posttoday

ติดตามความเสี่ยงการระบาดของไวรัสระลอกสอง

29 มิถุนายน 2563

สำหรับ คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 30.70-31.20 นักลงทุนยังคงติดตามสถานการณ์การกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสในสหรัฐฯ และยุโรปที่รุนแรงมากขึ้นจนทำให้เกิดความกังวลการกลับมาปิดเมือง โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันให้เกิดความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยสูงขึ้น สำหรับแนวโน้มการผ่อนคลายนโยบายการเงินของสหรัฐฯ นั้น ตลาดติดตามบันทึกจากการประชุมนโยบายการเงินของเฟด และแถลงการณ์จากประธานเฟด นายเจอร์โรม โพเวลและสมาชิกเฟดในสัปดาห์นี้ โดยการส่งสัญญาณอัดฉีดสภาพคล่องต่อเนื่องจะช่วยลดแรงกดดันของตลาดหากเกิดการระบาดรุนแรงระลอกสองในสหรัฐฯ

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 30.80-31.00 โดยมีเคลื่อนไหวตามปัจจัยจากทั้งต่างประเทศ ในช่วงต้นสัปดาห์ เงินบาททรงตัวเนื่องจากนักลงทุนรอติดตามผลการประชุมนโยบายการเงินของไทยในช่วงกลางสัปดาห์ ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เสนอให้ธนาคารพาณิชย์จัดทำ Stress test โดยคำนึงถึงปัจจัยผลกระทบของการระบาดไวรัสและรายงานในเดือนหน้า โดยธนาคารพาณิชย์ต้องเตรียมพร้อมกับความไม่แน่นอนในช่วง 1-3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ หากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) อยู่ที่ต่ำกว่า 11.5% จะต้องเพิ่มสภาพคล่อง ทั้งนี้ CAR โดยรวมอยู่ที่ 18.7% นอกจากนี้ ธปท. ยังรายงานว่ามีลูกหนี้เข้าร่วมโครงการพักหนี้ 3-6 เดือนและขยายเวลาผ่อนชำระตั้งแต่มีนาคมมีทั้งสิ้น 15.11 ล้านคน รวมยอดหนี้ 6.68 ล้านล้านบาท ซึ่งจะสิ้นสุดในช่วงมิถุนายน-สิงหาคมนี้ ธปท. จึงสั่งให้สถาบันการเงินลดเพดานดอกเบี้ย 2%-4% ต่อปีมีผล 1 สิงหาคมนี้

เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นในช่วงกลางสัปดาห์สอดคล้องกับทิศทางของค่าเงินเอเชียสกุลอื่น แม้ว่าตัวเลขส่งออกไทยตามระบบศุลกากรเดือนพฤษภาคมหดตัวมากที่สุดตั้งแต่กรกรฎาคม 2009 ที่ -22.5%YoY เมื่อไม่รวมทองคำ การส่งออกหดตัวมากขึ้นเป็น -27.8%YoY ขณะที่ผลการประชุม กนง. ที่คงดอกเบี้ยนโยบายเป็นไปตามที่ตลาดคาดไว้ โดย ธปท. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% เนื่องจากมองว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินตั้งแต่ต้นปี และนโยบายการคลังปัจจุบันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้หดตัวถึง 8.1% (เดิมคาด -5.3%) โดยประเมินการบริโภคและลงทุนภาคเอกชนหดตัว 3.6% และ 13% ตามลำดับ รวมทั้งการระบาดของไวรัสส่งผลกระทบรุนแรงต่อการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวของไทย ในปีหน้า ธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวที่ 5.0%

เงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์เนื่องจากอุปสงค์ต่อเงินดอลลาร์ปรับสูงขึ้นตามความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการระบาดของไวรัสที่อาจส่งผลให้รัฐต่างๆ ต้องกลับมาปิดเมืองอีกครั้ง ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2020 มาที่ -4.9% จากประมาณการเดิมที่ -3.0% และปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2021 มาที่ 5.4% จากเดิมที่ 5.8% โดยไอเอ็มเอฟประเมินว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มหดตัว 8% และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะหดตัว 3.0% ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ 30.923 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักปรับตัวลดลงตามประเด็นของความกังวลต่อการระบาดรอบที่ 2 ของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ ปรับตัวพุ่งสูงขึ้น จนเริ่มมีความกังวลต่อความสามารถในการรับผู้ป่วยในอนาคต รวมถึงผลกระทบที่อาจทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต้องล่าช้าออกไปหากมีการกลับมาปิดเมืองอีกครั้ง ขณะเดียวกันกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้ออกมาปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2020 มาอยู่ที่ -4.9% จากประมาณการเดิมที่ -3.0% และปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจปี 2021 มาอยู่ที่ 5.4% จากเดิมที่ 5.8% โดยไอเอ็มเอฟประเมินว่ากลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มหดตัว 8% และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะหดตัว 3% นอกจากนี้ยังมีความเคลื่อนไหวของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ที่ออกกฎห้ามธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่เพิ่มการจ่ายเงินปันผลหรือซื้อคืนหุ้นอย่างน้อยจนถึงสิ้นไตรมาสที่สาม ส่วนธนาคารกลางยุโรปก็ประกาศมาตรการให้สภาพคล่องเงินยูโรกับธนาคารกลางนอกยูโรโซน (EUREP) โดยจะเป็นการให้สภาพคล่องโดยใช้พันธบัตรรัฐบาลยูโรโซนหรือตราสารหนี้ของสถาบันการเงินระหว่างประเทศของสกุลยูโรค้ำประกัน โดยมาตรการดังกล่าวจะมีระยะเวลาถึงมิถุนายน 2021 ซึ่งการเคลื่อนไหวของธนาคารกลางทั้ง 2 แห่งแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในระบบเศรษฐกิจที่ยังคงมีอยู่สูงในระยะข้างหน้าและจุดยืนที่ธนาคารกลางพร้อมที่จะเข้ามาดูแลหากมีความจำเป็น

ขณะที่ประเด็นสำคัญในประเทศอยู่ที่ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% โดยคณะกรรมการมองว่าการผ่อนคลายนโยบายการเงินตั้งแต่ต้นปี และการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านนโยบายการคลังในปัจจุบันจะเป็นปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ พร้อมกันนี้ทางธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะหดตัวถึง 8.1% จากเดิมคาดการณ์ไว้ที่ -5.3% ขณะที่ในปีหน้าธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวที่ 5.0% นอกจากนี้มีการประกาศตัวเลขการส่งออกไทยเดือนพฤษภาคมหดตัวสูงถึง 22.5%YoY จากเดือนก่อนที่ขยายตัว 2.12% และหากไม่นับรวมทองคำการส่งออกหดตัวสูงถึง 27.82%YoY ด้วยเหตุนี้จึงเห็นการปรับตัวของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยมีความชันลดลง กล่าวคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นทรงตัวใกล้เคียงระดับเดิมจากสัปดาห์ก่อนหน้าสะท้อนการคงดอกเบี้ยของธปท. ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันบัตรระยะยาวปรับตัวลดลงสะท้อนความเสี่ยงของเศรษฐกิจที่ยังมีอยู่สูงในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ทำให้ ณ วันที่ 26 มิถุนายน 2563

ติดตามความเสี่ยงการระบาดของไวรัสระลอกสอง

อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.48% 0.46% 0.57% 0.82% 1.03% และ 1.27% ตามลำดับ กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 4,756 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 888 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 4,570 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 8,438 ล้านบาท