posttoday

เริ่มทำธุรกิจต้องดูอะไร

22 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...กำพล สุทธิพิเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโสธนาคารกสิกรไทย

หลายคนมาถามผมว่าทำร้านกาแฟดีไหม หรือทำร้านอาหารเล็กๆ บรรยากาศชิวๆ ดี แล้วจะไปรอดไหม นั่นคือคำถามแรกเลย ลองย้อนไปดูจะเห็นว่าร้านกาแฟที่ขายดีมากๆ ก็มี ร้านกาแฟที่เจ๊งไปก็เยอะ ร้านอาหารก็เหมือนกันมีทั้งที่ขายดีและมีทั้งที่ปิดกิจการไป เคยสังเกตไหมว่าร้านอาหารใกล้บ้านเราบางร้าน เราก็ไปนั่งกินโต๊ะเดิม แต่เปลี่ยนชื่อร้าน (เปลี่ยนเจ้าของ) มาแล้วหลายครั้ง

การที่เราจะทำธุรกิจอะไรเราก็ต้องรู้ก่อนว่าธุรกิจนั้นดีหรือไม่ เราเองเข้าใจในธุรกิจนั้นดีน้อยเพียงใด ถ้าผมจะบอกให้ดูตามหลักวิชาการ เช่น ต้องทำ SWOT Analysis คือ ดูจุดอ่อนจุดแข็งของธุรกิจ ดูว่ามีโอกาสทางธุรกิจขนาดไหน ดูว่าจะมีภัยคุกคามจากธุรกิจอื่นๆ หรือไม่ ดูอุปสงค์อุปทานในตลาดขณะนั้น ดูทำเลที่ตั้ง ดูว่าจะมีสินค้ามาทดแทนไหม ดูส่วนแบ่งทางการตลาด ดูว่ามีผู้นำในตลาดกี่ราย ใครเป็นคนกำหนดราคาของตลาด แค่ฟังก็ท้อแล้วครับสำหรับคนที่ไม่ได้จบทางการเงินมา

วันนี้ผมเลยจะไม่เล่าในเชิงวิชาการ แต่จะมีหลักง่ายๆ คร่าวๆ ให้ คือ ถ้าจะเริ่มต้นธุรกิจใหม่ ต้องดูว่าคุณมีตัวช่วยไหม แล้วธุรกิจนั้นจะไปได้ดีหรือไม่ ต้องดูว่าธุรกิจคุณมีมูลค่าเพิ่มต่อตลาดไหม สองคำพอ คือ “มีตัวช่วยไหม” และ “มี มูลค่าเพิ่มไหม”

ธุรกิจที่เพิ่งเริ่มใหม่โอกาสที่จะล้มนั้นง่ายกว่าธุรกิจที่ทำมานานแล้ว ด้วยเหตุผลเดียวคือ เขามีบุญเก่าที่ทำไว้ ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง ฐานลูกค้าเก่า กำไรสะสมที่ทำไว้ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะช่วยประคองธุรกิจให้ไปได้ ดังนั้น ธุรกิจเริ่มใหม่ต้องมีตัวช่วย ยิ่งมีเยอะยิ่งดีครับ เพราะจะทำให้คุณไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์

ถ้าคุณจะเปิดร้านอาหาร คุณมีญาติพี่น้องหรือเพื่อนสนิทที่ทำร้านอาหารอยู่ไหม ถ้ามีคุณก็สามารถไปขอความรู้หรือขอดูงานว่าร้านอาหารปัจจัยสำคัญคืออะไร แม่ครัวใช่ไหม กระบวนการจัดซื้อวัตถุดิบเข้าร้านทำยังไง แม่ครัวออกทำไง ควรมีสำรองไหม เพราะญาติพี่น้องกันก็ย่อมให้ความเห็นหรือให้ประสบการณ์ที่ดีแก่เราจริงๆ ซึ่งสิ่งต่างๆเหล่านี้แหละเป็นตัวช่วยของคุณ ต่างกับธุรกิจที่คุณต้องไปเริ่มต้นลองผิดลองถูกใหม่เองทั้งหมด ซึ่งธุรกิจอาจเจ๊งก่อนที่จะลองเรียนรู้ได้หมด เพราะทุกธุรกิจย่อมมีเคล็ดลับของมันอยู่ ถ้ามีคนที่มีประสบการณ์คอยบอก ก็ย่อมทำให้คุณมีโอกาสรอดมากขึ้น

หรือถ้ามีบ้านอยู่บริเวณมหาวิทยาลัย ที่อยู่ชานเมืองหน่อย คนที่มาเรียนส่วนใหญ่ต้องอยู่หอพัก เพราะไม่สะดวกเดินทาง ถ้าคุณมีบ้านอยู่บริเวณนั้น แล้วนำมาดัดแปลงให้เป็นหอพักนักศึกษา และทำร้านข้างล่างเป็นร้านถ่ายเอกสาร แบบนี้ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นธุรกิจแบบมีตัวช่วยเหมือนกัน เพราะคนอื่นๆ ที่อยากจะทำแบบเดียวกันนั้นต้องจ่ายค่าเช่าที่หรือซื้อทำเลที่ใกล้มหาวิทยาลัย (ซึ่งราคาคงแพง) แต่เรากลับไม่ต้องจ่ายค่าใช้จ่ายเรื่องนั้น ดังนั้นตัวบ้านที่มีจึงถือว่าเป็นตัวช่วยด้านต้นทุนในธุรกิจของคุณ ทำให้คุณมีโอกาสที่จะอยู่รอดมากกว่าคู่แข่ง

