posttoday

คนในวัยจะ 30 ปี ขอเล่าเรื่องผ่านบทความของผู้เขียนในสถานการณ์วันนี้

29 มิถุนายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 26/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

บทความที่ผู้เขียนมานำเสนอ มาจากเด็กผู้หญิงคนหนึ่งที่เติบโตจากชนชั้นกลางในปัจจุบัน เธออายุ 25 ปีกำลังมองไปที่คนอายุ 30 ปี เป็นคนไม่มีหนี้เพราะที่บ้านย้ำจนแทบจะเป็นกฎของครอบครัวว่าถ้าคิดว่าจะมีโอกาสจ่ายหนี้ไม่ได้ ก็อย่ามีหนี้ เธออาศัยในครอบครัวคนจีนชั้นกลาง พ่อทำงานบริษัทระดับบริหาร แต่ก็คือลูกจ้าง แม่ทำงานค้าขายเล็กๆ ลูกจ้างคนเดียว มีพี่น้องอีก 2 คน ต่างอยู่ในวัยทำงาน มีแม่บ้านเป็นคนอีสานที่เลี้ยงดูเธอและน้องๆ มากว่า 20 ปี มีน้องหมาอีก? 7 ตัวที่เก็บมาเลี้ยง มีที่ตาบอด มีที่ขาหลังเสียเนื่องจากอุบัติเหตุ อายุมากสุดก็ 12 ปี มีบ้านอยู่ร่วมกัน และในวัยของผู้นำครอบครัวตอนที่อายุ 57 ปี ได้จ่ายชำระปิดบัญชีหนี้สินทุกประเภทจนหมดสิ้นแล้ว แน่นอนว่ามีเงินจำนวนหนึ่งที่จะรองรับหลังเกษียณแต่มันไม่ได้มากพอหากวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน และในอนาคตมันเริ่มถี่ขึ้นเรื่อยๆ ความในใจของคนอายุ 25 ปีที่พยายามมองไปในอีก 5 ปี และตั้งคำถามดังนี้

คุณเคยคิดว่าอายุ 30 ปี คนเราต้องมีทุกอย่างหรือไม่ มีงานมั่นคง มีบ้าน มีรถ มีงานแต่งงาน แต่พอคุณโตขึ้นมาก็เข้าใจว่าแค่มีชีวิตอยู่บางครั้งยังยากเลย

แล้ววันหนึ่งพ่อกับแม่คุณก็แก่ตัวลง คนรอบๆ ตัวคุณค่อยๆหาย ถ้าไม่จากเป็นก็จากตายเพื่อนของคุณน้อยลงเหมือนกับผมที่ค่อยๆ บางลง คุณปลงกับเรื่องความสัมพันธ์มาสักพัก คุณจะรักใครได้ในเมื่อตัวเองยังดูแลแทบไม่ไหว (ในจุดนี้ ผู้เขียนคิดว่าภาระทางการเงินที่จะต้องมีจากความฝันของคนสองคนมันอาจเกินกำลังของพวกเขา จนเลือกที่จะหยุดความสัมพันธ์ จะได้ไม่พังกันทั้งสองฝ่าย)

ร่างกายของคุณเรียกร้องให้คุณกลับมาดูแลมันบ้าง หมอบอกว่าอย่ากินปลาหมึกกับกุ้งบ่อยๆ ชาบูก็ให้เบาลง ชานมไข่มุกก็เหมือนกัน พยายามมาวิ่งบ้าง แต่พอเดินออกจากโรงพยาบาลคุณสั่งยำมาม่าทะเล เพราะมันทำให้คุณมีความสุขในการใช้ชีวิต

คุณเต้นหรืออยู่ดึกทั้งคืนกับเพื่อนต่อไปไม่ไหว หรือไม่คุณก็เลิกกินเลิกเที่ยวมานั่งอยู่บ้านคนเดียวเงียบๆ กวาดใบไม้ เก็บขี้หมาขี้แมว เปิดเครื่องกรองอากาศหายใจเพราะอากาศในกรุงเทพฯ มันสุดแสนจะเต็ม ไปด้วยฝุ่น PM 2.5

คุณซึ้งถึงคำว่าต้นทุนชีวิตคนไม่เท่ากัน ก็ตอนที่เพื่อนกลับไปบริหารธุรกิจรับช่วงต่อของที่บ้าน ในขณะที่คุณไม่มีอะไรให้บริหารนอกจากพยายาม บริหารเงินแต่ละเดือนของตัวเองให้พอใช้ (ให้ได้ ย้ำว่าต้องทำให้ได้)

