ่มสาวหากแรงจูงใจคือเงินที่มอบให้กับการกุศล นอกจากนี้ ผู้สูงวัยยังคงมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนก้าวเดินแม้ว่าจะไม่มีการให้แรงจูงใจแล้วมากกว่าคนหนุ่มสาว ผู้ดำเนินนโยบายอาจปรับใช้งานวิจัยนี้กับผู้สูงวัยไทย โดยเฉพาะเรื่องการใช้แรงจูงใจที่เกี่ยวกับการบริจาคหรือการกุศลซึ่งเหมาะกับบริบทของสังคมไทย นอกจากนี้ หากการปรับพฤติกรรมของคนสูงวัยไทย

เป็นไปแบบถาวร การดำเนินการเพื่อปรับพฤติกรรม เช่น เดินมากขึ้น ลดการทานอาหารรสหวาน ฯลฯ จะช่วยให้เกิดความคุ้มค่าในการใช้งบประมาณมากขึ้น

อีกตัวอย่างหนึ่งได้แก่ การสนับสนุนให้ผู้สูงวัยทำงานอาสาสมัคร เนื่องจากผู้สูงวัยมักมีพฤติกรรมลดการติดต่อสังคม โดยผู้สูงวัยตอนต้นจะยังคงเป็นผู้ติดสังคม ต่อมาจะเป็นคนติดบ้าน และผู้สูงวัยตอนปลายอาจเป็นผู้ติดเตียง จึงควรยืดระยะเวลาให้ผู้สูงวัยติดสังคมให้นานที่สุด ซึ่งงานวิจัยเกี่ยวกับอาสาสมัครในอเมริกานั้นพบว่า อัตราการทำงานอาสาสมัครของผู้สูงวัยต่ำกว่าอัตรานี้ของคนหนุ่มสาว แต่ผู้สูงวัยที่ทำงานอาสาสมัครมีจำนวนเวลาในการทำงานอาสาสมัครมากกว่าคนหนุ่มสาว ซึ่งงานอาสาสมัครนั้นส่งผลบวกต่อร่างกาย จิตใจ และความคิด

งานวิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในเรื่องงานอาสาสมัครนั้นศึกษาเรื่องเกี่ยวกับการออกแบบทางเลือก (เช่น จำนวนชั่วโมง จำนวนเงินที่ได้รับ ฯลฯ) และบรรทัดฐานทางสังคมซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้สูงวัย ประเทศไทยนั้นมีนโยบายที่ส่งเสริมให้ผู้สูงวัยเข้าสังคมเช่นกัน ได้แก่ การจัดตั้งโรงเรียนสำหรับผู้สูงวัยเพื่อให้มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน อย่างไรก็ตาม งานอาสาสมัครสำหรับผู้สูงวัยอาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ส่งเสริมให้ผู้สูงวัยเข้าสังคมและอาจช่วยให้มีรายได้เล็กน้อยซึ่งตัวอย่างของงานอาสาสมัครในปัจจุบันซึ่งมีผู้สูงวัยเข้าร่วม ได้แก่ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งนับเป็นประโยชน์ทั้งกับอสม. ที่ได้ออกไปพบปะช่วยเหลือคน และผู้รับการเยี่ยมเยือนจากอสม.

งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมีข้อจำกัดเรื่องการขยายผล กล่าวคือ แรงจูงใจที่มีผลดีกับคนกลุ่มหนึ่งไม่จำเป็นที่จะได้ผลดีกับคนกลุ่มอื่น ๆ การศึกษาวิจัยเพื่อทำความเข้าใจพฤติกรรมของคนหลากหลายกลุ่มแล้วสร้างตัวเลือกเพื่อให้คนตัดสินใจเลือกตัวเลือกที่ตนต้องการจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะใช้เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเพื่อปรับพฤติกรรมของคนให้เป็นไปในแบบที่พึงประสงค์ อันส่งผลให้ลดภาระทางการคลังอันเนื่องมาจากการเข้าสู่สังคมสูงวัย

เอกสารอ้างอิง

National Academies of Sciences, Engineering, and Medicine, Division of Behavioral and Social Sciences and Education, Board on Behavioral, Cognitive, and Sensory Sciences. 2018. “Behavioral Economics and the Promotion of Health Among Aging Populations: Proceedings of a Workshop—in Brief.” National Academies Press (US). http://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK513365/.