posttoday

สงครามมหากาพย์ระหว่าง จีน - สหรัฐ กับโอกาสในการลงทุน

01 กรกฎาคม 2563

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...มีนา ตุลยนิติกุล ผู้เชี่ยวชาญงานส่งเสริมการลงทุนลูกค้าอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย

จากประเด็นที่สภาประชาชนแห่งชาติจีนออกกฏหมายคุมม็อบในฮ่องกงเมื่อปลาย พ.ค. 2020 ส่งผลให้สหรัฐโต้ตอบด้วยการยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีการนำเข้าสินค้าจากฮ่องกง การรับรองสิทธิต่าง ๆ รวมถึงการรับรองให้ฮ่องกงเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ท่านผู้อ่านสงสัยบ้างไหมว่าสหรัฐเกี่ยวข้องอะไรกับจีนและฮ่องกง และทำไมสหรัฐถึงต้องทำอย่างนั้น?

มหาอำนาจใหม่ (จีน) กำลังท้าทายมหาอำนาจเดิม (สหรัฐ)

30 ปีที่ผ่านมาจีนได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของจีนเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 10% ทำให้ขนาดเศรษฐกิจจีนขยายตัวขึ้น จากเดิมที่มีขนาดเล็กเพียง 1 ใน 10 ของสหรัฐ ขึ้นมาใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกรองจากสหรัฐ ตัวเลขส่งออกจีนในปี 2019 ก็เบียดสหรัฐขึ้นแท่นเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยจีนเกินดุลการค้าโลกมากที่สุดสวนทางสหรัฐที่ขาดดุลการค้าโลกมากที่สุด การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้สหรัฐเริ่มกังวลว่าจีนกำลังจะช่วงชิงความเป็นใหญ่ ยิ่งไปกว่านั้น ฝันร้ายที่สหรัฐกลัวก็เริ่มชัดเจนขึ้นหลังประธานาธิบดีจีน สีจิ้นผิง ได้ประกาศว่า “จีนจะเป็นประเทศอภิมหาอำนาจยิ่งใหญ่ในปี 2049” ท่านคิดว่าสหรัฐจะปล่อยให้จีนชิงความเป็นใหญ่ไปง่าย ๆ หรือไม่?

สงครามระหว่างสองยักษ์ใหญ่ ดีไหมกับการลงทุน

สหรัฐย่อมไม่ปล่อยให้จีนครองความเป็นใหญ่แน่ ๆ สงครามการค้า สหรัฐ-จีน เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสงครามเย็นที่สะท้อนความขัดแย้งและการช่วงชิงความเป็นหนึ่งในทุกด้าน ในช่วงที่ผ่านมาสหรัฐได้มีการขู่ขึ้นภาษีจีนหลายครั้ง แต่ละครั้งก็ทำให้หุ้นปรับตัวลงทั่วโลก จากสถิติระหว่างปี 2018 -2019 ทุกๆครั้งที่ จีน-สหรัฐ ประกาศมาตรการกีดกันการค้าหรือขึ้นภาษี ดัชนีหุ้นทั่วโลกจะปรับตัวลงราว 3-6% ก่อนเด้งกลับทุกรอบ แต่เมื่อทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ ตลาดก็จะปรับตัวขึ้นทำจุดสูงสุดใหม่ทำให้ผู้ที่เข้าซื้อในจังหวะที่หุ้นปรับตัวลงได้กำไร ท่านคิดว่าการที่ทั้งสองประเทศทะเลาะกันแต่ละครั้งเป็นจังหวะที่น่าทยอยเข้าลงทุนหรือไม่?สงครามระหว่างสหรัฐกับจีนจะอยู่กับเราไปอีกนานไหม ความรุนแรงจะมากน้อยเพียงใด

มีความเป็นไปได้ที่สงครามระหว่างสหรัฐกับจีนจะยืดเยื้อยาวนาน และการเผชิญหน้าของทั้งสองฝ่ายอาจดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง เรามองว่าทุกรัฐบาลและทุกพรรคการเมืองของสหรัฐจะต้องมีนโยบายที่ขัดแย้งเพื่อคานอำนาจกับจีน จากผลสำรวจคนสหรัฐราว 60% เห็นด้วยกับการต่อสู้และจะไม่ยอมเสียเปรียบจีน อย่างไรก็ตามคาดว่าทั้งสองฝ่ายไม่น่าจะทำอะไรกันได้มาก เนื่องจากสหรัฐและจีนมีความเชื่อมโยงและพึ่งพิงด้านการค้าและการลงทุนมาก ทำให้การทำลายล้างกันอย่างรุนแรงไม่น่าจะเกิดขึ้นเพราะจะทำให้เกิดความเสียหายรุนแรงทั้งสองฝ่าย เราจึงคาดว่าความขัดแย้งจะมีต่อเนื่องแต่ก็จะมีการเจรจาเพื่อผ่อนปรนเป็นระยะ ๆ เพื่อให้เศรษฐกิจทั้งสองประเทศยังพอที่จะเติบโตได้