พ่อของคุณบอกว่าคนรุ่นใหม่ลำบากที่ต้องมีสกิล (skill set) หลายแบบ ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาและหาเงินจากหลายช่องทาง อาชีพที่สองต้องมี เพราะมันคือ New Normal ในเรื่องความมั่นคงของชีวิตแนนอนของคนระหว่างและหลัง COVID-19 เหตุเพราะระบบและรูปแบบการทำธุรกิจ การจ้างงานการซื้อขายของทุกอย่างที่เห็นไม่ได้เป็นของตายอีกต่อไป

คุณเป็นคนชนชั้นกลางในระบบชนชั้นที่มันถี่ยิบย่อย ค่อยๆ หาเงินมาให้ตัวเองใช้ หามาให้คนใกล้ชิดได้บ้าง เบียดเสียดกันไปทำงานในแต่ละวันผ่านระบบขนส่งสาธารณะที่ค่อนข้างแพง พยายามแทบตายที่ต้องไปให้ทันเวลาตอกบัตร

เสียภาษีถูกต้องตามกฎหมายเพราะถูกหัก ณ ที่จ่ายเต็มเม็ดเต็มหน่วย พยายามหารายได้จากหลายๆ ช่องทางอย่างที่พ่อคุณบอกแต่คุณก็เหนื่อยเหลือเกิน เหนื่อยจนไม่แปลกใจที่เพื่อนคนแล้วคนเล่าบอกคุณว่า เขาไปหาหมอปรึกษา ไปหานักจิตวิทยามาและกำลังรู้สึกหดหู่ใจจนกลัวจะเป็นโรคซึมเศร้า

บางครั้งคุณเดินเตร่ในห้างใหญ่ ซื้ออะไรไม่รู้ แค่ซื้อเพื่อให้รู้สึกเป็นเจ้าของบางอย่าง "คุณหัวเราะขื่นๆตอนมีคนบอกว่า เราหาเงินมาซื้อครีมทาหน้า แล้วก็กลับไปทำงานหนักเพื่อหาครีมมาทาหน้าอีกที" เพราะคุณคุมอย่างปัจจัยอื่นในชีวิตไม่ได้

คุณทำให้ฟุตบาท (footpath) เลิกน้ำกระเซ็นใส่ไม่ได้ คุณทำให้ระบบขนส่งมวลชนดีขึ้นไม่ได้ คุณอยากช่วยคนอื่น แต่แค่ตัวเองยังไม่รอดเลย

คุณทำได้แค่ทำหน้าที่ตัวเอง ถอนหายใจ รอและหวังให้อนาคตเปลี่ยนผ่านไปสู่สิ่งใหม่ตื่นขึ้นและลุกไปเผชิญรถติดอีกครั้ง

คำถามที่รอคำตอบสำหรับคนที่มีอายุมากกว่าซึ่งเวลานี้กำลังคิดหานโยบายสาธารณะมาแก้ปัญหาวิกฤติสาธารณสุข วิกฤติทางธุรกิจ วิกฤติเศรษฐกิจ และอาจจะกำลังลามไปวิกฤติระบบสถาบันการเงินในช่วงเวลาอีก 150 วันอันตราย

คนวัยที่บอกกับคนหนุ่มสาวว่าตนเองนั้นมากประสบการณ์ ท่านที่กำลังแก่งแย่งอำนาจในการจัดสรรและกระจายทรัพยากรของประเทศ ผ่านระบบประชาธิปไตยผ่านตัวแทน ท่านทั้งหลายมีคำตอบให้กับ เด็ก(ในสายตาท่าน)ในวันนี้ คือผู้ใหญ่ในวันหน้าแล้วหรือยัง ถ้าที่อยู่ยังทำไม่ได้ และที่จะมาใหม่ถูกบอกว่าทำไม่เป็น เราๆ ท่านๆ จะมีคำตอบกับน้องผู้หญิงคนนี้ได้อย่างไร ทั้งที่เขาขอแค่เรื่องฟุตบาท (footpath) การขนส่ง และความเหลื่อมล้ำ ที่มีมาตั้งแต่เราๆ ท่านๆ ยังเป็นเด็กน้อยแบบพวกเขา