posttoday

การเปิดโรงเรียนในสถานการณ์โควิด-19

21 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อภิรดา ชิณประทีป คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ www.econ.nida.ac.th

ขณะนี้เมื่อมีประเด็นทหารอียิปต์และลูกอุปทูตจากซูดานติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ทางโรงเรียนทั้งกรุงเทพฯ และระยองตื่นตัวอีกครั้ง โดยล่าสุดวันที่ 15 กรกฎาคม 2563 สถานศึกษาในจังหวัดระยองปิดการเรียนการสอนแล้ว 274 แห่ง แบ่งเป็น สถานศึกษาระดับอาชีวศึกษา 11 แห่ง โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) 223 แห่ง โรงเรียนเอกชน จำนวน 32 แห่ง และสถานศึกษาสังกัดกศน.จำนวน 8 แห่ง ซึ่งการปิดสถานศึกษาครั้งนี้โรงเรียนจะปรับการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์แทน ส่วนในกรุงเทพฯ นั้น โรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ได้ประกาศ มีข้อความตอนหนึ่ง ว่า ปัจจุบันมีนักเรียนโรงเรียนสามเสนวิทยาลัยเป็นกลุ่มเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโรคติดต่อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โรงเรียนสามเสนวิทยาลัยตระหนักถึงความปลอดภัยของนักเรียน และเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จึงขอแจ้งปิดสถานศึกษาเป็นเวลา 1 วัน ในวันที่ 15 ก.ค. เพื่อทำความสะอาดโรงเรียน เช่นเดียวกับโรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ ได้เผยแพร่ประกาศ เรื่อง ปิดสถานศึกษาด้วยเหตุพิเศษ โดยตอนหนึ่งของประกาศระบุว่า สถานการณ์ล่าสุดพบว่ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เข้าพักอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงกับสถานศึกษา และเดินทางไปหลายสถานที่ ซึ่งเป็นสถานที่ที่อยู่บริเวณโดยรอบสถานศึกษา และวันที่ 16 ก.ค. โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ออกประกาศเรื่องการหยุดเรียนเป็นกรณีพิเศษ ระหว่างวันที่ 17-24 ก.ค.2563 โดยให้นักเรียนเรียนผ่านระบบออนไลน์ของทางโรงเรียนแทน เพื่อทำความสะอาด เนื่องจากพบว่ามีผู้ปกครองและนักเรียนอยู่ในพื้นที่เสี่ยงตามที่เป็นข่าว

ผู้เขียนจึงได้ถือโอกาสนี้นำงานเขียนที่ได้เขียนไว้ตั้งแต่กลางเดือน มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งในหลายประเด็นก็น่าจะยังทันสมัยอยู่ และหวังว่าจะเป็นประโยชน์กับท่านผู้อ่านในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปิดโรงเรียนในสถานการณ์โควิด-19 ไม่มากก็น้อย

การกำหนดเปิดภาคเรียนที่ 1/2563 ของโรงเรียนและสถานศึกษาภาครัฐได้กำหนดไว้เป็นวันที่ 1 ก.ค. ขณะที่ยังพบปัญหาส่วนใหญ่คือ บ้านนักเรียนไม่สามารถปรับจูนช่องทีวีให้รับสื่อการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม อย่างไรก็ดี ทางกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19ในโรงเรียน สถานศึกษา ฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2563 เพื่อการเตรียมสถานศึกษาก่อนเปิดภาคเรียนให้พร้อมก่อน ซึ่งในบทความนี้จะได้สรุปว่า จากประสบการณ์ต่างประเทศและงานวิจัยที่น่าสนใจเพื่อมาปรับใช้กับสถานการณ์ของไทยเราได้อย่างไร

ในประสบการณ์ของต่างประเทศ ในกลุ่มประเทศยุโรปส่วนใหญ่จะเปิดในระดับเล็กก่อน เดนมาร์กเปิดเรียนเป็นชาติแรกในยุโรป โดยเริ่มจาก ระดับชั้นอนุบาลและประถมศึกษา ตั้งแต่วันที่ 15 เมษายน แต่คิดเป็น 35% ของโรงเรียนทั้งหมดในกรุงโคเปนเฮเกน ซึ่งในระดับมัธยมศึกษาเปิดวันที่ 10 พฤษภาคมที่ผ่านมา สิ่งสำคัญคือกฎเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเคร่งครัด นอร์เวย์ประกาศปิดโรงเรียนเมื่อวันที่ 12 มี.ค. ตัดสินใจให้เปิดโรงเรียนอนุบาลอีกครั้งเมื่อวันที่ 20 เม.ย. ก่อนตามด้วยการเปิดโรงเรียนประถม เกรด 1-4 เมื่อวันที่ 27 เม.ย. โดยเพื่อสนับสนุนการเว้นระยะทางสังคม รัฐบาลได้ขอให้โรงเรียนแบ่งชั้นเรียนออกเป็นกลุ่ม ไม่เกินกลุ่มละ 15 คน และต้องทำความสะอาดโต๊ะเรียนทุกวัน รวมถึงยังมีมาตรการป้องกันอื่น ๆ ยกเว้นกรณีของเยอรมันที่เปิดระดับมัธยมเนื่องจากต้องมีการสอบสำคัญ โรงเรียนในเยอรมันมีการกลับมาเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ประมาณวันที่ 20 เมษายน โดยให้นักเรียนในระดับมัธยมปลายกลับมาเรียนก่อน หลังจากนั้นจะเป็นของระดับชั้นประถมศึกษาในวันที่ 4 พฤษภาคม เนื่องจากเด็กโตนั้นจะต้องเตรียมตัวกับการสอบที่กำลังจะมาถึง

