posttoday

อีกทางเลือกหนึ่งของพลังงานในอนาคต

13 สิงหาคม 2563

คอลัมน์ Healthy Wealthโดย...เสาวลักษณ์ คำวิลัยศักดิ์ บลจ.เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน)

ปัจจุบันทั่วโลกกำลังเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้น ไม่เพียงแต่ทำลายสภาวะแวดล้อม แต่ยังก่อให้เกิดภัยธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ของโลก สุขภาพของประชาชน และมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงมีความพยายามที่จะช่วยกันรักษาสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ ลดมลพิษ และหันไปใช้พลังงานทางเลือก เพื่อที่จะลดหรือเลิกใช้พลังงานแบบเก่าจากแหล่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใช้แล้วหมดไป ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม หันมาหาแหล่งพลังงานที่มีคุณภาพดี สะอาด และประหยัด มีความยั่งยืนใช้แล้วไม่หมดไป และที่สำคัญคือกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด หนึ่งในนั่น คือ พลังงานหมุนเวียน

พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เป็นประเภทหนึ่งของพลังงานทดแทน ได้มาจากแหล่งที่สามารถผลิตหรือก่อกำเนิดขึ้นเองตามธรรมชาติ สามารถนำมาใช้โดยไม่มีวันหมด หรือสามารถสร้างทดแทนได้ในช่วงเวลาสั้นๆ พลังงานหมุนเวียนมักเป็นพลังงานสะอาด และไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม พลังงานคลื่น พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังงานเคมีจากไฮโดรเจน พลังงานชีวมวล พลังงานชีวภาพ พลังงานไบโอดีเซล พลังงานเอทานอล เป็นต้น

ปัจจุบันรัฐบาลหลายประเทศต่างให้ความสำคัญอย่างจริงจังกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และร่วมกันพิจารณาหาแนวทางแก้ไข กว่า 180 ประเทศต่างๆ ทั่วโลกและประเทศไทยร่วมลงนามในข้อตกลงปารีสว่าด้วยโลกร้อน (Paris Agreement) รักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสนับสนุนการพัฒนาที่ช่วยลดโลกร้อน โดยข้อมูลของเอมเบอร์กลุ่มคลังสมองอิสระที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า ในปี 2562 การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์ เพิ่มขึ้น 270 เทราวัตต์ชั่วโมง หรือ 15% ซึ่งจำเป็นต้องรักษาอัตราการเติบโตในระดับนี้ให้ได้ทุกปี เพื่อบรรลุเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลกที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสว่าด้วยโลกร้อน

นอกจากนี้ สำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ (ไออีเอ) รายงานว่า ปี 2562 การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตไฟฟ้าทั่วโลกไม่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนจากใช้ถ่านหินไปเป็นก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้วลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง แนวโน้มการพัฒนาธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีเม็ดเงินจำนวนมากเข้าลงทุนในพลังงานหมุนเวียน มีการศึกษาว่าประเทศพัฒนาแล้วต้องใช้เงินลงทุนถึง 11 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้าเพื่อจะพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ในส่วนของประเทศไทย รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนมากขึ้น โดยการใช้พลังงานหมุนเวียนและการใช้พลังงานหมุนเวียนดั้งเดิม คิดเป็น 10.1% และ 6.7% ของการใช้พลังงานทั้งหมด ตามลำดับ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนจากรัฐบาลทั่วโลก ทำให้บริษัทพลังงานหลายแห่งพยายามเพิ่มการลงทุนเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนมีทางเลือกที่จะได้ลงทุนในธุรกิจพลังงานแห่งอนาคต ที่เชื่อว่าจะสร้างมูลค่าอย่างมหาศาลต่อการลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทพลังงานหมุนเวียน

อาจกล่าวได้ว่า นักลงทุนที่เลือกลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนทั้งพลังงานทางเลือกและพลังานหมุนเวียน เป็นการลงทุนแบบยั่งยืน (ESG) ที่คำนึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมมาภิบาล (Governance) เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาวอย่างยั่งยืน ดังนั้น บริษัทที่จะเข้าลงทุนจึงไม่ได้กระจุกตัวที่กลุ่มพลังงานเพียงอย่างเดียว แต่ครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะลดมลพิษ เช่น อุตสาหกรรมที่เพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนและอุตสาหกรรมขนส่งขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ตัวอย่างบริษัท ได้แก่ บริษัทผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างที่ช่วยประหยัดพลังงานและระบายความร้อน บริษัทผู้ผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยระบบเครือข่ายอัจฉริยะและยานพาหนะขนส่งอื่นๆ บริษัทผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์สำหรับยานยนต์ เป็นต้น

นักลงทุนสามารถเป็นเจ้าของกิจการธุรกิจพลังงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้องผ่านการลงทุนในหุ้นสามัญ ซึ่งต้องศึกษาและทำความเข้าใจในธุรกิจ ทั้งแนวทางการบริหารจัดการ การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงปัจจัยพื้นฐานต่างๆ และงบการเงินของบริษัท นอกจากนี้ การดำเนินธุรกิจของบริษัทพลังงานหมุนเวียนมีปัจจัยเสี่ยงที่กระทบต่อประสิทธิภาพและความเสถียรของการผลิต เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ กล่าวคือ เมื่อใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์จะทำอย่างไรในฤดูฝนที่ไม่มีแสงแดด หรือพลังงานลมจะควบคุมทิศทางลมอย่างไร เป็นต้น นอกจากการลงทุนโดยตรงในหุ้นสามัญ ยังมีการลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นที่เน้นการลงทุนในกลุ่มธุรกิจพลังงานหมุนเวียนและธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยลงทุนผ่านบริษัทจัดการกองทุนที่มีความชำนาญและประสบการณ์ในการลงทุน ขอคำแนะนำจากผู้แนะนำการลงทุน และต้องอ่านหนังสือชี้ชวนที่จะลงทุนทุกครั้ง หากลงทุนในต่างประเทศต้องรู้ว่ากองทุนไปลงทุนในสกุลเงินใดและแนวทางการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนของกองทุน นักลงทุนควรเข้าใจลักษณะและความเสี่ยงของกองทุนก่อนที่จะตัดสินใจลงทุน