posttoday

ถ้าเราจะก้าวข้ามวลีที่กล่าวหากันว่า "ช่วยเจ้าสัว" เงินน่าจะถึงมือ SME ดีขึ้นไหม

10 สิงหาคม 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ตอนที่ 32/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

บทความของผู้เขียนวันนี้ต้องเรียนว่า คิดหลายรอบ ใจหนึ่งก็กลัวทัวร์ลง อีกใจหนึ่งก็มองว่ามันคือการลองเสนอแบบนอกกรอบ แต่เมื่อตัดสินใจเอาความเดือดร้อนของคนค้าขายที่รอเงินสดมาหมุนเวียนแบบปลาหมอติดในดินที่กำลังจะแห้งผากและแหล่งน้ำบ่อน้อยก็ยังไม่มาเพราะประตูน้ำที่เขื่อนใหญ่ห้าพันล้านบาทยังหากุญแจประตูน้ำมาเปิดอยู่เวลานี้ ข้อมูลที่ผู้เขียนขอยกมาและให้เครดิตกับสถาบันแห่งนี้คือ

1. ข่าวที่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) ระบุหนี้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) อยู่ในโปรแกรมพักชำระหนี้กว่า 5.45 แสนล้านบาท เป็นลูกหนี้จัดชั้น Stage2 หรือหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special Mention : SM) ก่อนที่จะรับผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งกลุ่มนี้ยังมีความยากลำบากในระยะต่อไปเหนื่อย ซึ่งต้องติดตามใกล้ชิดว่าจะเป็นจะเป็นหนี้เสียหรือไม่ เหตุเพราะในจำนวนนี้ มีทั้งรายที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และรายที่ไม่ได้รับผลกระทบ และหวังใจว่ารายที่ไม่รับกระทบจากโควิด-19 จะกลับมา

2. ข่าวจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ครั้งล่าสุด ได้ส่งสัญญาณเร่งให้สถาบันการเงินรีบดำเนินการเชิงรุกในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้รายย่อยและภาคธุรกิจโดยพิจารณาจากความสอดคล้องกับกระแสรายได้ในบริบทใหม่ หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์ใหม่ โควิด-19 มีแนวโน้มคลี่คลายดีขึ้นในประเทศไทย และยังมีเรื่องการเร่งใส่สภาพคล่องให้กับธุรกิจและกิจการต่างๆตามเป้าหมายของนโยบาย ภาษาชาวบ้านคือ เงินสดถึงมือคนที่กำลังจะหมดแรงในการหมุนเงินเวลานี้ เพราะระยะเวลาการแช่แข็งหนี้หรือ Debt payment holiday กำลังจะหมดและจบสิ้นในเดือนกันยายนนี้ (สำหรับสถาบันการเงินที่ไม่ได้ขยายโครงการถึงต้นปี 2564) ซึ่งเป็นความท้าทายมาก

3. มาตรการร่วมใจ พี่ใหญ่ช่วยน้องๆ ตัวจิ๋ว ท่านผู้บริหารสถาบันวิจัยกล่าวได้อย่างน่าคิดว่าในประเทศยังมีสภาพคล่อง และถ้าคนยังต้องกินต้องใช้ หากสามารถกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศได้ ก็จะดี และธุรกิจรายใหญ่ถ้าเข้ามาช่วยธุรกิจรายย่อย โดยเฉพาะการจ่ายเงินสดทันที เมื่อได้รับสินค้าจากรายย่อยขึ้นหิ้งขายหรือเมื่อส่งของถึงโกดังรอกระจายสินค้าเหตุเพราะหากธุรกิจรายใหญ่มีศักยภาพในการขอวงเงินกับธนาคารได้ดีกว่ามาก

คำกล่าวที่น่าคิดคือ "ถ้าเริ่มจากผู้ประกอบการรายใหญ่ช่วยเหลือระหว่างซัพพลายเช่นกัน เช่น กลุ่มเซ็นทรัล กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ และอีกหลายกลุ่มในหอการค้า ถ้ารายใหญ่รับสินค้าแล้ว จ่ายเงินสดให้ซัพพลายเชนทันที อาจจะหักเงิน 2% (ภาษาบัญชีคือส่วนลดเงินสด) โดยไม่ต้องมีเทอม 120 หรือ 180 วัน ทำแบบนี้ รายย่อยจะรอดได้... " เพราะไม่ต้องรอเช็คค่าขายของ ได้เงินมาหมุนเร็วขึ้น

กลไกแบบนี้น่าคิดนะครับ เพราะเจ้าหนี้การค้าของธุรกิจขนาดใหญ่คือคนตัวเล็กตัวน้อย ถ้าเงินสดถูกอัดฉีดเข้าไปตรงกลางแบบไม่ต้องรอวันที่ 120, 180 หลังการส่งมอบของ แต่ได้เงินเลยไม่เกิน 3วัน หลังการส่งของ เงินมาจากไหน ผู้เขียนคิดว่าก็ให้สถาบันการเงินปล่อยกู้ Soft loan ให้รายใหญ่ แล้วคุมการกระจายเงินผ่านระบบ Business cash management หรือการจ่ายเช็ค การโอนเงิน เพราะกิจการรายใหญ่มีระบบบัญชีเจ้าหนี้รายย่อยที่ต้องจ่ายอยู่แล้ว คนที่กำกับดูแลก็เข้ามาตรวจสอบการจัดสรรและการกระจายเงินผ่านข้อมูลได้ตลอดเวลา

สิ่งที่ต้องทนคือ จะมีมนุษย์พันธุ์แซะ พันธุ์ที่หาเรื่องมาบอกว่า ธุรกิจขนาดใหญ่ได้กำไรจากส่วนต่างของดอกเบี้ยเงินกู้บ้างล่ะ วาทะกรรมแบบนี้ก็เหมือนอุ้มเจ้าสัวบ้างล่ะ พวกชอบพูดแต่ไม่รับผิดชอบ ไม่บอกว่าแล้วจะให้ทำอย่างไร พวกที่ปั้นปัญหาในทุกทางออก พวกนักร้องในทุกแห่งหน คือสิ่งที่จะต้องก้าวข้ามให้ได้เพราะถ้ายังติดกันตรงนี้ คนที่เขาค้าขายโดยสุจริตก็จะเหี่ยวแห้งตายลงไป ประเด็นสุดท้าย กลไกส่งผ่านเงินนี้ไม่ต้องให้ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำเงินกู้ให้รายใหญ่ เก็บกำลัง บสย. ไปช่วยตอนรายย่อยต้องกลับมาเร่งขยายตัวเพื่อสร้างรายได้มาจ่ายต้นและดอกเบี้ยในช่วงเวลาต่อไปดีกว่าครับ

ขอชื่นชมผู้บริหารหนุ่มสถาบันนี้นะครับ ถ้าเราคิดแบบเดิมก็ได้คำตอบแบบเดิม ถ้าเราต้องการผลแบบใหม่ ก็ต้องคิดแบบใหม่ มาร่วมกันออกจากกับดักมายาคติทางวาจาของมนุษย์เจ้าปัญหากันเพื่อคนที่มีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจไทยดีกว่าไหมครับ