posttoday

การพัฒนาดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)

04 สิงหาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธนา เศรษฐปราโมทย์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; [email protected]

การพัฒนาดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทยโดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน): ความสำคัญและความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทย

ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปัจจุบัน ซึ่งหลายๆ ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศสหรัฐฯ ยังปวดหัวกับการควบคุมการแพร่กระจาย และศักยภาพของโรงพยาบาลไม่เพียงพอต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยอย่างทั่วถึง ประเทศไทยถือได้ว่า ประสบความสำเร็จทั้งในด้านควบคุมการแพร่ระบาดและการดูแลรักษาผู้ป่วย ซึ่งความสำเร็จนี้สะท้อนถึงความสำคัญและศักยภาพของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของไทยซึ่งครอบคลุมผลิตภัณฑ์และบริการด้านการแพทย์และสุขภาพ ในวันนี้ ผมจะนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับขนาดความสำคัญและความเชื่อมโยงของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ต่อเศรษฐกิจไทยครับ

ในการวิเคราะห์ขนาดความสำคัญและบทบาทของสาขาอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต่อเศรษฐกิจมหภาคโดยรวม การคำนวณมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ถือเป็นมาตรวัดสำคัญ อุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์ของไทยประกอบด้วยสาขากิจกรรมที่สำคัญ 5 สาขาได้แก่ i) ยา (Pharmaceuticals) ii) บริการสุขภาพ (Healthcare) iii) เครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ (Medical Device and Equipment) iv) เครื่องสำอาง (Cosmetics) และ v) การวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีชีวภาพ (R&D in biotechnology and related sciences) ซึ่งผลการคำนวณเบื้องต้นเกี่ยวกับสัดส่วนมูลค่าเพิ่มในสาขาข้างต้นต่อ GDP โดยรวมในปี 2560 และอัตราการเติบโตของมูลค่าเพิ่มระหว่างปี 2557-2560 แสดงได้ดังตารางต่อไปนี้

การพัฒนาดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน)

การวิเคราะห์มูลค่าเพิ่มของสาขาชีววิทยาศาสตร์พบว่า ในปี 2560 มูลค่าเพิ่มรวมทุกสาขาของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ไทยอยู่ที่ 5.5 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 4.2 แสนล้านบาทในปี 2556 โดยคิดเป็นอัตราการเพิ่มเฉลี่ยที่ร้อยละ 7.2 ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2556-2560 ซึ่งสูงกว่าการเพิ่มขึ้นของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศที่เป็นตัวเงินซึ่งรวมผลของการเปลี่ยนแปลงราคา (Nominal GDP) ซึ่งเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 4.6 ในช่วงเดียวกัน ซึ่งแสดงบทบาทของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ต่อจีดีพีของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ เมื่อทียบสัดส่วนต่อจีดีพีของมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ พบว่า สัดส่วนของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ต่อจีดีพีในปี 2560 จะมีขนาดประมาณร้อยละ 3.54 ซึ่งแสดงถึงบทบาทต่อเศรษฐกิจมหภาคโดยรวมในระดับหนึ่ง แม้ว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีใหม่ก็ตาม เมื่อพิจารณารายสาขาหลักต่าง ๆ ของอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์พบว่า สาขาที่เป็นจุดแข็งของไทยในด้านอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์จะประกอบด้วยสาขาบริการสุขภาพ ซึ่งประกอบด้วยโรงพยาบาลและสถานพยาบาลประเภทต่าง ๆ ซึ่งมีมูลค่าเพิ่มคิดเป็น ร้อยละ 2.0 ของจีดีพีโดยรวม

ตามมาด้วยสาขาเครื่องสำอางซึ่งถือเป็นสินค้าที่มีอัตราการเติบโตสูงของไทยและมีศักยภาพในการขยายตลาดทั้งในประเทศและส่งออกในช่วงที่ผ่านมา (มูลค่าเพิ่มคิดเป็น ร้อยละ 0.8 ของจีดีพีโดยรวม) และสาขาเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งมีถุงมือยางเป็นสินค้าออกที่สำคัญของไทยในปีนี้ (มูลค่าเพิ่มคิดเป็น ร้อยละ 0.4 ของจีดีพีโดยรวม) และตามด้วยสาขายา ซึ่งรวมผลิตภัณฑ์ประเภทวัคซีนชนิดต่าง ๆ (มูลค่าเพิ่มคิดเป็น ร้อยละ 0.3 ของจีดีพีโดยรวม)

เมื่อพิจารณาแนวโน้มของแต่ละสาขาหลักพบว่า สาขาเครื่องมีอและอุปกรณ์การแพทย์ มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าเพิ่มสูงที่สุด (เฉลี่ยร้อยละ 9.2 ต่อปี) ตามมาด้วยสาขาบริการการแพทย์ และเครื่องสำอางที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ร้อยละ 7.3 และ 7.2 ตามลำดับ ส่วนมูลค่าเพิ่มในสาขายา แม้จะมีอัตราการเติบโตต่ำกว่าสาขาอื่น ๆ (อัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 5.7) แต่ยังคงมีการเติบโตที่สุงกว่าการเติบโตของจีดีพีโดยรวม นอกจากนี้ อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ยังมีความสำคัญผ่านผลสืบเนื่องทางอ้อมต่อสาขาอื่น ๆ ในระบบเศรษฐกิจรวม โดยค่าตัวทวีคูณซึ่งคำนวณจากตารางปัจจัยการผลิตผลผลิต (IO table) เท่ากับ 1.64 ซึ่งหมายถึงการเพิ่มขึ้นของการผลิตในสาขาอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ 100 บาทจะส่งผลให้สาขาการผลิตอื่น ๆ เพิ่มขึ้นตาม 64 บาท

แม้ว่าอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์จะมีความสำคัญและมีความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามที่กล่าวถึงข้างต้น แต่จุดอ่อนที่สำคัญคือบทบาทด้านการวิจัยและพัฒนายังมีจำกัด เมื่อเทียบกับบทบาทด้านการบริการพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นโจทย์สำคัญของรัฐบาลในการส่งเสริมศักยภาพการวิจัยในสาขาชีววิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่สถานการณ์การเผยแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้กระตุ้นความต้องการสินค้าและนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์ทั้งในด้านของการพัฒนายารักษาและวัคซีนในการป้องกันโรค เครื่องมือ และอุปกรณ์การแพทย์ใหม่ ๆ เพื่อตอบโจทย์การใช้ชีวิตในลักษณะ New-Normal เป็นต้น

นอกจากนี้ ในการวิเคราะห์ความเชื่อมโยงกับภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ พบว่า อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์มีความเชื่อมโยงกับสาขาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตยาและเคมีภัณฑ์ทางการแพทย์ประเภทต่าง ๆ หรือสาขาการค้าส่งและค้าปลีกในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ เช่น เครื่องสำอาง ซึ่งแสดงว่า อุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังมีความเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรม S-Curve สมัยใหม่ที่รัฐบาลให้การสนับสนุน เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือ การจำหน่ายผ่านช่องทางดิจิทัล อย่างจำกัด ซึ่งจุดนี้เป็นโจทย์สำคัญอีกประการหนึ่งในการพัฒนาอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ไทยที่จะส่งเสริมให้เป็นอุตสาหกรรมพื้นฐานของอุตสาหกรรมในยุค 4.0 อื่น ๆ ต่อไปในอนาคต

ท่านที่สนใจรายละเอียดของผลการศึกษาวิจัยนี้ สามารถติดตามได้ในงานสัมมนา “การพัฒนาดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์สำหรับประเทศไทย (ระยะที่หนึ่ง)” วันอังคารที่ 18 สิงหาคม 2563 เวลา 9.30 – 12.00 น. จัดโดยศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) เป็นการสัมมนาแบบออนไลน์ ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนทางโทรศัพท์ 02-727-3804-5 หรือทางเฟสบุ๊ก NIDA Consulting เพื่อรับลิงก์เข้าร่วมงานสัมมนา

หมายเหตุ: บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการพัฒนาดัชนีชี้วัดอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์สำหรับประเทศไทย เป็นลิขสิทธิ์ของศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) ซึ่งทีมที่ปรึกษาของศูนย์บริการวิชาการ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้รับอนุญาตให้ใช้ข้อมูลของโครงการศึกษานี้เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย