posttoday

หน้าผาหนี้ครัวเรือน...ความจริงที่รออยู่

20 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ ตอนที่ 29/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

ในช่วงเวลาที่ค่อนข้างยากลำบากของคนที่เป็นหนี้ ไม่ว่าจะหนี้ที่ก่อเพื่อคุณภาพชีวิต หนี้ที่ก่อเพื่อความสะดวกสบายในชีวิต หนี้ที่ก่อเพื่อการประกอบสัมมาอาชีพ เมื่อเป็นหนี้แล้วก็ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา

หลักการดังกล่าวนี้เป็นพื้นฐานที่ทุกๆ คนต่างยอมรับนับถือมาโดยตลอด แต่ว่าเหตุการณ์ในช่วงหกเดือนแรกของปี 2563 ที่เข้ามาเริ่มจากช่วงปลายปีที่แล้วที่พบเห็นการแพร่ระบาดของไวรัสในประเทศจีน เหตุการณ์ต่างๆ ที่เราต้องไม่ลืมซึ่งผู้เขียนขอไล่เรียงสรุปมามี ดังนี้

1. ทางการยกระดับมาตรการป้องกันด้านสาธารณสุขในระดับสูงสุด เพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดให้ อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าขีดความสามารถในการรองรับด้านสาธารณสุข

2. ทางการสั่งให้ระงับการดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้เกิดการชะงักของการหารายได้ (Income shock) ธุรกิจที่ต้องมีการรับเงินเข้าจ่ายเงินออกมีปัญหาติดขัด สะดุด การรักษาลูกจ้างพนักงานต้องใช้เงินทุนที่มีจำกัด

3. ทางการจัดชุดมาตรการเยียวยา แก้ไขกลุ่มที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเช่นเติมเงิน ลดค่าใช้จ่ายท้ายสุดคือรักษาเครดิต โดยใช้เงินหลวงในจำนวนที่มากมายแบบไม่เคยพบเห็นมาก่อน

4. มาตการรักษาเครดิตคือการ "แช่แข็งหนี้" หมายถึงการชะลอการจ่ายเงินต้น จ่ายดอกเบี้ย ในรูปแบบต่างๆ โดยที่ไม่ถือว่าเป็นการ "ผิดนัดชำระ" ไม่มีการรายงานทางลบใดๆ เข้ามาในระบบของเครดิตบูโรซึ่งมาตรการนี้จะจบสิ้นราวเดือนสิบของปีนี้ หากแต่ธนาคารของรัฐได้ขยายเวลาไปจนถึงสิ้นปี 2563 นี้ พร้อมไปกับมาตรการเปิดเมืองแบบผ่อนคลายเป็นระยะๆ ตั้งแต่ระยะ 1 ถึงระยะ 5 ในปัจจุบัน ก่อนมีเหตุกระตุกเรื่องทหารอียิปต์

คำถามคือ เมื่อถึงเวลาที่ต้องกลับไปใช้เกณฑ์เดิมก่อนเมษายน 2563 คนที่มีหนี้แต่รายได้ไม่เหมือนเดิม จะมีใครบ้างที่ไปต่อไม่ได้ ไปต่ออย่างทุลักทุเล ไปต่อได้อย่างหืดขึ้นคอ หรือไปต่อไม่ได้เพราะตกงานถาวร เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายกำลังประเมินความรุนแรงของปัญหา

คำตอบคือ ยังไม่มีใครรู้ แต่จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจในปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้น ท่านผู้อ่านต้องเข้า ใจก่อนว่ามันมีหลักเกณฑ์ดังนี้

1. บัญชีสินเชื่อใดมีการค้างชำระเกิน 90 วัน จะถือว่าเป็นหนี้เสียในภาษาชาวบ้านหรือภาษาทั่วไปคือ NPL

2. บัญชีสินเชื่อใดมีการค้างชำระแต่ยังไม่เกิน 90 วันจะถือว่าเป็นหนี้ที่ต้องติดตามใกล้ชิด ราชการเรียกว่าหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษหรือ SM (Special Mention)

ทีนี้พิจารณาต่อตามตัวอย่าง นาย A. มีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลบัญชีหนึ่ง มียอดผ่อนต่องวด 1,000 บาท นาย A. ค้างมาแล้วนับวันได้ 89 วัน จนถึงวันที่เขามีมาตรการแช่แข็งหนี้ คิดง่ายๆ คือค้างมาจะครบสามงวดแล้วและกำลังจะค้างต่อเป็นงวดที่สี่ พอดีมีมาตรการแช่แข็งหนี้เข้ามาทำให้ทุกอย่างไม่มีการขยับวันที่จะนับว่าค้างต่อไปก็สะดุดหยุดลงไว้ก่อน วันเวลาก็ลากยาวมาจนสิ้นสุดโครงการถึงสมมุติว่า 31 ธันวาคม 2563 พอเปิดปีใหม่มาถ้านาย A. และเจ้าหนี้นาย A. ไม่ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกันหรือ DR (Debt Restructuring) เวลาก็จะเริ่มเดินต่อไป วันค้างชำระก็จะเริ่มนับอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นวันที่ 1 มกราคม 2564 ก็จะเป็นวันที่ 90 ของการค้างชำระ วันที่ 2 มกราคม 2564 ก็จะเป็นวันที่ 91 ของการค้างชำระ บัญชีสินเชื่อนี้ของนาย A. ก็จะถูกกำหนดให้เป็นหนี้เสีย ตัวของนาย A.ก็จะกลายเป็นลูกหนี้ที่ถือว่าไม่ดี เป็นลูกหนี้ที่มีอย่างน้อยหนึ่งบัญชีค้างชำระเกิน 90 วัน นาย A. จะตกหน้าผาหนี้ที่ตนเองก่อด้วยเหตุนี้เอง

ประเด็นเทคนิคดังกล่าวไม่ยากที่จะทำความเข้าใจนะครับ แต่เป็นประเด็นละเอียดอ่อน ตอนนี้ทุกฝ่ายต่างต้องเร่งสำรวจ บัญชีสินเชื่อของลูกหนี้ตนที่มาอยู่?ตรงอีก 1-2 วันก็จะตกหน้าผา ย้อนถอยไปว่ามีอีกกี่บัญชีสินเชื่อที่มีเวลามากกว่า 10 วัน 20 วัน 30 วัน 60 วันก่อนตกหน้าผา แล้วก็ต้องเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้ตามขีดความสามารถการจ่ายหนี้ได้จริงๆ ของลูกหนี้ เพื่อให้เป็นสะพานไม้ก้าวข้ามผ่านหน้าผานี้ไปต่อได้

ในส่วนของคนที่ตกหน้าผาคือกลายไปเป็นหนี้เสีย ตัวลูกหนี้ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาหรือ TDR (Trouble Debt Restructuring ) ความต่างจาก DR คือมันมีคำว่าปัญหามาต่อท้าย แสดงให้เห็นถึงความร้ายแรงครับ ลูกหนี้อาจเดินต่อไปเข้าคลินิกแก้หนี้ถ้าตนเองมีคุณสมบัติครบ ซึ่งผู้เขียนสนับสนุนให้เข้าโครงการ หรือถ้าลูกหนี้เพิกเฉย ไม่ยอมทำอะไรเลย เจ้าหนี้ก็คงใช้สิทธิเรียกร้องเอาหนี้คืนตามสัญญาและตามที่กฎหมายกำหนด สิ่งสำคัญในเวลานี้คือ บัญชีสินเชื่อและจำนวนลูกหนี้ที่อยู่แถวๆ หน้าผาหนี้ครัวเรือนมีจำนวนเท่าใด การปรับโครงสร้างหนี้จะทำได้มากและเร็วขนาดไหน ตัวลูกหนี้จะมีขีดความสามารถในการชำระหนี้ได้ขนาดไหน และการแพร่ระบาดจะรุนแรงซ้ำเติมอีกหรือไม่

จากวิกฤติทางสาธารณสุข สู่วิกฤติทางธุรกิจ ต่อไปยังวิกฤติทางเศรษฐกิจ มันจะวนมาที่วิกฤติสถานบันการเงิน วนๆ กันไปจนกว่าจะพบคำตอบทางการแพทย์ ซึ่งก็ยังไม่ทราบวันเวลาที่แน่นอน

เดินทีละก้าว ทานข้าวที่ละคำ ย้ำเตือนตนเองเสมอและให้ละเมอทุกครั้งว่า "สงครามยังไม่จบ"

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจติดตามอ่าน