posttoday

ระวังราคาน้ำมันปรับฐานจากการฟื้นตัวของ Shale Oil

16 กรกฎาคม 2563

บทความโดย...คมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)

กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ทั้งในและนอกโอเปก (OPEC+) ตกลงลดการผลิต 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วง พ.ค. - ก.ค. แต่ข้อมูลเดือน พ.ค. ซึ่งเป็นเดือนแรกที่ข้อตกลงมีผล ชี้ว่าสมาชิก OPEC-10 (สมาชิก OPEC ที่ไม่รวม อิหร่าน ลิเบีย และ เวเนซุเอลา ซึ่งไม่อยู่ภายใต้ข้อตกลง) ยังมีการผลิตเกินโควตาอยู่ถึง 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยอิรักและไนจีเรีย ในขณะที่ซาอุฯ ที่ก่อนหน้านี้มักผลิตต่ำกว่าโควตาเพื่อชดเชยให้ทั้งกลุ่ม ก็ยังมีการผลิตเกินถึง 2 แสนบาร์เรลต่อวัน

ที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมการผลิต (Joint Ministerial Monitoring Committee: JMMC) ในเดือน มิ.ย. จึงลงมติให้ สมาชิกเพิ่มความเข้มงวดในการปฏิบัติตามข้อตกลง และกำหนดให้สมาชิกที่มีการผลิตเกินจะต้องกลับมาผลิตให้ต่ำกว่าโควตาเพื่อชดเชยส่วนเกินในช่วงที่ผ่านมา

มติดังกล่าวเริ่มส่งผลในเดือน มิ.ย. โดยปริมาณการผลิตของกลุ่ม OPEC-10 ได้ลดลงถึง 1.78 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 20.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน นำโดยซาอุฯ ซึ่งลดการผลิตถึง 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตามมาด้วยอิรัก (ลด 3 แสนบาร์เรลต่อวัน) และไนจีเรีย (ลด 1.8 แสนบาร์เรลต่อวัน)

เมื่อเทียบตัวเลขการผลิตจริงในเดือน มิ.ย. กับโควตาการผลิต จะพบว่า การผลิตรวมของกลุ่ม OPEC-10 ลดลงมาต่ำกว่าโควตา 3.7 แสนบาร์เรลต่อวัน นำโดย ซาอุฯ ซึ่งลดการผลิตลงไปต่ำกว่าโควตาถึงเกือบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในขณะที่อิรักและไนจีเรีย ซึ่งมีการผลิตเกินโควตามาโดยตลอด ก็ยังมีการผลิตเกินอยู่ แต่เกินในจำนวนที่ลดลงอย่างมาก

การตกลงลดปริมาณการผลิตจำนวนมหาศาลถึงเกือบ 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งคิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของปริมาณการผลิตรวมของกลุ่ม OPEC+ และการควบคุมให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติตามข้อตกลงได้อย่างเคร่งครัด นับเป็นการบรรลุข้อตกลงลดการผลิตที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ และถือความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ช่วยทำให้อุปสงค์และอุปทานในตลาดน้ำมันดิบโลกกลับสู่สมดุล และทำให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในช่วงระยะเวลาเพียงสองเดือน

แม้ข้อตกลงดังกล่าวจะประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่ราคาน้ำมันที่ฟื้นตัวแรงและเร็วจนเกินไป อาจทำให้ผู้ผลิต Shale Oil ในสหรัฐฯ กลับมาผลิตได้เร็วกว่าที่คาด ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้อุปทานกลับมาล้นตลาดได้อีกครั้งโดยในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ได้มีการลดการผลิตน้ำมันดิบลงตามราคาน้ำมันที่ลดลงต่ำกว่าต้นทุน ซึ่งทำให้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบรวมของสหรัฐฯ ลดลงอย่างรวดเร็วจาก 13.1 ล้านบาร์เรลเมื่อต้นปี มาอยู่ต่ำสุดที่ 10.5 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงกลางเดือน มิ.ย.

อย่างไรก็ดีผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหารบริษัทผู้ผลิตน้ำมันในสหรัฐฯ ซึ่งจัดทำโดยธนาคารกลางสาขา Dallas ชี้ว่าผู้ผลิต Shale Oil จะกลับมาผลิตได้ หากราคาน้ำมัน WTI ยืนอยู่ที่ระดับ 36-40 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สอดคล้องกับรายงานรายสัปดาห์ล่าสุดของกระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ซึ่งชี้ว่าการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ได้ฟื้นตัวขึ้น 5 แสนบาร์เรลต่อวัน มาเป็น 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน ณ สิ้นเดือน มิ.ย.

การผลิตน้ำมันจากสหรัฐฯ ที่กลับมาเพิ่มขึ้น อาจส่งผลให้ตลาดน้ำมันดิบโลกกลับมาเผชิญภาวะอุปทานล้นตลาดและกดดันให้ราคาน้ำมันปรับฐานอีกครั้ง ท่ามกลางสต็อกน้ำมันดิบโลกที่ยังเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งชี้ถึงน้ำมันดิบส่วนเกินที่ยังเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก

นอกจากนั้นข้อตกลงลดการผลิตจะหมดอายุลงในเดือน ก.ค. และโควตาการผลิตรวมของกลุ่ม OPEC+ จะทยอยเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ส.ค. เป็นต้นไป โดยเพิ่มขึ้น 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงเดือน ส.ค. - ธ.ค. (จากลด 9.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน เหลือลด 8 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และเพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วง ม.ค. - เม.ย. 2021(เหลือลด 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยกดดันราคาน้ำมันในช่วงเดือนข้างหน้า

เรามองราคาน้ำมันดิบเริ่มมี Upside ที่จำกัดและมีความเสี่ยงที่จะปรับฐานได้ตามการผลิต Shale Oil จากสหรัฐฯ ที่เริ่มกลับมา และการเพิ่มโควตาการผลิตของกลุ่ม OPEC+ ในเดือน ส.ค.