posttoday

ถ้ามีเงินเหลือนำไปจ่ายหนี้หรือลงทุนดีกว่ากัน

23 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว (โพสต์ทูเดย์) โดย...ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ AFPTศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

ถ้าเราอยู่ในวัยทำงานซึ่งมีรายได้จากการทำงานทุก ๆ เดือน เมื่อหักชำระหนี้รายเดือน เช่น ค่างวดผ่อนหนี้บ้าน ผ่อนหนี้รถ หนี้บัตรเครดิต และกันเงินส่วนหนึ่งเก็บออมเตรียมตัวเพื่อวัยเกษียณแล้ว หากสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ ทำให้มีเงินเหลือ หลายคนมักมีคำถามในใจว่า ควรตัดสินใจนำเงินไปชำระหนี้เพิ่มเพื่อให้หนี้หมดเร็วขึ้นหรือควรนำเงินไปลงทุนเพื่อให้เงินงอกเงยแบบไหนดีกว่ากัน จุดตัดสินใจที่ต้องดูคือหนี้ที่ควรชำระก่อนเริ่มลงทุนนั้น มีการคำนวณอัตราดอกเบี้ยแบบใด การนำเงินไปชำระหนี้เพิ่มจะช่วยให้ประหยัดดอกเบี้ยได้มากว่าผลตอบแทนจากการลงทุนหรือไม่ ดังนั้นจึงควรพิจารณาเป็นรายประเภทหนี้ดังนี้

หนี้บัตรเครดิต บัตรกดเงินสดและสินเชื่อส่วนบุคคล

สำหรับผู้ที่เป็นหนี้สินเชื่อบัตรเครดิต บัตรกดเงินสด สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีดอกเบี้ยร้อยละ 16 ถึง 28 หนี้เหล่านี้เป็นหนี้ที่มีการคำนวณดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอก ซึ่งเมื่อผ่อนหนี้ไปแต่ละงวด ยอดหนี้คงค้างลดลง ดอกเบี้ยที่ต้องชำระในแต่ละงวดก็จะลดลงด้วย การเร่งชำระหนี้ประเภทนี้จะทำให้หนี้หมดเร็วขึ้นและประหยัดรายจ่ายดอกเบี้ยได้ค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว เมื่อเทียบกับการนำเงินไปลงทุน ผลตอบแทนที่ได้รับอาจจะไม่ได้สูงเท่ากับดอกเบี้ยที่ต้องเสีย แนะนำว่าเมื่อมีเงินเหลือในแต่ละเดือนควรรีบชำระหนี้เหล่านี้ให้หมดโดยเร็วเป็นลำดับแรก

หนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย

หนี้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยนี้มีการคำนวณดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกเช่นกัน แต่เนื่องจากเป็นหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันจึงทำให้มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่ากลุ่มหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งการโปะหนี้เพิ่มในแต่ละงวดจะทำให้ประหยัดดอกเบี้ยและผ่อนหนี้หมดได้เร็วขึ้นเช่นเดียวกัน ตัวอย่าง มีหนี้กู้ซื้อบ้านจำนวน 2 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 5 ระยะเวลาผ่อนชำระ 30 ปี จะต้องผ่อนงวดละประมาณ 11,000 บาท ซึ่งถ้าชำระมากกว่าเดิมร้อยละ 10 หรือชำระต่องวดเพิ่มขึ้นเป็น 12,100 บาท จะใช้ระยะเวลาเพียง 23 ปี 4 เดือนจะผ่อนหมด ซึ่งเห็นว่าประหยัดเวลาไปได้เกือบ 7 ปี และด้วยหนี้บ้านเป็นหนี้ระยะยาว จึงควรคำนวณระยะเวลาช่วงที่จะผ่อนหนี้หมด โดยควรชำระหนี้ให้หมดก่อนจะถึงอายุที่ตั้งใจจะเกษียณ เนื่องจากหลังเกษียณอาจมีรายได้ประจำลดลงและมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพิ่มมากขึ้น

ดังนั้นหากมีเงินเหลืออาจเลือกแบ่งเงินบางส่วนไปชำระหนี้สินเชื่อบ้านเพิ่มหรืออาจนำเงินไปลงทุนก็ได้ ขึ้นอยู่กับดอกเบี้ยที่ประหยัดได้จากการจ่ายหนี้สินเชื่อบ้านเพิ่มนั้น เมื่อเปรียบเทียบกับผลตอบแทนเฉลี่ยจากการลงทุนที่คาดว่าจะได้รับและสิทธิประโยชน์ทางภาษีของแต่ละบุคคลแล้วแบบใดคุ้มค่ากว่ากัน ซึ่งอาจเลือกลงทุนในกองทุนประเภทที่ได้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม เช่น กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) หรือกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) นอกเหนือจากการลงทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) หรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่เป็นการลงทุนเพื่อการเกษียณขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว โดยเงินที่จะนำไปลงทุนต้องมั่นใจว่าเป็นเงินที่สามารถลงทุนได้ในระยะยาวไม่มีความจำเป็นต้องนำออกมาใช้ระหว่างทาง เนื่องจากเงินลงทุนเพื่อการเกษียณต่าง ๆ ถ้าถอนมาใช้ก่อนครบกำหนดจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

หนี้รถยนต์

สำหรับหนี้รถยนต์นั้นจะมีการคำนวณอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่ ซึ่งหมายความว่าถ้าเราผ่อนชำระหนี้ไปเป็นการชำระค่างวดล่วงหน้า ทำให้ปิดสัญญาได้เร็วขึ้น แต่ดอกเบี้ยที่ต้องเสียก็ยังเท่าเดิมเพราะมีการรวมดอกเบี้ยเข้าไปในยอดผ่อนแล้วตั้งแต่ต้น แต่หากนำเงินก้อนปิดหนี้รถยนต์ทั้งหมด ตามประกาศ สคบ. จะได้ลดดอกเบี้ยร้อยละ 50 ของยอดหนี้คงเหลือ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งถ้ามีเงินเหลือไม่พอปิดยอดหนี้รถทั้งจำนวน อาจไม่จำเป็นต้องรีบโปะหนี้ ให้ผ่อนชำระหนี้รถยนต์ตามปกติและนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ

อีกเรื่องสำคัญที่ลืมไม่ได้เลยคือควรมีเงินสำรองฉุกเฉินไว้เผื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันต่าง ๆ เนื่องจากหากไม่มีเงินสำรอง เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงินก็ต้องไปกู้มาเพื่อใช้จ่ายทำให้ต้องก่อหนี้ เพื่อป้องกันปัญหาเหล่านี้ เมื่อใดก็ตามที่มีเงินเหลือควรเติมเงินสำรองให้เพียงพอก่อน โดยอาจสะสมเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์หรือกองทุนรวมตลาดเงินเป็นจำนวน 3 ถึง 6 เท่า ของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน เช่น มีรายจ่ายต่อเดือนเฉลี่ย 20,000 บาท ควรมีเงินสำรองอยู่ที่ 60,000 ถึง 120,000 บาท

การตัดสินใจด้านการเงินส่วนบุคคลนั้น อาจมีความแตกต่างกันไปตามสถานการณ์ ข้อจำกัดและความเหมาะสมของแต่ละบุคคลนะครับ สำหรับสมาชิก กบข. ที่ต้องการปรึกษาแนวทางการจัดการหนี้หรือแนวทางการลงทุนเพื่อการเกษียณ สามารถนัดหมายศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. ได้ที่ My GPF Application เมนู “นัดหมายบริการข้อมูลการเงิน” หรืออีเมล [email protected]