นั้นคือตัวอย่างตัวช่วย 2 ตัวอย่าง ซึ่งจะเป็นรูปแบบไหนก็ได้ที่จะช่วยธุรกิจเราได้ตอนเริ่มต้น การเริ่มต้นธุรกิจโดยที่ไม่มีตัวช่วยเลย ไม่ได้เป็นเรื่องต้องห้าม แต่ควรให้เป็นทางเลือกท้ายๆ ในใจคุณ เพราะถ้าพลาดไปก็ถือว่าเป็นประสบการณ์ แต่ถ้าเป็นไปได้ก็เลือกธุรกิจที่เรามีตัวช่วยก่อน ยิ่งตัวช่วยเยอะๆ ยิ่งดี

ถ้าธุรกิจที่คุณสนใจเป็นธุรกิจที่ไม่มีตัวช่วยเลย อย่างน้อยธุรกิจนั้นควรเป็นธุรกิจใหม่ไปเลย เพราะธุรกิจใหม่ๆ นั้นมักจะยังไม่ค่อยมีใครได้เปรียบเสียเปรียบมากนัก โอกาสที่เราเข้ามาใหม่จะแข่งธุรกิจกับเขาได้ก็จะมีมากกว่าธุรกิจที่มีมานานแล้ว คู่แข่งมีฐานธุรกิจที่มั่นคง ขยายตลาดไปซะเกือบหมดตลาดแล้ว อัตราการเติบโตเลยน้อย ทุกรายหันมาแย่งลูกค้ากัน อันนี้ลำบากสำหรับหน้าใหม่ครับ

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่ใหม่มากๆ ก็ใช่ว่าดีเสมอไป บางคนบอกว่าควรทำธุรกิจที่ยังไม่มีใครทำเลย จะได้ไม่มีคู่แข่ง เราเข้ามาก่อนก็จับจองตลาดได้ก่อน สามารถขยายตลาดได้เร็ว แต่ในความเป็นจริง ธุรกิจที่ไม่มีคู่แข่ง อาจหมายความว่าธุรกิจนั้นยังไม่มีลูกค้าก็ได้ อาจต้องรอจนตลาดนั้นเริ่มมีลูกค้า อาจจะนานก็ได้ ดังนั้นสายป่านต้องยาวพอควร ในทางกลับกันธุรกิจที่เริ่มมีคู่แข่งให้เห็นบ้าง อาจจะไม่น่ากลัวเท่าไร แต่น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีว่าธุรกิจนั้นมีตลาดแล้ว

นอกจากดูตัวช่วยแล้ว ยังต้องดูอีกว่าธุรกิจของคุณนั้นมี “มูลค่าเพิ่ม” ต่อตลาดหรือไม่ เรียกว่าตลาดนั้นต้องพึ่งพาธุรกิจของเราหรือไม่ ถ้าเมื่อไรก็ตามตลาดนั้นสามารถตัดธุรกิจของเราออกไปได้ โดยที่ไม่มีใครเดือดร้อน นั้นแหละสัญญาณเจ๊งมาแล้ว ในเมื่อเราไม่มีประโยชน์ต่อตลาด แล้วเขาจะมีเราไปทำไม

การสร้างมูลค่าเพิ่มก็คือ การทำให้วิถีชีวิตของลูกค้า (หรือผู้บริโภค) ดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องเป็นการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงเสมอไปนะ เช่น กาแฟสตาร์บัคส์ เขาเริ่มต้นด้วยความคิดที่ว่าอยากทำให้วิถีชีวิตของคนดื่มกาแฟดีขึ้น เพราะการที่กาแฟหอม บรรยากาศดี ก็ทำให้อรรถรสของการดื่มกาแฟมากขึ้น

ตัวอย่างเช่น บ้านคุณอยู่แถวมหาวิทยาลัย ซึ่งมีร้านถ่ายเอกสารอยู่หลายร้านแล้ว ซึ่งแต่ละร้านคนก็ไม่เยอะเท่าไร ถ้าคุณจะเปิดร้านถ่ายเอกสารที่เหมือนๆ ร้านอื่น เพิ่มขึ้นอีกร้าน คงไม่ใช่ความคิดที่ดีแน่ เพราะวิถีชีวิตของนักศึกษาแถวนั้นไม่ได้ดีขึ้นเลย หรือขาดร้านคุณไปชีวิตเขาก็ไม่ได้ลำบากอะไร นั้นแหละสัญญาณเจ๊งตั้งแต่เริ่มมาแล้ว ในทางกลับกันคุณสังเกตเห็นว่านักศึกษาชอบร้องคาราโอเกะ ตกเย็นต้องรวมตัวกันเพื่อจะนั่งรถไปร้องคาราโอเกะในเมือง เลิกเรียนก็ไม่พร้อมกัน รวมตัวก็ลำบาก การที่คุณลงทุนเปิดร้านคาราโอเกะอาจเป็นธุรกิจที่ดีกว่าเปิดร้านถ่ายเอกสาร เพราะทำให้วิถีชีวิตของคนในละแวกนั้นดีขึ้นกว่าเปิดร้านถ่ายเอกสาร (คือช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง) แสดงว่าธุรกิจของคุณมีมูลค่าเพิ่มต่อตลาด การที่มีมูลค่าเพิ่มมาก ย่อมหมายถึง โอกาสรอดของธุรกิจที่มาก