posttoday

ติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน และตัวเลขการส่งออกไทย

20 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 31.50-31.90 ความกังวลต่อการระบาดของไวรัสระลอกที่ 2 ผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีนยังคงเป็นปัจจัยที่นักลงทุนติดตามสำคัญในเวลานี้ ทั้งนี้ ค่าเงินยูโรในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มเคลื่อนไหวตามผลการประชุมของผู้นำสหภาพยุโรปเกี่ยวกับข้อตกลงกองทุนฟื้นฟูสหภาพยุโรปจากวิกฤติโควิด-19 มูลค่า 7.5 แสนล้านยูโร

ด้านค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มเคลื่อนไหวผันผวนในทิศทางอ่อนค่าจากความเสี่ยงของการระบาดของไวรัสรอบที่ 2 และความไม่แน่นอนทางการเมืองไทย ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ นักลงทุนรอติดตามการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในประเทศเศรษฐกิจสำคัญเพื่อประเมินการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

ด้านตัวเลขเศรษฐกิจของไทย กระทรวงพาณิชย์มีกำหนดประกาศตัวเลขการส่งออกเดือนมิถุนายน ซึ่งยังมีแนวโน้มหดตัวสูง ด้านนโยบายการเงิน ธนาคารกลางจีนมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะ 1 ปีและ 5 ปี ขณะที่ธนาคารกลางของญี่ปุ่นและออสเตรเลียจะเผยแพร่รายงานการประชุมนโยบายการเงินภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนและอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยจากทั้งต่างประเทศและในประเทศ ในส่วนของไทย เงินบาทอ่อนค่าลงมากกว่าค่าเงินในเอเชีย เนื่องจากความกังวลว่าจะมีการระบาดของไวรัสในไทยเป็นระลอกที่ 2 หลังจากมีรายงานการติดเชื้อในกรุงเทพฯ และระยองที่อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในประเทศ

นอกจากนี้ เสถียรภาพทางการเมืองไทยอ่อนแอลง หลังจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจหลายท่านลาออกจากตำแหน่ง ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายการคลังในระยะต่อไป นอกจากนี้ ด้านปัจจัยต่างประเทศ ตลาดการเงินยังคงผันผวน จากปัจจัยบวกของข่าวการพัฒนาวัคซีนที่คืบหน้าหลายบริษัท อย่างไรก็ตาม การระบาดของไวรัสที่รุนแรงขึ้นในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศผู้บริโคขนาดใหญ่ ทำให้ตลาดกังวลว่าเศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่ประเมินไว้ อีกทั้งความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นระหว่างสหรัฐฯ กับจีนซึ่งบานปลายจากประเด็นการค้ายังกดดันตลาดการเงิน ทำให้เงินบาทปิดตลาดอ่อนค่าต่อเนื่องที่ 31.730 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบที่ระดับใกล้เคียงกับสัปดาห์ก่อนหน้า โดยประเด็นที่มีผลต่อตลาดมีทั้งปัจจัยบวกและลบสลับกันไป ทำให้ตลาดยังเคลื่อนไหวทรงตัว โดยตลาดตอบรับกับปัจจัยบวกของพัฒนาการของการทดสอบวัคซีนโดวิด-19 ทั้งจากบริษัท Pfizer และ BioNTech ที่ได้รับสถานะ ‘Fast Track’ รวมไปถึงบริษัท Moderna ที่เผยผลการทดลองวัคซีนว่าสามารถกระตุ้นสารภูมิคุ้มกันจำนวนมาก

ขณะที่ปัจจัยกดดันยังเป็นเรื่องของจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง โดยล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อรายวันในสหรัฐฯสูงขึ้นแตะระดับเกิน 70,000 คนต่อวัน และประเด็นความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นจากประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจมีการประกาศดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สองอยู่ที่ +5.4%MoM ในเดือนมิถุนายน จากเดือนก่อนที่ +1.4%MOM และสูงกว่าตลาดคาดที่ +4.3%MoM ส่วนยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ประกาศออกมาสูงกว่าที่ตลาดคาดในเดือนมิถุนายน โดยยอดขายขยายตัว 7.5%MoM จากที่ตลาดคาด 5.0%

อย่างไรก็ตามแนวโน้มยอดขายยังมีความเสี่ยงจากการระบาดที่รุนแรงขึ้นและการว่างงานที่สูง ซึ่งสอดคล้องกับยอดขอรับสวัสดิการผู้ว่างงานเบื้องต้นสหรัฐฯ ณ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 กรกฎาคมที่ทรงตัวที่ 1.3 ล้านคน จาก 1.31 ล้านคนในสัปดาห์ก่อน สำหรับความเคลื่อนไหวของธนาคารกลาง เริ่มจากอีซีบีส่งสัญญาณคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มเข้าสู่เป้าหมายที่ 2% โดยคุณลาการ์ดแสดงความเห็นว่าเศรษฐกิจยูโรโซนยังมีความเสี่ยงด้านต่ำสูง และมองว่ามาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญมาก ส่วนธนาคารกลางอินโดนีเซียมีมติลดดอกเบี้ยนโยบายลง 25bps มาอยู่ที่ระดับ 4.00% ตามที่ตลาดคาดไว้ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำและเศรษฐกิจที่อ่อนแอจากผลกระทบของไวรัส ขณะที่ธนาคารกลางเกาหลีใต้มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% พร้อมส่งสัญญาณลดคาดการณ์เศรษฐกิจในการประชุมครั้งหน้า และสุดท้ายธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีมติคงนโยบายการเงิน ขณะที่ลดประมาณการเศรษฐกิจ โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ -0.1% และควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปีใกล้ 0% รวมทั้งคงขนาดมาตรการซื้อสินทรัพย์ และมาตรการปล่อยกู้ ขณะที่บีโอเจลดคาดการณ์จีดีพีปี 2020 มาอยู่ที่ -4.7% และคาดว่าเศรษฐกิจจะกลับมาขยายตัว 3.3% ในปี 2021

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวโดยที่เส้นอัตราผลตอบแทนมีความชันลดลง (Bull-Flatted) เนื่องจากอัตราผลพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวเริ่มอยู่ในระดับที่น่าสนใจที่จะเข้าไปถือ ภายหลังจากที่อัตราผลตอบแทนปรับตัวขึ้นมาพอสมควร รวมถึงความเสี่ยงที่ยังคงมีอยู่จากความกังวลของการกลับมาติดเชื้อไวรัสโควิด-19 อีกครั้ง ทำให้ ณ วันที่ 17 กรกฎาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.50% 0.48% 0.58% 0.84% 1.05% และ 1.31% ตามลำดับ

ติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาวัคซีน และตัวเลขการส่งออกไทย

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 1,769 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 5,694 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 3,925 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