posttoday

ติดตามมาตรการคลังใหม่ของสหรัฐฯ เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19

10 สิงหาคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 30.90-31.40 นักลงทุนรอติดตามความคืบหน้าการพิจารณาออกมาตรการทางการคลังฉบับใหม่ของสหรัฐฯ เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความเสี่ยงที่ล่าช้าเนื่องจากฝ่ายค้านและรัฐบาลมีความเห็นที่แตกต่างกันมาก

นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงด้านสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่จะกลับมาทบทวนข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 อีกครั้ง ขณะที่สหรัฐฯ เพิ่มความตึงเครียดทางการเมืองต่อจีนด้วยการเตรียมออกกฎระเบียบใหม่สำหรับบริษัทจีนที่ต้องการเข้าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ด้านตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ทางการจีนมีกำหนดประกาศตัวเลขการให้สินเชื่อ ยอดค้าปลีก ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนที่ตลาดรอติดตามพัฒนาการการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังเปิดเมือง ส่วนสหรัฐฯ จะประกาศตัวเลขยอดค้าปลีกในเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของไวรัสรอบที่ 2

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ 30.90 -31.40 โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นสัปดาห์ ทั้งนี้ นักลงทุนมุ่งความสนใจไปยังประเด็นการอนุมัติมาตรการเพิ่มเติมของสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบทางเศรษฐกิจจากโควิด-19 ที่ยังอยู่ในขั้นการเจรจาระหว่างทำเนียบขาวและเดโมแครต ด้านความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนมีความเสี่ยงสูงขึ้นเนื่องจากทั้งสองฝ่ายมีแผนจะทบทวนข้อตกลงการค้าระยะที่ 1 ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ โดยทำเนียบขาวชี้ว่าจีนนำเข้าพลังงานต่ำกว่าข้อตกลงมาก และยังนำเข้าสินค้าเกษตรต่ำกว่าที่ตกลงกับสหรัฐฯ มากด้วย

ด้านการประชุมนโยบายการเงินในวันพุธ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.50% สอดคล้องกับที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ ทำให้มติดังกล่าวไม่ได้ส่งผลต่อเงินบาทมากนัก โดย กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัว จากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองสอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของนานาประเทศทั่วโลก แต่ยังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงของการแพร่ระบาดรอบที่ 2 และคาดว่าจำเป็นต้องเวลาอย่างน้อย 2 ปีกว่าเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับมาเป็นปกติ ทั้งนี้ เงินกลับบาทกลับมาเคลื่อนไหวอ่อนค่าในช่วงปลายสัปดาห์และปิดตลาดที่ 31.15 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักเคลื่อนไหวทรงตัวใกล้เคียงกับระดับเดิมเมื่อสัปดาห์ก่อนหน้า โดยเปิดสัปดาห์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10ปี ปรับตัวลดลงสู่ระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่บริเวณ 0.51% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากความกังวลต่อการเจรจามาตรการสนับสนุนชุดใหม่ที่ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งขั้นตอนยังอยู่ในขั้นการเจรจาระหว่างทำเนียบขาวและเดโมแครต ส่งผลให้ชาวอเมริกันที่ไม่มีงานทำกว่า 25 ล้านคน ขาดรายได้จากเงินสนับสนุนเดิมที่ 600 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์

อย่างไรก็ดีในช่วงท้ายสัปดาห์ นายมนูชิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวว่าข้อตกลงน่าจะผ่านร่างกฎหมายได้ในสัปดาห์นี้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยจากจุดต่ำสุด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ประกาศออกมาไม่สอดคล้องกัน โดยตัวเลขดัชนีอุตสาหกรรมสหรัฐฯ ISM ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนกรกฎาคม มาอยู่ที่ 54.2 ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 51.3 ส่วนตัวเลขอุสาหกรรมบริการโดย ISM เดือนกรกฎาคมขยายตัวสูงสุดตั้งแต่กุมภาพันธ์ 2019 มาอยู่ที่ 58.1 จากระดับ 57.1 ในเดือนก่อนหน้า และดีกว่าที่ตลาดคาดที่ 55.0 เนื่องจากคำสั่งซื้อที่ขยายตัวและกิจกรรมภาคธุรกิจที่ดีขึ้น

ขณะที่ตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชน ADP เพิ่มขึ้นเพียง 167,000 คนในเดือนกรกฎาคม ต่างจากที่ตลาดคาดไว้ถึง 1.2 ล้านคน และสุดท้ายยอดขอรับสวัสดิการผู้ว่างงานเบื้องต้นของสหรัฐฯ ลดลงมาที่ 1.19 ล้านคนในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 1 สิงหาคม ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในช่วงการระบาดของไวรัส และต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 1.42 ล้านคนไปมาก

นอกจากนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมามีผลของการประชุมธนาคารกลางของออสเตรเลียที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.25% เป็นไปตามการคาดการณ์ของตลาด พร้อมกับคงเป้าหมายอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะ 3 ปี ที่ 0.25% เช่นเดียวกับธนาคารกลางอังกฤษที่มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายและขนาดการซื้อสินทรัพย์ พร้อมกับปรับเพิ่มประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหราชอาณาจักรในปีนี้เหลือหดตัว 9.5% ซึ่งเป็นการปรับดีขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนในเดือนพฤษภาคมที่ -14% และคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัว 9% ในปีหน้าและ 3.5% ในปี 2022 ตามลำดับ และสุดท้ายธนาคารกลางอินเดียคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 4% ผิดจากที่ตลาดคาดว่าจะลดดอกเบี้ยลง 25bps

ขณะที่ประเด็นสำคัญในประเทศมีผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยที่มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 0.50% ซึ่งเป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้ โดยคณะกรรมการประเมินว่าเศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมือง สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจของนานาประเทศทั่วโลก แต่ยังต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงของการแพร่ระบาดรอบที่ 2 และคาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปีกว่าเศรษฐกิจจะกลับมาเป็นปกติ และมีการประกาศอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ -0.98%YoY ซึ่งเป็นการติดลบน้อยที่สุดในรอบ 4 เดือน ขณะที่ตลาดคาดไว้ที่ -1.49% ในส่วนของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยเคลื่อนไหวทรงตัว โดยประเด็นที่น่าติดตามต่อจากนี้คือการออกพันธบัตรเพื่อความยั่งยืนของสบน. รวมไปถึงการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) วงเงิน 1 แสนล้านบาทที่จะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่จะกำหนดทิศทางของอัตราผลตอบแทนในระยะข้างหน้า โดย ณ วันที่ 8 สิงหาคม 2563

ติดตามมาตรการคลังใหม่ของสหรัฐฯ เพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19

อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.50% 0.45% 0.55% 0.79% 1.01% และ 1.29% ตามลำดับ กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 3,304 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,104 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,073 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 2,335 ล้านบาท