posttoday

เสียงสะท้อนความเดือดร้อนคนไทยในวิกฤตโควิด-19

07 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.อัธกฤตย์ เทพมงคลคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th

เด็กบ้านนอกคนหนึ่งเข้ากรุงเทพมาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยสาขาวิชาภาษาจีน ฐานะทางบ้านเขาไม่ได้ร่ำรวยอะไร ที่บ้านปลูกข้าวทำนา เด็กคนนี้ต้องทำงานหาเงินเพิ่มเติมเพื่อกินอยู่ แบ่งเบาภาระค่าเทอม ถ้าเงินเหลือก็ต้องส่งกลับไปช่วยค่าใช้จ่ายของทางบ้านโดยไม่ต้องนึกถึงเรื่องจะเก็บเงินเพื่อการออมใด ๆ โชคดีที่เขาใช้ความรู้ภาษาจีนของเขา ได้งานเป็นลูกจ้างชั่วคราวขายของในร้าน Duty free จนเขาสำเร็จการศึกษาในปีที่ผ่านมา

อีกไม่กี่เดือนต่อมา โลกเข้าสู่วิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 นักท่องเที่ยวหายหมด เด็กคนนี้ถูกเลิกจ้างจาก Duty free โดยปริยาย เงินเก็บไม่ต้องพูดถึงเพราะไม่มีอยู่แล้ว หางานใหม่ยิ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้ เขาระเห็ดออกจากกรุงเทพไปพักกับญาติที่ชลบุรี ช่วยญาติขายไก่ทอด และพยายามสมัครงานใหม่ ซึ่งก็ยังไม่เป็นผลจนถึงปัจจุบัน

นี่เป็นหนึ่งตัวอย่างของความเดือดร้อนของคนไทยในช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผู้เขียนได้บังเอิญมีโอกาสพูดคุยถามไถ่โดยตรง ซึ่งเราเหล่าคณาจารย์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เชื่อว่า ยังมีอีกหลายล้านความเดือดร้อนของคนไทยที่อาจจะหนักหนากว่านี้ อับจนกว่านี้ แต่เสียงของท่านเหล่านั้นสะท้อนออกมาไม่ดังพอที่หน่วยงานภาครัฐ สื่อมวลชน และวงการวิชาการจะได้ยิน

ในวงการวิชาการ หลาย ๆ สำนัก หลาย ๆ หน่วยงาน ก็ตื่นตัวกันมากในการศึกษาวิจัยผลกระทบของเจ้าโควิด-19 แต่มาตรการกักตัว และ Social distancing กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การลงพื้นที่สัมภาษณ์กับชาวบ้านนั้นเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นงานศึกษาส่วนใหญ่จึงออกมาในรูปแบบการสำรวจโดยใช้แบบสอบถามออนไลน์เป็นหลัก อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบดีว่าการสำรวจออนไลน์จะมีปัญหาการเข้าถึงกลุ่มตัวอย่างบางกลุ่ม เช่น กลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ กลุ่มคนที่หาเช้ากินค่ำ และกลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่ถนัดในการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น ซึ่งในวิกฤตโควิด-19 กลุ่มคนเหล่านี้น่าจะเป็นกลุ่มคนสำคัญที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดนั่นเอง และทำให้ผลการศึกษานั้น ๆ คลาดเคลื่อนได้

คณะพัฒนาการเศรษฐกิจนิด้าร่วมกับ The Asia Foundation Thailand และ นิด้าโพลจัดทำโพลสำรวจข้อมูลผลกระทบวิกฤตการณ์โควิด-19 ต่อแรงงานไทยจำนวน 3,181 คน ทั่วประเทศ โดยทำการสำรวจในช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เราทำการสำรวจผ่านทางโทรศัพท์ซึ่งเป็นจุดแข็งของทางนิด้าโพล ครอบคลุมแรงงานไทยในกลุ่มต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง กลุ่มคนหาเช้ากินค่ำ และแรงงานนอกระบบ ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่ได้รับผลกระทบอย่างมากจากโควิด-19แน่นอนครับ จะสำรวจทั้งที่มันต้องให้ได้ประโยชน์สูงที่สุด ทางทีมงานได้ทำกลั่นชุดคำถามที่ครอบคลุมผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ต่อแรงงานไทยในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็นมิติความเดือดร้อนด้านรายได้ มิติการเข้าถึงและความพึงพอใจต่อนโยบายของภาครัฐ มิติการรับและให้ความช่วยเหลือในสังคม และมิติการปรับตัวในการทำมาหากินในอนาคตผลการสำรวจน่าสนใจมาก ๆ ในมิติความเดือดร้อนด้านรายได้ เราพบว่า แรงงานไทยถึงร้อยละ 69.57 มีรายได้ลดลงจากวิกฤตโควิด-19 ส่วนแรงงานที่รายได้ไม่เปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มขึ้นในช่วงโควิดที่ผ่านมามีจำนวนอยู่ที่ร้อยละ 30.02 และ 0.41 ตามลำดับ ตัวเลขที่ออกมานี้ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตครั้งนี้รุนแรงมากจริง ๆ และคำพูดที่ว่า ทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสอยู่ก็อาจจะจริง แต่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นได้ยากเหลือเกินในวิกฤตครั้งนี้

ลึกลงไปอีกหน่อยเราพบว่า ถ้าเราไล่เรียงพื้นที่ที่มีสัดส่วนจำนวนแรงงานที่รายได้ลดลงจากมากที่สุดไปน้อยที่สุด เราพบว่า ภาคเหนือนำมาเป็นอันดับ 1 (ร้อยละ 78.47) ตามมาด้วย ภาคอีสาน (ร้อยละ 75.07) ภาคใต้ (ร้อยละ 70.42) ภาคกลาง (68.55) และกรุงเทพ (ร้อยละ 56.83) ตามลำดับ จะเห็นว่า ความเดือดร้อนมันแพร่กระจายไปทั่วทุกภาคทุกหัวระแหง แล้วกลับเป็นคนกรุงเทพที่ปรับตัวได้รับมือกับโควิด-19 ได้มากที่สุด

ยังมีผลสำรวจอีกมากที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ซึ่งผู้เขียนไม่สามารถเขียนตรงนี้ได้หมด เอาเป็นว่าให้อ่านตรงกันพอเป็นน้ำจิ้ม ใครที่สนใจข้อมูลที่ลึกกว่านี้ หลากมิติกว่านี้ ผู้เขียนขอเชิญลงทะเบียนเข้าร่วมงานสัมมนา “โควิด-19 กับเศรษฐกิจไทย การจ้างงาน และภาคการท่องเที่ยว” ของทางคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้าได้ในวันอังคาร ที่ 14 กรกฎาคม นี้ ดูรายละเอียดได้ที่โปสเตอร์ตามลิ้งค์ econ.nida.ac.th ได้เลยครับ

เสียงสะท้อนความเดือดร้อนคนไทยในวิกฤตโควิด-19