posttoday

“การเงินเผื่อฉุกเฉิน” ภูมิคุ้มกัน 2 ชั้น หลังวิกฤตโควิด-19

14 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...รองศาสตราจารย์ ดร.สรศาสตร์ สุขเจริญสิน คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา?2019?หรือโควิด-19?และสถานการณ์การแพร่ระบาดมีแนวโน้มรุนแรงและยืดเยื้อกว่าที่ทุกคนคาดเอาไว้ ระบบเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกและเศรษฐกิจของประเทศไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยที่ไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์ครั้งนี้จะสิ้นสุดลงเมื่อใด การระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้กลายเป็นบททดสอบพวกเราว่า มีกันชนหรือเครื่องมือบริหารความเสี่ยงที่ดีเพียงใด ซึ่งจากข่าวที่ออกมาว่า มีคนตกงานทั่วโลกมากมาย หลาย ๆ คนคงกำลังประสบปัญหาทางการเงินอยู่ในขณะนี้ ใครที่มีการเตรียม “การเงินเผื่อฉุกเฉิน” เอาไว้ล่วงหน้า ก็เปรียบเสมือนมีภูมิคุ้มกันเมื่อเผชิญกับวิกฤตโควิด-19

“การสร้างภูมิคุ้มกัน”?จึงเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการดูแลสถานะทางการเงินของทุกคนในช่วงระยะเวลานี้?คนที่สุขภาพทางการเงินเข้มแข็งหรือมีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอ ก็จะมีโอกาสที่จะอยู่รอดและผ่านพ้นวิกฤตในครั้งนี้ไปได้ ซึ่งการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีนี้เป็นหนึ่งในสามคุณลักษณะของหลักการพอเพียง คือ ความพอประมาณ มีเหตุผล และมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ในหลวงรัชการลที่ 9 ได้ทรงพระราชทานไว้ให้คนไทย เพื่อใช้เป็นกรอบแนวคิดที่จะช่วยชี้แนะแนวทางการปฏิบัติตนได้อย่างดี โดยเฉพาะในเรื่องการเงินส่วนบุคคล

การบริหารการเงินส่วนบุคคลตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ควรเริ่มต้นจากการออมเงินให้เพียงพอก่อนการใช้จ่าย เพราะการออมเป็นพื้นฐานของความมั่นคงในชีวิต และถ้ามีเงินเหลือจากการใช้จ่าย ก็ควรนำมาเก็บออมเพิ่มเติมอีกทีหนึ่ง โดยเงินที่ออมก่อนใช้จ่ายก็เพื่อให้นำมาเก็บเป็นเงินสำรองสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อทดแทนรายได้ในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น โดนเลิกจ้างในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในช่วงนี้ หรือเก็บไว้เผื่อเกิดอุบัติเหตุ ฟ้าผ่าบ้านพังเสียหาย รถเสีย เป็นต้น

การออมเงินในลักษณะนี้ จะถูกเรียกว่าเป็น “เงินออมเผื่อฉุกเฉิน” ซึ่งเป็นเงินออมสำรองในระยะสั้นเพื่อเป็นสภาพคล่องเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน เราควรจะต้องมีเพียงพอในการประคับประคองให้เราผ่านสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ ได้ เมื่อมีเงินสำรองไว้เผื่อฉุกเฉินแล้ว จึงค่อยปิดความเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับชีวิตและทรัพย์สินของตนเอง โดย “การประกันภัย” ซึ่งการประกันภัยจะช่วยบรรเทาหรือลดภาระทางการเงินหากเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้น โดยทั้ง 2 องค์ประกอบนี้ ถูกเรียกว่า “การเงินเผื่อฉุกเฉิน” นั่นเอง

โดยปกติแล้ว นักวางแผนทางการเงินจะกำหนดระดับ “เงินออมเผื่อฉุกเฉิน” ไว้ที่ 3-6 เท่าของรายจ่ายในแต่ละเดือนที่ควรมีเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์เพื่อให้สามารถนำมาใช้จ่ายเมื่อยามฉุกเฉินได้ แต่เงินสำรองในระดับนี้เป็นตัวเลขที่พูดกันก่อนจะเกิดวิกฤตโควิด-19 ดังนั้น อาจต้องทำการสังคายนากันอีกทีหลังโควิด-19 เพราะดูเหมือนจะไม่เพียงพอกับสถานการณ์ที่ยืดเยื้อเลย หลายคนได้นำเอาเงินออมเพื่อเป้าหมายระยะสั้นที่อาจเตรียมไว้เพื่อการท่องเที่ยวมากินมาใช้ในช่วงนี้หมดเรียบร้อยแล้ว หากวิกฤตลากยาวเป็นปี หลายคนก็อาจต้องถึงกับไปกู้หนี้ยืมสินกันเลยทีเดียว

ดังนั้น “เงินออมเผื่อฉุกเฉิน” ในยุคหลังโควิด-19 ก็ควรมีให้ครอบคลุมถึง 1 ปี นั่นคือควรเก็บไว้ 12 เท่าของรายจ่าย หากสามารถปฏิบัติได้ก็จะเพิ่มความอุ่นใจ โดยอาจแบ่งส่วนแรก (3-6 เท่าของรายจ่าย) ไว้ในบัญชีออมทรัพย์และส่วนที่เหลือเอาไปในบัญชีฝากประจำ 6 เดือนก็ได้ เพื่อที่ว่าเงินออมเผื่อฉุกเฉินในส่วนแรกหมด ก็ยังมีส่วนที่สองนี้ไว้ใช้จ่าย แต่หากไม่เกิดเหตุการณ์ที่ลากยาวเป็นปี อย่างน้อยก็จะได้รับดอกเบี้ยในอัตราที่สูงขึ้นกว่าฝากในบัญชีออมทรัพย์ หากปฏิบัติได้ตามนี้ ก็นับได้ว่ามีภูมิคุ้มกันชั้นแรกช่วยต้านวิกฤตที่ดีเลยทีเดียว

สำหรับ “การประกันภัย” เป็นการบริหารความเสี่ยงส่วนบุคคลที่ไม่ควรมองข้าม ในอดีต การประกันภัย จะไม่ค่อยได้รับความสนใจจากคนทั่วไปในการใช้บริหารความเสี่ยงเพราะคิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่จากวิกฤตโควิด-19 ในครั้งนี้ ทำให้เราพบว่า ใครที่มีสิทธิเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลไม่ว่าจะเป็นบัตรทอง ประกันสังคม หรือประกันสุขภาพ เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ก็จะได้รับความคุ้มครอง หรือบางคนอาจมีการทำประกันสุขภาพที่คุ้มครองทั้งค่ารักษาพยาบาลหรือการชดเชยรายได้อีกด้วย เผื่อไว้ว่าโชคร้ายติดเชื้อโควิด-19 หรือโรคระบาดอื่น ๆ ต้องหยุดงานยาวก็จะได้ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังอีกต่อไป และในอนาคตนั้น ค่ารักษาพยาบาลก็อาจจะเพิ่มสูงขึ้นจนจ่ายค่ารักษาเองไม่ไหว เพราะจากสถิติแล้ว ค่ารักษาพยาบาลในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยในอัตรา 8% ต่อปี นั่นก็หมายถึง ค่ารักษาพยาบาลจะแพงขึ้นเท่าตัวในอีก 10 ปีข้างหน้านั่นเอง ดังนั้น ใครที่มีการเตรียมตัวทำประกันภัยเอาไว้ก่อนล่วงหน้า เป็นการถ่ายโอนความเสี่ยงในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน ก็จะมีภูมิคุ้มกันชั้นที่ 2 ในการต้านวิกฤตเพิ่มเติมอีก

สุดท้ายนี้ วิกฤตโควิด-19 ได้สร้างบรรทัดฐานใหม่ (New Normal) ที่มาเปลี่ยนทัศนคติในการวางแผนทางการเงินเผื่อฉุกเฉินกันใหม่ โดยคำนึงถึงภูมิคุ้มกันทางการเงินทั้ง 2 ชั้น “เงินออมเผื่อฉุกเฉิน” และ “การประกันภัย” เพื่อต้านวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หากใครเตรียมตัวไว้ก่อน ก็จะสามารถสร้างชีวิตที่มีความสมดุล มีความมั่นคงทางการเงิน มีภูมิคุ้มกัน และพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิดได้เป็นอย่างดี