กลยุทธ์การลงทุนอย่างไร เมื่อสหรัฐกับจีนมีประเด็นขัดแย้ง

การปรับตัวลงของดัชนีหุ้นทั่วโลกมักเกิดขึ้นเมื่อมีข่าวความขัดแย้งกันของทั้งสองประเทศ และจากการศึกษาสถิติและเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น อาจสรุปได้ว่าการทะเลาะกันระหว่างสหรัฐกับจีนไม่ได้เป็นการต่อสู้ขัดแย้งผลประโยชน์กันอย่างเอาเป็นเอาตาย และสถิติการปรับตัวลงของดัชนีหุ้นทั่วโลกก็อยู่ในระดับ 3-6% ไม่ได้รุนแรงถึงขั้นวิกฤติ เทียบกับวิกฤต COVID-19 ที่ตลาดปรับตัวลงรวดเร็วและรุนแรงถึง 35% ภายใน 1 เดือน ดังนั้นเราจึงมองว่าเมื่อมีประเด็นขัดแย้งระหว่างทั้งสองประเทศจึงเป็นจังหวะที่ดีในการทยอยสะสมกองทุนหรือหุ้นเข้าพอร์ต

ถ้าจะลงทุนปีนี้ สหรัฐกับจีน ประเทศไหนน่าสนใจกว่า

COVID-19 เป็นสถานการณ์ที่แสดงให้เห็นความสามารถในการบริหารจัดการของจีน ที่สามารถเปิดประเทศพร้อมทั้งควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทียบกับสหรัฐที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อรอบสองจากการเร่งเปิดเมือง ทั้งๆที่ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ยังขยายตัวอยู่ จากการที่จีนได้รับผลกระทบของ COVID-19 ที่ต่ำกว่า ในเดือนมิถุนายน 2563 แรงงานจีนได้กลับเข้าทำงานมากกว่า 90% ดัชนี PMI ที่ใช้บ่งชี้สภาวะเศรษฐกิจภาคการผลิตมีการฟื้นตัวกลับมาเหนือ 50 ได้สองเดือนติดต่อกัน (เดือนเมษายน-พฤศภาคม 2563) โดยเรามองว่าเศรษฐกิจจีนได้ผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 1 ไปแล้ว ส่วนเศรษฐกิจของสหรัฐยังน่าเป็นกังวลเนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 อาจมีโอกาสแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นอีกหลังเปิดเมือง

กองทุนที่แนะนำในช่วงสงครามการค้า

จากตลาดที่มีความผันผวนมากขึ้น เป็นโอกาสที่นักลงทุนจะสามารถซื้อสินทรัพย์คุณภาพดีผ่านกองทุนรวมได้ในราคาที่ไม่แพง โดยสามารถทยอยซื้อสะสมกองทุนที่หลากหลายได้ในจังหวะที่ตลาดปรับฐานเพื่อถือลงทุนเพิ่มความมั่งคั่งในระยะยาว เช่น

1) กองทุนหุ้นจีน ซึ่งมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก จากแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯฉบับที่ 14 มีเป้าหมายให้จีนกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วภายในปี 2050 ซึ่งจะเน้น การจ้างงาน การขยายการค้าระหว่างประเทศ การเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในจีน และการทำให้จีนเข้าสู่ระบบดิจิตอลมากขึ้น นักลงทุนสามารถทยอยซื้อเมื่อดัชนีหุ้นจีนปรับฐาน โดยมีเป้าหมายถือเพื่อการลงทุนในระยะยาว

2) กองทุนตราสารหนี้ การลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ที่มีคุณภาพและให้ผลตอบแทนดี จะช่วยลดความผันผวนของพอร์ตการลงทุน และยังมีประโยชน์ในการเป็นที่พักเงินเพื่อรอเข้าลงทุนในช่วงที่ตลาดปรับฐาน

3) กองทุนทองคำ ความไม่แน่นอนในตลาดหุ้นที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ความต้องการถือครองทองคำเพื่อกระจายความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ตามปกติราคาทองคำจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อมีความผันผวนไม่แน่นอนในตลาด

4) กองทุนอสังหาฯ ที่ให้ปันผลดี ในช่วงที่ตลาดปรับฐานลงมาแรง ๆ กองทุนอสังหาอาจมีการปรับตัวลงมาด้วยทั้งๆ ที่สงครามการค้าไม่ได้มีผลกระทบกับกองทุนเท่าไรนัก การที่ราคาของกองทุนรวม (NAV) ปรับตัวลงมา ทำให้มีโอกาสที่นักลงทุนจะได้รับกำไรจากทั้งราคาของกองทุนรวมที่เพิ่มขึ้นและอัตราผลตอบแทนปันผลที่น่าสนใจ

5) กองทุนหุ้นเทคโนโลยี มีแนวโน้มเติบโตดีในอนาคตและได้ประโยชน์จากการแข่งขันกันของ จีน-สหรัฐ เพื่อจะเป็นมหาอำนาจทางด้านเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อประยุกต์ใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จะช่วยให้คุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น