อย่างไรก็ดีมีข้อสังเกตว่า การรักษามาตรฐานต่าง ๆ และการเว้นระยะห่างในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมีแนวโน้มจะทำได้ดี ขณะที่กลุ่มประเทศในเอเชียยังมีความหลากหลาย ซึ่งพบว่าประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังคงมีนโยบายแตกต่างกันไป เช่น ปิดโรงเรียนทั่วประเทศ ปิดโรงเรียนและเปิดตามความพร้อมของแต่ละรัฐหรือมณฑลหรือการพิจารณาตามความเหมาะสมแต่ละพื้นที่ หรือเปิดทีละส่วน โดยมีการสลับเวลา เป็นต้น ซึ่งประเทศไต้หวันนับว่าเป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคได้อย่างดีมากประเทศหนึ่งในโลก ได้เปิดเรียนเมื่อวันที่ 25 ก.พ. โดยรายงานระบุว่า ความจริงแล้วไต้หวันไม่เคยประกาศปิดโรงเรียนอย่างเป็นทางการ แต่ขยายเวลาช่วงปิดเทอมฤดูหนาวออกไป 10 วัน เมื่อเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา เพื่อทำความสะอาดฆ่าเชื้ออาคารสถานต่าง ๆ ในโรงเรียน แจกจ่ายเวชภัณฑ์ และจัดเตรียมระเบียบปฏิบัติใหม่สำหรับโรงเรียนที่มีผู้ติดเชื้อยืนยัน ขณะนี้ โรงเรียนในไต้หวันจะมีการตรวจวัดไข้ บางแห่งก็จะติดตั้งฉากกั้นบนโต๊ะนักเรียน ซึ่งถือเป็นมาตรการความปลอดภัยที่เพิ่มเข้ามา

ในขณะเดียวกันการเปิดสถานศึกษาอาจไม่ได้ราบรื่นเสมอไป เช่น เมื่อ 13 มิถุนายน 2563 สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กรุงปักกิ่ง เมืองหลวงของจีน เลื่อนการกลับเข้าเรียนของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น เปิดเผยว่านักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 2 และ 3 จากโรงเรียนประถมศึกษาของปักกิ่งประมาณ 520,000 คน ซึ่งมีกำหนดกลับเข้าเรียนวันที่ 15 มิ.ย. นี้ หลังตรวจพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ได้รับการยืนยันผลเพิ่มในช่วงที่ผ่านมาหรือกรณีของเกาหลีใต้ โรงเรียนมัธยม 75 แห่งในเกาหลีใต้ต้องให้นักเรียนกลับบ้าน ไม่กี่ชั่วโมงหลังเพิ่งกลับมาเปิดการเรียนการสอนในวันที่ 20 พ.ค. หลังพบนักเรียน 2 คนติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19) ซึ่งเป็นระดับมัธยมในเมืองอินชอน มีผลตรวจโควิด-19 ออกมาเป็นบวกในตอนเช้าวันเดียวกัน ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐมนตรีสาธารณสุขของเกาหลีใต้เผยว่าความวิตกเดี่ยวกับการติดเชื้อโควิด-19 ยังคงมีอยู่ และไม่มีใครสามารถคาดการณ์ว่าจะเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นในโรงเรียน แต่หากโรงเรียนใดมีรายงานพบผู้ติดเชื้อ จะต้องปิดการเรียนการสอนทันที

นอกจากนี้ จากงานศึกษาเรื่อง Expected impact of reopening schools after lockdown on COVID-19 epidemic in Île-de-France โดย Laura Di Domenico และคณะ (2020) ได้พบว่า ข้อมูลประเทศฝรั่งเศส โดยเปรียบเทียบการเปิด 3 แบบไม่พร้อมกัน ได้แก่

แบบที่ 1 กลับมาเปิดเรียนระดับอนุบาลและประถมภายในวันที่ 11 พฤษภาคม โดยในแบบนี้ยังทำการพิจารณาวิเคราะห์ความอ่อนไหว โดยเป็นการเปิดพร้อมกันแบบทั้งหมด เทียบกับทีละ 25% เทียบกับทีละ 50% โดยยังไม่เปิดระดับมัธยม

