posttoday

คุณจะทำอย่างไร..ถ้าโดนเลิกจ้าง

03 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์ Wealth Design โดย... ธัญญา โลหะนันทชัย, CFP ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ผู้วางแผนการลงทุน ฝ่าย Digital Business บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ท่านผู้อ่านหลายท่านคงได้เห็นข่าวสะเทือนใจ ที่องค์การค้าแห่งหนึ่งของรัฐฯ ย่านลาดพร้าวได้ออกประกาศเลิกจ้างพนักงานเกือบพันคน โดยฝ่ายนายจ้างได้ให้เหตุผลว่าองค์กรประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องและขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นทุกปีจนเป็นเหตุให้ต้องปรับองค์กร ทำให้ฝ่ายผู้ถูกเลิกจ้างต่างแสดงความตกใจและเสียใจกับการประกาศดังกล่าว ในขณะเดียวกันที่โรงงานรถยนต์ชื่อดังแห่งหนึ่งในจังหวัดระยองได้ประกาศปิดโรงงานการผลิตในไทย โดยวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ถือเป็นวันทำงานสุดท้าย ส่วนเหตุผลของการยุติกิจการมาจากอัตราการใช้กำลังการผลิตได้ไม่เต็มที่ และคาดว่าความต้องการสินค้าของตลาดในประเทศ และตลาดส่งออกจะน้อยลง

ถ้าหากคุณเป็นคนที่โดนเลิกจ้างในข่าวนี้คุณจะทำอย่างไร?

แน่นอนว่าหากโดนเลิกจ้างแล้วและคุณอยากทำงานหาเงินต่อก็คงต้องไปหางานใหม่ทำ แต่ในยุคนี้การหางานใหม่อาจจะไม่ได้หากันง่ายๆเพราะหลายบริษัทก็ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 จนต้องชะลอการจ้างงานกันไป ดังนั้นระหว่างที่ตกงานแล้วยังหางานไม่ได้คุณจะมีแหล่งเงินเอาไว้ใช้ช่วงรอยต่อจากที่ไหนได้บ้าง

1. ตามกฎหมายแล้วถ้าหากโดนปลดออกจากงาน นายจ้างจะต้องมีการจ่ายค่าชดเชย ซึ่งจำนวนที่จ่ายจะขึ้นอยู่กับค่าจ้างอัตราสุดท้ายและอายุงานดังตารางด้านล่างนี้

2. หากเป็นสมาชิกประกันสังคมก็สามารถไปขอรับสวัสดิการเงินทดแทนระหว่างการว่างงานปีละไม่เกิน 180 วัน ในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง (คำนวณจากฐานเงินสมทบ เช่น ผู้ประกันตนมีเงินเดือนเฉลี่ย 15,000 บาท จะได้รับเดือนละ 7,500 บาท)

3. ติดตามข่าวสารช่วงเวลานั้น ๆ ว่ารัฐบาลมีมาตการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนอะไรบ้าง เช่น มาตการเราไม่ทิ้งกัน ฯลฯ

ถึงแม้ว่าตามกฎหมายจะมีเงินชดเชยให้ หรือประกันสังคมจะมีเงินทดแทนให้ อย่างไรก็ดีในทุกวันที่ชีวิตเราดำเนินไปควรอยู่ในความไม่ประมาททางการเงิน ควรออมเงินเอาไว้บ้างเพื่อเป็นเงินสำรองฉุกเฉิน ซึ่งเป็นการสร้างหลักประกันชั้นดีให้กับตนเองและครอบครัวในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดฝันต่างๆ เช่น ถูกเลิกจ้าง, อยากจะออกจากงานเอง, เจ็บป่วยและต้องใช้เวลาในการรักษานาน หรือบริษัทปิดกระทันหันและไม่มีการจ่ายเงินชดเชย เงินสำรองฉุกเฉินนี้เองจะช่วยทำให้คุณผ่านเวลาที่ยากลำบาก และสามารถยืนหยัดได้ด้วยตัวคุณเอง

“ปริมาณเงินสำรองฉุกเฉินที่แนะนำก็คือ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายทั้งหมดต่อเดือน สมมุติว่าคุณมีค่าใช้จ่ายเช่น ค่าไฟ, ค่าน้ำ, ค่าผ่อนบ้าน, ผ่อนรถ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ต่อเดือนอยูที่ 20,000 บาท คุณก็ควรที่จะมีเงินสำรองฉุกเฉินอยู่ที่ 60,000 ถึง 120,000 บาท”

คำถามคือเงินสำรองฉุกเฉิน 3 เดือนถึง 6 เดือนนี้จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับอะไร? คำตอบว่าจะเก็บจำนวนเท่าไหร่ ก็ขึ้นอยู่กับตัวคุณเองว่าอยากจะสำรองไว้มากขนาดไหน ถ้าหากคุณมั่นใจว่าภายใน 3 เดือนคุณจะสามารถหางานใหม่ได้ ก็สำรองไว้ที่ 3 เดือน แต่ถ้าหากคุณอยากพักผ่อนสักครู่ก่อนแล้วค่อยหางานใหม่ก็สำรองเงินไว้ที่ 3 ถึง 6 เดือน และอีกปัจจัยหนึ่งที่ควรคำนึงถึงไว้ด้วยคือ การดำรงชีวิตของคุณเข้าไปอยู่กับความเสี่ยงมากน้อยขนาดไหน เช่น หากคุณเป็นคนที่ใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ คุณชอบกิจกรรม extreme เล่นสกี ปีนเขา ก็ควรสำรองมากหน่อย

คำถามต่อมา จะเก็บเงินสำรองฉุกเฉินไว้ที่ไหนดี? ผมขอแนะนำให้เก็บออมเงินก้อนนี้อยู่ในกองทุนรวมตราสารเงิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้น เพราะเป็นกองทุนรวมที่สามารถถอนเงินได้ง่ายหรือมีสภาพคล่องสูง, โอกาสขาดทุนน้อย, แต่สามารถให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเงินฝาก ที่แนะนำให้ลงทุนในกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นเพราะเงินก้อนนี้เราไม่รู้ว่าจะได้ใช้เมื่อไหร่ หากเราเลือกลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่อาจทำให้เงินต้นลดลงหรือขาดทุนเป็นจำนวนมากได้ ถ้าถึงเวลาจำเป็นที่จะต้องถอนออกมาใช้แต่ยังขาดทุนอยู่ก็คงลำบากใจอย่างยิ่งถ้าจะต้องขายขาดทุนออกมา ในทางกลับกันหากเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์ถึงเงินจะถอนได้ง่ายแต่ผลตอบแทนในยุคนี้ก็ต่ำมากเช่นกัน

• กองทุนรวมตราสารเงิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ของที่ใดน่าสนใจ? SCBS ได้ศึกษาและเลือกเฟ้นกองทุนรวมที่น่าสนใจเอาไว้มากมายใน Application ที่ชื่อว่า EASY INVEST ซึ่งเป็นแหล่งข้อมูลกองทุนรวมจาก 16 บลจ.ชั้นนำ โดยท่านสามารถเข้าไปศึกษาและลงทุนได้ผ่านลิงค์นี้ครับ http://www.scbs.com/th/easyinvest

• ต้องการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการลงทุนแบบง่ายๆสามารถตามไปอ่านต่อได้ที่ www.facebook.com/SCBS.EasyInvest/