posttoday

การแพทย์แม่นยำเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรและการดูแลสุขภาพของคนไทย

18 สิงหาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.นิรมล อริยอาภากมล, ผศ.ดร.ทัศนีย์ สติมานนท์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

Precision medicine หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า การแพทย์แม่นยำหรือ “เวชกรรมตรงเหตุ” เริ่มเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายเมื่อไม่นานมานี้ หากจะพูดให้เข้าใจง่าย ๆ การแพทย์แม่นยำ หมายถึง การรักษาที่เฉพาะเจาะจงที่มีการออกแบบการรักษาให้เหมาะสมแก่คนแต่ละคนโดยคำนึงถึงความแตกต่างของยีน สิ่งแวดล้อมและลักษณะการใช้ชีวิตของแต่ละคน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของการรักษาที่ดีที่สุด ไม่ใช่การรักษาตามรูปแบบเดียวกัน (One-size-fits-all) ทุกคน นอกจากการรักษาแล้ว การแพทย์แม่นยำยังสามารถนำไปใช้ในการป้องกันการเกิดโรค รวมไปถึงการส่งเสริมสุขภาพให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

ในประเทศไทยเองได้มีการใช้การแพทย์แม่นยำในหลายด้าน เช่น การตรวจสอบพันธุกรรมเพื่อให้ยารักษาให้เกิดประสิทธิภาพสูงที่สุด (ปรับขนาดยาให้เหมาะสมหรือป้องกันการแพ้ยาต่าง ๆ ของแต่ละบุคคล) การตรวจเลือดแม่เพื่อประเมินความเสี่ยงของลูกในครรภ์ที่จะมีกลุ่มอาการดาวน์ซินโดรม การตรวจหาความเสี่ยงที่จะเกิดโรค เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด (เพื่อหาทางป้องกันโดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต) โรคมะเร็งที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ รวมไปถึงการรักษามะเร็งบางชนิดที่การบำบัดทางเคมีใช้ไม่ได้ผลหรือก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง การรักษามะเร็งแบบใหม่นี้ จะมีการตรวจ DNA จากก้อนมะเร็ง เพื่อใช้พยากรณ์ว่าผู้ป่วยแต่ละคนจะตอบสนองต่อยาใด ซึ่งจะทำให้สามารถรักษาผู้ป่วยแต่ละรายได้อย่างเหมาะสมที่สุด

อย่างไรก็ดี การเข้าถึงบริการการแพทย์แม่นยำข้างต้นอาจยังไม่เป็นวงกว้างนัก โดยประชาชนที่มีสิทธิบัตรหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) และผู้มีสิทธิประกันสังคมสามารถใช้บริการการแพทย์แม่นยำได้เฉพาะการตรวจหาปัจจัยทางพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแพ้ยาเท่านั้น เช่น (1) การตรวจการแพ้ยากันชักในบางกลุ่มที่อาจก่อให้เกิดภาวะข้างเคียงที่รุนแรงจนอาจถึงแก่ชีวิต หากตรวจพบว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการแพ้ยาบางตัว แพทย์สามารถสั่งยาอื่นให้ผู้ป่วยได้ (2) การตรวจอาการแพ้ยาแก้ปวดระบมรากประสาทฟัน เป็นต้น

และสำหรับผู้ที่มีสิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของข้าราชการ สามารถเข้าถึงอีก 2 บริการได้ คือ การตรวจโรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมอย่างแน่นอนหรือโรคที่มีโอกาสถ่ายทอดทางพันธุกรรม รวมถึงโรคมะเร็งสำหรับการวินิจฉัยและการใช้ขนาดยาที่เหมาะสมในการรักษา อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่าการเข้าถึงการแพทย์แม่นยำอื่น ๆ นั้น ยังอยู่ในวงจำกัด เนื่องจากบริการเหล่านี้ยังมีราคาสูงและไม่สามารถเบิกจ่ายจากสิทธิการรักษาพยาบาลต่าง ๆ ได้ ดังนั้น ในปัจจุบันนี้จึงอาจมีคนจำนวนน้อยที่ฐานะดีเท่านั้นที่สามารถได้ประโยชน์จากการแพทย์แม่นยำอย่างเต็มที่