แบบที่ 2 กลับมาเปิดเรียนระดับอนุบาลและประถม ภายในวันที่ 11 พฤษภาคม โดยเปิดระดับมัธยมวันที่ 8 มิถุนายน โดยในแบบนี้ยังทำการพิจารณาวิเคราะห์ความอ่อนไหว โดยเป็นการเปิดพร้อมกันแบบทั้งหมด เทียบกับทีละ 25% เทียบกับทีละ 50%

และแบบสุดท้าย แบบที่ 3 เป็นการกลับมาเปิดเรียนทุกระดับภายในวันที่ 11 พฤษภาคมโดยในแบบนี้ยังทำการพิจารณาวิเคราะห์ความอ่อนไหว โดยเป็นการเปิดพร้อมกันแบบทั้งหมด เทียบกับทีละ 25% เทียบกับทีละ 50% โดยผลงานวิจัยนี้สามารถสรุปผลการศึกษาได้ว่า ควรให้ความระมัดระวังภายใน 2 เดือนหลังเปิด ซึ่งยิ่งมีการเปิดมากก็จะมีโอกาสติดเร็วขึ้นตามลำดับ แต่จะเห็นในทุกแบบภายในระยะเวลา 2 เดือน และยังต้องระวังการเปิดระดับการศึกษาที่สูงขึ้น โดยให้ข้อสังเกตว่าการศึกษาระดับเล็กเปิดได้หมดโดยไม่ได้มีความแตกต่างมากนักระหว่างการเปิดทีละส่วนหรือเปิดพร้อมกันทั้งหมด ส่วนการศึกษาระดับสูงขึ้นนั้นยังควรต้องระวัง

ทั้งนี้เมื่อผู้เขียนมาเทียบกับในข้อเท็จจริงของฝรั่งเศส หลังมีการประกาศผ่อนคลายมาตรการล็อคดาวน์ ตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลฝรั่งเศสก็ได้เปิดเผยว่า พบผู้ติดเชื้อในกลุ่มเด็กนักเรียน จากเนอสเซอรี่ และโรงเรียนประถมหลายแห่งกว่า 70 ราย จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้โรงเรียนหลายแห่งต้องปิดทำการซ้ำสอง ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการฝรั่งเศส ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้สถานการณ์โควิด-19 จะยังน่าเป็นห่วง แต่การที่เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนก็เป็นเรื่องที่น่ากลัวเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ของประเทศไทย เรามีข่าวดีว่าปัจจุบัน รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 ในไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับหลายประเทศ แต่เราก็ยังควรไม่ประมาท โดยไม่ตระหนกจนเกินไป

การกำหนดเปิดภาคเรียนวันที่ 1 ก.ค. ในส่วนของประเทศไทย โดยสถิติที่ผ่านพบว่า อัตราการติดโควิด-19 ในเด็กและอัตราการแพร่เชื้อจากเด็กยังเป็นจำนวนที่ไม่สูง เมื่อเทียบกับอัตราการติดโควิด-19 ในเด็กและอัตราการแพร่เชื้อในผู้ใหญ่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากอนุบาลยังมีธรรมชาติที่เล่นกันมาก และอาจใกล้ชิดกับผู้สูงอายุได้ ดังนั้น อาจระวังพิเศษ โดยหากเป็นเด็กเล็กการสอบสวนโรคยังเป็นไปได้ด้วยความยากขึ้นด้วย ทั้งนี้เนื่องจาก โรงเรียน สำคัญกับการบ่มเพาะพฤติกรรมและประโยชน์ลดอาชญากรรม และความเข้มแข็งประเทศทั้งระยะสั้นระยะยาว และยังเป็นที่แหล่งอาหารกลางวันสำหรับนักเรียนในเมืองและชนบท การเปิดโรงเรียนจึงมีความสำคัญมาก แต่นั่นหมายความว่า เมื่อเราผ่อนคลายมาก ความเสี่ยงต่อการติดเชื้อก็ยังมีมากขึ้นด้วย จึงยังต้องให้ความระมัดระวัง ทั้งนี้ต้องอย่าลืมเรื่องความปลอดภัย เช่น อย่าลืมใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ และรักษาความสะอาดภายในโรงเรียน ตลอดจนคอยสังเกตอาการของเด็ก ๆ อยู่สม่ำเสมอด้วย เพื่อความสมบูรณ์ทั้งความรู้ และพลานามัยของบุตรหลานของทุกท่านในสถานการณ์ที่โควิด-19 ทั่วโลกยังไม่มียารักษาหรือป้องกันได้อย่าง 100%หวังว่าบทความนี้จะส่งผ่านแง่คิดบางประการ และขอให้ทุกคนปลอดภัย