posttoday

สามจังหวัดชายแดนใต้กับโควิด-19

01 กันยายน 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.ศรัณย์ ศานติศาสน์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)www.econ.nida.ac.th; [email protected]

หากพูดถึงการรับมือกับโควิด-19 ประเทศไทยคงเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับการชื่นชมจากต่างชาติ ตัวเลข ณ วันที่ 26 สิงหาคม 2563 ไทยมีผู้ติดเชื้อสะสม 3,403 ราย หายป่วยแล้ว 3,237 ราย รักษาอยู่ในโรงพยาบาล 108 ราย และเสียชีวิต 58 ราย ถ้าดูจำนวนผู้ป่วยตามพื้นที่รักษา ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯและนนทบุรี 1,835 ราย และภาคใต้ 744 ราย แต่หากพิจารณารายจังหวัด กรุงเทพมหานครมีจำนวนผู้ติดเชื้อมากที่สุด 1,548 ราย ยะลา 133 ราย (อันดับที่ 4) ปัตตานี 91 ราย (อันดับที่ 8) และนราธิวาส 38 ราย (อันดับที่ 11)

สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นพื้นที่ซึ่งประสบกับปัญหาความไม่สงบมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ยังมีปัญหาความยากจนและสาธารณสุข ในปี 2561 จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส มีสัดส่วนคนจน (ด้านรายจ่าย) ร้อยละ 39.27, 23.28 และ 30.10 ตามลำดับ ถือว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีรายได้น้อยและสัดส่วนคนจนสูงสุดของประเทศ หากพิจารณาข้อมูลด้านสาธารณสุขไม่ว่าจะเป็นจำนวนแพทย์และเภสัชกร อุปกรณ์ทางการแพทย์ สัดส่วนเตียงคนไข้ต่อจำนวนประชากร สุขภาพมารดาก่อนคลอด หรือความครอบคลุมของการฉีดวัคซีน ยังคงน้อยกว่าภูมิภาคอื่นและค่าเฉลี่ยของประเทศ ทั้งหมดนี้ส่งผลไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมต่อการศึกษาและสุขภาพของคนในพื้นที่

สาเหตุส่วนหนึ่งของการติดโควิด-19 ของคนในสามจังหวัดชายแดนใต้มาจากกลุ่มที่ไปดะวะห์ (การรวมกลุ่มเพื่อเชิญชวนให้มุสลิมฟื้นฟูศาสนาและปรับปรุงการปฏิบัติศาสนกิจของตนเอง) ในประเทศอินโดนีเซียและมาเลเซีย การมีพื้นที่ติดกับชายแดนมาเลเซีย ซึ่งในช่วงของการระบาดมีแรงงานชาวไทยเดินทางกลับเข้าประเทศเป็นจำนวนมากทั้งที่ผ่านด่านอย่างถูกต้องและลักลอบเข้าทางพรมแดนธรรมชาติ และความรอบรู้ด้านสุขภาพ (Health Literacy)

การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสามจังหวัดชายแดนใต้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการประมง อุตสาหกรรมยางพาราและน้ำมันปาล์ม หรือแรงงานไทยในมาเลเซียซึ่งหลายคนเป็นเสาหลักของครอบครัวต้องตกงาน บางคนกลับมาไทยทันแต่บางคนยังติดค้างอยู่ในมาเลเซียภายหลังการล็อคดาว์นของประเทศเพื่อนบ้าน ชีวิตความเป็นอยู่เป็นอีกส่วนที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องด้วยประชาชนส่วนใหญ่ในสามจังหวัดชายแดนใต้นับถือศาสนาอิสลาม ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิต การระบาดของโควิดได้ส่งผลต่อการสลาม (การทักทายด้วยการสัมผัสมือ) การไปละหมาดที่มัสยิด การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน หรือการไปฟังบรรยายทางศาสนา

ถึงแม้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) การล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ หรือมาตรการอื่น ๆ ที่หน่วยงานรัฐและองค์กรที่เกี่ยวข้องได้นำมาใช้จะเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง แต่การแก้ปัญหาในเรื่องโรคระบาด การฉีดวัคซีน หรือการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ มีมิติทางด้านศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรมที่ไม่ควรถูกมองข้าม โดยมีงานวิจัยในหลายประเทศทั้งในทวีปแอฟริกาและเอเชียที่ระบุว่า วัฒนธรรมประเพณีส่งผลต่อการเข้าใช้บริการทางด้านสาธารณสุขหรือสุขภาพ เช่น ในกรณีของประเทศลาว บางชนเผ่าในพื้นที่ห่างไกลจะไม่ไปใช้บริการตรวจสุขภาพมารดาก่อนการคลอด หรือการกินบุญ (การกินเลี้ยงในงานทำบุญ) ในบางพื้นที่ซึ่งมักเลี้ยงกันด้วยอาหารที่มีไขมันและคลอเรสเตอรอลสูง บางคนไปกินบุญแทบจะทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละสามถึงสี่ครั้ง ก็อาจจะส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว

สำหรับมาตรการป้องกันการระบาดของโควิด-19 ถึงแม้จะได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่ แต่ก็น่าเป็นห่วงที่บางกลุ่มยังมีความเข้าใจที่ไม่ถูกต้อง จึงไม่ค่อยให้ความร่วมมือกับมาตรการต่าง ๆ นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องมองไปข้างหน้า คือ หากมีการค้นพบวัคซีนสำหรับป้องกันโควิด ประชาชนในพื้นที่จะให้ความร่วมมือเข้ารับการฉีดมากน้อยเพียงใด เพราะยังมีความเข้าใจที่ผิดว่าวัคซีนเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามหลักการของศาสนา ซึ่งหากคนกลุ่มนี้มีมาก ก็จะทำให้การทำงานของวัคซีนในการป้องกันการติดเชื้อในสามจังหวัดชายแดนใต้ไม่เป็นผลอย่างที่ควร

อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยพบเช่นกันว่า การเข้าถึงและความถี่ในการรับสื่อประเภทต่าง ๆ สามารถช่วยสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง เป็นช่องทางหนึ่งในการส่งเสริมความรอบรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งในปัจจุบันนอกจากการรับข่าวสารจากวิทยุ โทรทัศน์ หรือสิ่งพิมพ์แล้ว สื่อออนไลน์และ Infographic ยังสามารถมีบทบาทตรงจุดนี้ โดยเฉพาะกับเยาวชนคนรุ่นใหม่พฤติกรรมหรือความเข้าใจที่กล่าวมาไม่ใช่ว่าจะเปลี่ยนไม่ได้ แต่ต้องใช้เวลาในการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ หรือองค์กรและผู้นำศาสนา ซึ่งผมเชื่อมั่นว่าด้วยความตั้งใจที่ดีและความเข้าอกเข้าใจพี่น้องประชาชนในพื้นที่ เราสามารถทำได้ครับ