หากมองในภาพรวมถึงความเชื่อมโยงของการแพทย์แม่นยำกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ คาดว่า การแพทย์แม่นยำจะมีส่วนสำคัญในการช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรของไทยซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม New S-Curve ที่มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เพราะนอกจากการแพทย์แม่นยำจะใช้วิทยาการความรู้ทางการแพทย์แล้ว ยังมีการผนวกเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยอีกด้วย เช่น การสวมใส่อุปกรณ์หรือเซ็นเซอร์ (Wearable devices) ตามร่างกายเพื่อวัดสัญญาณทั่วไป และติดตามการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของเส้นประสาท กล้ามเนื้อ และหัวใจ เพื่อเป็นประโยชน์ในการคาดคะเนการเกิดของโรค การใช้ข้อมูลภาพ (Images data) เพื่อเฝ้าระวังโรคต่าง ๆ และยังรวมไปถึงการใช้หุ่นยนต์ผ่าตัดที่ต้องมีการใช้เทคโนโลยี AI วางแผนร่วมกับการใช้ข้อมูลภาพด้วย

นอกจากนี้แล้ว การแพทย์แม่นยำน่าจะมีส่วนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามอีกด้วย เพราะเป็นการใช้วิทยาการเพื่อป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื่องมาจากการมีสัดส่วนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2564 ไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และนอกจากนี้ ประชากรไทยมีความตระหนักเรื่องการมีอายุยืนอย่างมีสุขภาพดี ดังนั้น การแพทย์แม่นยำในมิติป้องกันการเกิดโรคและส่งเสริมการมีสุขภาพดี จึงน่าจะเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตเป็นอย่างมากในอนาคต

การแพทย์แม่นยำอาจเป็นทางออกของปัญหาภาระทางการคลังในอนาคตอันเนื่องมาจากรัฐต้องใช้เงินจำนวนมากเพื่อรักษาพยาบาลประชาชน แต่เมื่อใช้การแพทย์แม่นยำแล้วเงินที่จ่ายจะมุ่งไปสู่การป้องกันซึ่งมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการรักษา หรือเป็นการรักษาที่มีประสิทธิผล ไม่ต้องทดลองใช้ยาหลายประเภทหรือใช้การรักษาหลายวิธี เพราะการรักษาคนแต่ละคนก็เหมือนกับการเลือกเสื้อผ้าให้เหมาะกับผู้สวมใส่ การรักษาแบบ One-size-fits-all อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล อีกทั้งใช้เงินและเวลาจำนวนมากขึ้นในการรักษา หากแต่เพียงข้อจำกัดอยู่ที่ค่ารักษาที่สูง อย่างไรก็ตาม ไทยควรเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการแพทย์แม่นยำ เนื่องจากต้นทุนจะลดลงเรื่อย ๆ จนค่าบริการอาจไม่ได้ไกลเกินเอื้อมในอนาคต ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ ในปี 1990 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ 1 คน ใช้เวลา 12-13 ปี ด้วยเงินทุน 3,000 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณหนึ่งแสนล้านบาท แต่ปัจจุบันสามารถถอดรหัสพันธุกรรมของ 1 คนโดยใช้เวลาเพียงเดือนเดียว โดยมีค่าใช้จ่ายเพียงหลักหมื่น ซึ่งทำให้คาดการณ์ว่าในอนาคตเทคโนโลยีนี้จะถูกลงเรื่อย ๆ อีกทั้งไม่จำเป็นที่จะต้องถอดรหัสพันธุกรรมทั้งหมด สามารถเลือกถอดรหัสเพียงบางส่วนได้เพื่อตรวจหาความเสี่ยงหรือโรคที่สงสัย ซึ่งจะทำให้ยิ่งประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น ซึ่งไทยควรมีการเตรียมความพร้อม เช่น การพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ นักวิจัย และห้องปฏิบัติการเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรและดูแลสุขภาพของคนไทยในอนาคต ... นอกจากจะช่วยประหยัดงบประมาณแล้ว ยังอาจเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ของประเทศไทยในการให้บริการทางการแพทย์ในอนาคต

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์สำหรับประเทศไทย เป็นลิขสิทธิ์ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ซึ่งทีมที่ปรึกษาของศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้รับอนุญาตให้ใช้ข้อมูลของโครงการศึกษานี้เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย