posttoday

สร้างโอกาสการลงทุนในตลาดหุ้นที่สวนทางกับตัวเลขเศรษฐกิจ

24 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์ คุยเฟื่องเรื่องลงทุน โดย...ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ปกติแล้วดัชนีตลาดหุ้นมักจะเป็นตัวชี้นำเศรษฐกิจมากกว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ประกาศจะเป็นตัวชี้นำตลาดหุ้น นั่นเป็นเพราะนักลงทุนซื้อหุ้นโดยดูจากผลตอบแทนในอนาคตไม่ใช่ผลตอบแทนในอดีต ดังนั้นราคาหุ้นจึงสะท้อนมุมมองความคาดหวังต่อผลประกอบการในอนาคตซึ่งรวมผลกระทบทางเศรษฐกิจด้วยแล้ว เราจึงได้เห็นดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกลดลงไปทำจุดต่ำสุดในไตรมาส 1 ก่อนที่ตัวเลขเศรษฐกิจและผลประกอบการบริษัทน่าจะถึงจุดต่ำสุดในไตรมาส 2 หรือ 3 ตามหลังตลาดหุ้นมาอีกที

หากมองย้อนกลับไป เราจะพบว่าจุดที่น่าลงทุนที่สุดอาจจะเป็นช่วงไตรมาส 1 ซึ่งเป็นช่วงที่นักลงทุนมีความกังวลเป็นอย่างมาก เพราะไม่มีใครล่วงรู้ถึงความร้ายแรงของโรค Covid-19 ได้แน่นอน ไม่มีใครรู้ว่ามาตรการต่างๆ ที่นำมาใช้จะเอาอยู่หรือไม่ การปิดเมืองจะหยุดยั้งโรคได้ไหม ต้องปิดเมืองไปยาวนานถึงเมื่อไหร่ จะมีบริษัทล้มละลาย คนตกงานจำนวนมาก จนลามเป็นวิกฤติการเงินหรือมีธนาคารล้มเหมือนวิกฤติต้มยำกุ้งหรือไม่ ซึ่งจุดที่น่ากลัวที่สุดนี้ก็ส่งผลกระทบให้กับหลายๆ คนไปเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม “Better late than never” เริ่มลงทุนตอนนี้ก็ยังไม่สาย แม้ว่า valuation ของตลาดในวันนี้จะไม่ถูกเหมือนในเดือนมีนาคมที่ผ่านมา แต่ก็นับว่าไม่ช้าไปเพราะยังมีหลายสัญญาณที่ทำให้มั่นใจได้ว่าตลาดยังคงมีโอกาสปรับตัวขึ้นอีกอยู่พอสมควร หากนักลงทุนมีวินัยและสามารถถือลงทุนได้นานพอ

สัญญาณที่ 1 คือ ยังมีกูรูหรือนักวิเคราะห์ตลาดที่ยังมีความเห็นว่าไม่ควรลงทุนในตลาดหุ้น สิ่งนี้ทำให้ตลาดไม่ฮึกเหิมเกินไปจนอันตรายเพราะยังมีเม็ดเงินลงทุนที่ยังรอโอกาสเข้าลงทุนอยู่ โอกาสที่ตลาดจะลงแรงๆ ก็จะน้อย และหากจุดต่ำสุดของตลาดคือจุดที่ผู้คนมีความกลัวสุดๆ ในจุดสูงสุดของตลาดก็น่าจะเป็นจุดที่คนฮึกเหิมสุดๆ เช่นกัน เลยกลับกลายว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่แย่ๆ ตอนนี้ช่วยให้ไม่เกิดภาวะฮึกเหิมสุดขีด ซึ่งนั่นก็หมายถึงการค่อยๆ ฟื้นตัวของตลาดหุ้นน่าจะยังดำเนินต่อไปได้อีกนาน

สัญญาณที่ 2 การปรับประมาณการฯ เริ่มมีสัญญาณ Bottom out หรือใกล้จุดต่ำสุดเต็มที โดยเห็นได้จากการปรับประมาณการตัวเลขผลประกอบการบริษัทของนักวิเคราะห์เริ่มนิ่งขึ้น หลังจากถูกปรับลงอย่างต่อเนื่องตลอด 3-4 เดือนที่ผ่านมา โดยล่าสุดเริ่มเห็นสัญญาณดังกล่าวในตลาดหุ้นไทยและยุโรป โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ เริ่มมีการปรับขึ้น ซึ่งบ่งบอกว่าอย่างน้อยวิกฤติผลประกอบการในหลาย ประเทศทั่วโลกน่าจะผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้ว สิ่งที่ทุกคนจับตามองตอนนี้ก็คือกลุ่มธนาคาร ซึ่งหากหลังจากประกาศผลไตรมาส 2Q20 แล้ว การปรับลดประมาณการเริ่มนิ่งก็น่าจะเห็นการกลับตัวได้ในอนาคต

และสัญญาณที่ 3 สภาพคล่องที่ล้นเหลือ โดยมองใกล้ตัวอย่างธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ใช้มาตรการด้านสภาพคล่องมาแล้วไม่น้อย ซึ่งเห็นได้จากปริมาณเงิน (broad money supply) พบว่าในช่วงเดือนมี.ค. - พ.ค.หลัง Covid-19 ปริมาณเงินในระบบปรับเพิ่มขึ้นราว 1.6 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของ GDP ซึ่งในอดีตการเพิ่มในระดับนี้ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี ทั้งนี้ เม็ดเงินดังกล่าวก็จะต้องถูกจัดสรรไปยังที่ที่ให้ผลตอบแทนที่ดี และแน่นอนว่าภายใต้ภาวะดอกเบี้ยต่ำแบบนี้ส่วนหนึ่งย่อมไหลมายังตลาดหุ้นด้วย

หากเราเชื่อว่าวันใดวันหนึ่งวิกฤตินี้ต้องจบลง สอดคล้องกับหลายสำนักวิจัยบอกว่าเศรษฐกิจจะกลับไปสู่สภาพเดิม แม้จะต้องใช้เวลาอีก 2 - 3 ปี แต่ถ้าคิดง่ายๆ ว่าหากเศรษฐกิจกลับไปที่เดิมได้ SET Index ก็น่าจะกลับไปที่จุดเดิมที่ประมาณ 1,750 – 1,850 จุดได้เช่นกัน โดยถ้าคิดเป็นผลตอบแทนจากวันนี้ที่ระดับ 1,350 จุด ซึ่งหากทำได้ใน 2 - 3 ปีก็คิดเป็นผลตอบแทนประมาณ 10-15% ต่อปีเลยทีเดียว ยังไม่รวมปันผลอีกประมาณ 3% ต่อปี นับว่าเป็นผลตอบแทนที่ไม่เลวทีเดียว

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้แปลว่าการลงทุนในตลาดหุ้นจะไม่มีความเสี่ยง เพราะหากมองในแง่ความผันผวน (market volatility) ของตลาดหุ้นจะพบว่ามีการปรับตัวสูงขึ้นและยังไม่มีทีท่าว่าความผันผวนจะลดไปอยู่ที่เดิมในช่วงก่อนวิกฤติง่ายๆ ดังนั้นเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนในช่วงนี้ เราต้องเลือกใช้กลยุทธ์ที่จะช่วยให้เราถือลงทุนระยะยาวได้โดยไม่หวั่นไหวไปกับความผันผวนระยะสั้นเสียก่อน นั่นก็คือ การกระจายความเสี่ยง และจัดสรรการลงทุนตามระยะเวลา ซึ่งอาจแบ่งเงินเป็นสองส่วนหลักๆ ประกอบด้วย

ส่วนที่ 1 เงินที่ต้องใช้ในอนาคตอันใกล้ เช่น ถ้าต้องใช้ในอีก 1 - 2 ปีข้างหน้า ก็ควรเลือกการลงทุนที่มั่นคงสูง ผันผวนต่ำ สภาพคล่องสูง เช่น กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น กองทุนตราสารหนี้แบบมีกำหนดเวลาหรือ Term Fund กองทุนตราสารหนี้ที่เน้นตราสารซึ่งมีอายุยาวขึ้น ทั้งนี้ แม้เงินส่วนนี้อาจให้ผลตอบแทนไม่สูงนัก แต่จะช่วยให้เราลดความกังวลต่อส่วนลงทุนระยะยาวได้

และส่วนที่ 2 เงินลงทุนระยะยาว 3 ปีขึ้นไปได้ โดยลงทุนในตลาดหุ้นทั้งในและต่างประเทศ อาจเน้นธีมการลงทุนที่สอดคล้องไปกับการเปลี่ยนแปลงหลัง Covid-19 เช่น กลุ่มบริษัทที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ (Global healthcare) ทั้งผู้ผลิตยา อุปกรณ์การแพทย์ โรงพยาบาล หรือกลุ่มที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี (กลุ่มนี้ส่วนใหญ่ไม่อยู่ในตลาดหุ้นในประเทศ) กลุ่มที่เกี่ยวกับสังคมสูงวัย ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ความต้องการรักษาพยาบาลแต่ยังรวมถึงความสามารถการใช้จ่ายเรื่องคุณภาพชีวิตด้วย นอกจากนี้ ยังอาจแบ่งบางส่วนลงทุนในหุ้นกลุ่มปันผลสูง รวมถึงกลุ่ม REIT และ Infrastructure Fund ด้วยซึ่งมักให้ผลตอบแทนดีช่วงดอกเบี้ยต่ำและมีความผันผวนไม่สูงนัก

ทั้งนี้ ขอให้นักลงทุนทุกท่านคำนึงถึงการจัดสรรพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม กระจายลงทุนไปทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงเลือกธีมการลงทุนที่เข้ากับตัวตนและวัตถุประสงค์ของท่าน สิ่งหนึ่งที่เป็นจริงเสมอก็คือ การลงทุนมีความเสี่ยง แต่หากออมโดยไม่ลงทุนเลยท่านจะแพ้เงินเฟ้ออย่างแน่นอนในระยะยาว