posttoday

ติดตามผลกระทบการระบาดของไวรัสต่อเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน

06 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 30.80-31.20 การเปิดเมืองและการผ่อนปรนด้านการเดินทางจะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาด ขณะที่ความกังวลต่อการระบาดของไวรัสระลอกที่ 2 ยังคงเป็นปัจจัยที่นักลงทุนติดตามสำคัญในเวลานี้ สหราชอาณาจักรจะกลับมาเปิดสถานบันเทิง ร้านอาหาร และโรงแรมตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม ด้านตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ จีนมีกำหนดประกาศอัตราเงินเฟ้อและยอดสินเชื่อซึ่งจะสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายนซึ่งเริ่มมีการระบาดรอบที่ 2 ในจีน ขณะที่ในด้านนโยบายการเงิน ตลาดประเมินว่าธนาคารกลางมาเลเซียจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 25bps มาอยู่ที่ระดับ 1.75% ขณะที่ธนาคารกลางออสเตรเลียจะคงนโยบายการเงินที่ 0.25% ในวันอังคารนี้

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทอ่อนค่าลงตลอดช่วงสัปดาห์สวนทางกับความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยตัวเลขเศรษฐกิจสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องทั่วโลก ทั้งจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ โดย Conference Board เดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นมากที่สุดตั้งแต่ปี 2011 โดยเพิ่มขึ้น 12.2 จุดมาที่ 98.1 ด้านการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 4.8 ล้านตำแหน่ง มากกว่าตัวเลขเดือนก่อนที่ 2.7 ล้านทำให้อัตราการว่างงานปรับลดลงมาที่ 11.1% จาก 13.3% ในเดือนก่อนหน้า ในฝั่งยุโรป ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมยูโรโซนเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นมาที่ 47.4 สูงกว่าตัวเลขเดือนก่อนที่ 46.9 และอัตราการว่างงานยูโรโซนเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาดในเดือนพฤษภาคมเพิ่มขึ้นมาที่ 7.4% จากระดับ 7.3% ในเดือนก่อน สำหรับจีน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรมเดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นมาที่ 51.2 จากเดือนก่อนที่ 50.7 ในด้านของไทย ธปท. รายงานดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเดือนพฤษภาคมเกินดุล 64 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากขาดดุล 654 ล้านดอลลาร์สหรัฐเดือนก่อน ดุลการค้าเกินดุล 3,192 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงกว่าเดือนก่อนที่เกินดุล 2,530 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลต่อเนื่องส่วนหนึ่งจากการสูญเสียรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 จากมาตรการจำกัดการเดินทางเข้าไทย ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ 31.125 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงเคลื่อนไหวทรงตัวอยู่ในกรอบเดิมเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า เนื่องจากตลาดยังคงได้รับผลกระทบจากทั้งปัจจัยบวกและลบ โดยปัจจัยลบยังคงเป็นเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ยอดผู้ติดเชื้อยังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ที่ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อรายวันสูงขึ้นแตะระดับเกิน 50,000 คนต่อวัน ซึ่งคุณแอนโทนี ฟอซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคภูมิแพ้และโรคติดเชื้อแห่งชาติ เตือนว่าสหรัฐฯ อาจติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละ 1 แสนคนหากประชาชนไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งสอดคล้องกับที่องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนว่าการระบาดอาจยังไม่ถึงจุดที่เลวร้ายที่สุดหากนานาประเทศไม่ควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด ขณะที่ปัจจัยบวกมาจากการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาดีกว่าที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้ เริ่มจากยอดขายบ้านที่รอการปิดการขายของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ในเดือนพฤษภาคม ที่ +44.3%MoM จาก -21.8%MoM เดือนก่อน และสูงกว่าตลาดคาดที่ +19.3%MoM ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของยูโรโซนของเดือนมิถุนายนอยู่ในระดับสูงสุดในรอบ 3 เดือนที่ 75.7 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ โดย Conference Board เดือนมิถุนายนปรับเพิ่มขึ้นมากที่สุดตั้งแต่ปี 2011 โดยเพิ่มขึ้น 12.2 จุดมาอยู่ที่ 98.1 และมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ที่ 91.5 ขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม (ISM) เดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นมาที่ 52.6 มากว่าตัวเลขเดือนก่อนและการคาดการณ์ของตลาดที่ 43.1 และ 49.7 ตามลำดับและสุดท้ายตัวการจ้างงานนอกภาคเกษตรสหรัฐฯ เดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้น 4.8 ล้านตำแหน่ง มากกว่าตัวเลขเดือนก่อนและสูงกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ 2.7 ล้านและ 3.23 ล้านตำแหน่งตามลำดับ ส่งผลให้อัตราการว่างงานปรับลดลงมาที่ 11.1% จาก 13.3% ในเดือนก่อนหน้า ซึ่งจะสังเกตว่าจากปัจจัยบวกของการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ออกมาดี ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวสูงขึ้น แต่ท้ายสุดแล้วก็มีแรงเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลจากความกังวลของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้การเคลื่อนไหวยังคงอยู่ในกรอบมาซักระยะหนึ่ง และรอปัจจัยใหม่ที่จะเข้ามาชี้นำทิศทางตลาดในระยะข้างหน้า

ขณะที่ปัจจัยขับเคลื่อนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอยู่ที่การประกาศตารางการประมูลพันธบัตรรัฐบาลในไตรมาสที่ 4 ของปีงบประมาณ 2563 ที่ 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่เป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้ อย่างไรก็ตามมีการพูดถึงแผนการทำธุรกรรมแลกเปลี่ยนพันธบัตร (Bond Switching) วงเงิน 1 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นปัจจัยกดดันให้ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวชันขึ้น โดย ณ วันที่ 4 กรกฎาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.48% 0.46% 0.57% 0.87% 1.10% และ 1.37% ตามลำดับ

ติดตามผลกระทบการระบาดของไวรัสต่อเศรษฐกิจในเดือนมิถุนายน

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 20 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 3,873 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 2,982 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 911 ล้านบาท