posttoday

ศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย

11 สิงหาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคล คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)www.econ.nida.ac.th, [email protected]

ความเดิมจากตอนที่แล้ว ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) ได้ร่วมมือกับศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในการพัฒนาดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ขึ้น จากในบทความ เราได้เห็นแล้วว่า อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์มีความสำคัญต่อประเทศไทยไม่น้อยที่เดียว (มูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมนี้ร้อยละ 3.54 ต่อจีดีพี ในปี 2560) และยังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว (อัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.2 ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2556-2560) เรียกได้ว่า เป็นอุตสากรรมที่ต้องจับตามองมาก ๆ เลยทีเดียว

เมื่อรู้ว่าสำคัญแล้ว คำถามต่อไปคือรัฐควรจะส่งเสริมอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ให้เป็นอุตสาหกรรมดาวเด่นที่ใช้ขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคตหรือไม่? ประเทศไทยเราจะไปแข่งกับประเทศยักษ์ใหญ่อื่น ๆ อย่าง อเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ หรือถ้าใกล้ตัวหน่อยก็ประเทศเกาหลีใต้ ได้หรือไม่? ซึ่งประเทศเหล่านี้ เขามีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้มายาวนานก่อนเรา แล้วอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของไทยต้องการอะไรกันแน่ในการที่จะสามารถขึ้นไปแข่งขันในเวทีระดับโลกได้

เพื่อที่จะตอบคำถามเหล่านี้ เราจึงต้องทำงานกันต่อโดยการสร้างดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันของอุตสากรรมชีววิทยาศาสตร์ขึ้นมา เพื่อที่เราจะแยกส่วนประสมของการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ออกมาดูว่า ในแต่ละองค์ประกอบ เรามีการพัฒนาในแต่ละปีอย่างไร จุดไหนคือจุดแข็ง และจุดไหนที่ยังต้องมีการส่งเสริมให้ดีขึ้น นอกจากนี้ เรายังสามารถใช้ดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันฯในการเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งอื่น ๆ ได้อีกด้วยการแข่งขันในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เราจะต้องคำนึงถึงองค์ประกอบอะไรกันบ้างละ จากการศึกษาวรรณกรรมพร้อมกับการพูดคุยกับผู้รู้และบุคคลสำคัญที่ทำงานในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์หลากหลายท่าน สรุปได้ว่ามี 6 ปัจจัยสำคัญที่เราต้องพิจารณา ต่อไปนี้

1. มูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมต่อจีดีพี ปัจจัยนี้จะบอกขนาดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทยว่าใหญ่เล็กแค่ไหน เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศนี้มากน้อยเพียงใด ซึ่งขนาดของอุตสาหกรรมจะช่วยในเรื่องของการประหยัดต่อขนาดและช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันได้

2. การลงทุน ปัจจัยนี้รวมมูลค่าที่บริษัทหรือองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ได้ใช้จ่ายไปในสินทรัพย์ทุนเพื่อจะได้ผลตอบแทนในอนาคต เช่น การสร้างห้องแลปเพื่อการทดลอง เป็นต้น การลงทุนขนาดใหญ่มากจะทำให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

3. การส่งออก หมายถึงมูลค่าสินค้าในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ที่ผลิต ในประเทศแต่ส่งไปให้คนในต่างประเทศใช้ และนับรวมมูลค่าบริการในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ที่คนต่างชาติเข้ามาใช้บริการภายในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่มาก เป็นเครื่องแสดงขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาตินั่นเอง

4. แรงงาน ซึ่งคำนึงถึงทั้งในมิติของผู้ที่สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่ใช้รองรับอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์และปริมาณการจ้างงานของอุตสาหกรรมนี้ จำนวนและคุณภาพของแรงงานที่พร้อมที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเป็นตัวแปรสำคัญในการส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลก

5. ค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนาของทั้งภาครัฐและเอกชน และการถ่ายทอดเทคโนโลยี หรือพูดง่ายๆก็คือการลงทุนในองค์ความรู้วิชาการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมชีววิทยศาสตร์อย่างยั่งยืน

6. จำนวนการยื่นจดสิทธิบัตร เป็นปัจจัยที่ชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของการวิจัยและพัฒนาของประเทศไทยว่านำมาซึ่งนวัตกรรมมากน้อยแค่ไหน เทคโนโลยีที่เราสร้างเองจะนำมาซึ่งอำนาจผูกขาดและรายได้สู่ประเทศ

ศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย

เมื่อนำข้อมูลเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันมาคำนวณดัชนีชี้วัดศักยภาพการแข่งขันฯ พบว่า อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ในปี 2559 และ เติบโตต่ออีกร้อยละ 6.77 ในปี 2560 โดยถ้าเรามองในกลุ่มอุตสาหกรรมย่อยภายในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ เราจะเห็นว่าอุตสาหกรรมชีววัตถุ (ยาชีววัตถุกับวัคซีน) เติบโตอ่อน ๆ ระหว่างร้อยละ 0.34-2.91 ในช่วงปีเดียวกัน ส่วนอุตสาหกรรมการแพทย์แม่นยำ (การรักษาโดยการตรวจความผิดปกติของดีเอ็นเอ) มีความผันผวนในอัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ร้อยละ 12.71 ในปี 2559 แต่หดตัวลงถึงร้อยละ 5.23 ในปี 2560

โดยรวมอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์เป็นอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโต แต่จะสามารถเป็นอุตสาหกรรมสำคัญที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทยได้ในอนาคตและแข่งขันในตลาดโลกได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับความสนับสนุนของภาครัฐที่ถูกจุด และส่งเสริมในปัจจัยที่ยังขาดแคลน ซึ่งควรจะส่งเสริมจุดไหนหรือปัจจัยใดนั้น ขอเชิญชวนรับฟังรายละเอียดได้ในงานสัมมนา “การพัฒนาดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์สำหรับประเทศไทย (ระยะที่หนึ่ง)” วันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2563 เวลา 9.30 – 12.00 น. จัดโดยศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) เป็นการสัมมนาแบบออนไลน์ ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนทางโทรศัพท์ 02-727-3804-5 หรือทางเฟสบุ๊ก NIDA Consulting เพื่อรับลิงก์เข้าร่วมงานสัมมนา

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์สำหรับประเทศไทย เป็นลิขสิทธิ์ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ซึ่งทีมที่ปรึกษาของศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้รับอนุญาตให้ใช้ข้อมูลของโครงการศึกษานี้เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย