posttoday

ตลาดรอติดตามสถานการณ์การกลับมาแพร่ระบาดของไวรัส

22 มิถุนายน 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 30.70-31.20 นักลงทุนรอติดตามสถานการณ์การกลับมาแพร่ระบาดของไวรัสในสหรัฐฯ และจีน ในสัปดาห์นี้ ตลาดจะรอติดจามการประชุมนโยบายการเงินของไทย โดยประเมินว่าธนาคารแห่งประเทศไทยมีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.50% แต่ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจของไทยลงจากผลกระทบของไวรัส ด้านธนาคารกลางนิวซีแลนด์และธนาคารกลางฟิลิปปินส์มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ ตลาดรอติดตามตัวเลขการส่งออกของไทยและเกาหลีที่มีกำหนดประกาศในสัปดาห์นี้เพื่อประเมินทิศทางอุปสงค์ของโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบแคบ 30.90-31.20 โดยมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นสำคัญ ในช่วงต้นสัปดาห์ เงินบาทอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากตลาดรับข่าวการระบาดของไวรัสเป็นกลุ่มก้อนในตลาดซินฟาตี้ของกรุงปักกิ่งและสถานบันเทิงย่านชินจุกุในกรุงโตเกียว ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มขึ้นมากอีกครั้งเช่นกัน โดยเฉพาะในรัฐเท็กซัสและฟลอริดา ทำให้ตลาดกังวลต่อการระบาดรอบที่สองทั่วโลก และต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

อย่างไรก็ตาม เงินดอลลาร์กลับมาอ่อนค่าลง เมื่อตลาดรับข่าวการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมอีกครั้งของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ด้วยการขยายมาตรการ Second Market Corporate Credit Facility (SMCCF) ให้ครอบคลุมการซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนอายุกำหนดไถ่ถอนไม่เกิน 5 ปี และมีอันดับความน่าเชื่อถือขั้นต่ำที่ BBB-/Baa3 ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นผ่อนคลายนโยบายการเงินเช่นกัน ด้วยการขยายขนาดมาตรการสินเชื่อจาก 55 ล้านล้านเยนมาอยู่ที่ 90 ล้านล้านเยน ทำให้ขนาดมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่องภาคเอกชนโดยรวมเพิ่มขึ้นเป็น 110 ล้านล้านเยน สอดคล้องกับธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) เพิ่มขนาดการเข้าซื้อสินทรัพย์ (Asset Purchase Facility) 1 แสนล้านปอนด์ตามที่ตลาดคาด ส่งผลให้เป้าการซื้อสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 7.45 แสนล้านปอนด์ โดยเป็นการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหราชอาณาจักร

ธนาคารกลางในเอเชียอื่นๆ ผ่อนคลายนโยบายการเงินเช่นกัน ธนาคารกลางจีนลดอัตราดอกเบี้ยธุรกรรมซื้อคืนพันธบัตร (reverse repo rate) ระยะ 14 วันลงเป็นครั้งที่สองในปีนี้ โดยลดลงมาอยู่ที่ 2.35% จาก 2.55% หลังจากปรับลด 20 bps ในเดือนมีนาคม ซึ่งจะเพิ่มสภาพคล่องในตลาด 1.2 แสนล้านหยวนเพื่อให้ตลาดการเงินมีสภาพคล่องเพียงพอ และธนาคารกลางอินโดนีเซียลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือนที่ 25bps มาอยู่ที่ 4.25% ซึ่งเป็นการลดดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในปีนี้ ธนาคารกลางส่งสัญญาณความเป็นไปได้ที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินต่อให้สอดคล้องแนวโน้มเงินเฟ้อที่ต่ำลง ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ 31.00 (วันศุกร์ เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเคลื่อนไหวทรงตัวใกล้เคียงกับระดับเดิมก่อนหน้า โดยปัจจัยด้านที่สนับสนุนตลาดพันธบัตรรัฐบาลยังคงเป็นเรื่องความกังวลต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่สอง ในปักกิ่งประเทศจีนและโตเกียวประเทศญี่ปุ่น ซึ่งยอดผู้ติดเชื้อรอบใหม่ในจีนจนถึงวันศุกร์ที่ 19 มิ.ย. 63 รวมทั้งสิ้น 183 คน ทำให้ทางการจีนต้องยกระดับมาตรการควบคุมการระบาดรอบสองในปักกิ่ง โดยจีนยกเลิกเที่ยวบินและปิดโรงเรียน รวมทั้ง ห้ามไม่ให้โดยสารรถแท็กซี่เข้าออกปักกิ่ง

ขณะที่สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อในสหรัฐฯ กลับมาเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่ประกาศออกมาดีกว่าคาดการณ์เป็นปัจจัยกดดันตลาดพันธบัตร โดยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ โดยมหาวิทยาลัยมิชิแกนเพิ่มขึ้นมากที่สุดตั้งแต่ปี 2016 ในเดือนมิถุนายน โดยดัชนีฯ เบื้องต้นปรับเพิ่มสูงขึ้นที่ระดับ 78.9 จากเดือนก่อนที่ 72.3 และมากกว่าที่ตลาดคาดที่ 75.0 ด้วย ขณะที่ดัชนีการผลิตรัฐนิวยอร์กเดือนมิถุนายนฟื้นตัวหลังจากที่ลดลงไปแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงสองเดือนก่อนหน้า โดยดัชนีฯ เดือนมิถุนายนเพิ่มขึ้นมาที่ -0.2 จากเดือนก่อนที่ -48.5 และมากกว่าการคาดการณ์ของตลาดที่ -30.0 โดยระดับของดัชนีฯ ใกล้ศูนย์สะท้อนว่าการผลิตทรงตัว นอกจากนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ได้มีประกาศขยายมาตรการซื้อสินทรัพย์ให้รวมการเข้าซื้อหุ้นกู้ภาคเอกชนภายใต้มาตรการ Second Market Corporate Credit Facility (SMCCF) ในวันที่ 16 มิ.ย. 63 โดยเฟดจะเข้าซื้อหุ้นกู้ตามน้ำหนักอ้างอิงจากดัชนีที่เฟดกำหนด อาทิ เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ มีอายุกำหนดไถ่ถอนไม่เกิน 5 ปี และบริษัทที่ออกหุ้นกู้ต้องมีอันดับความน่าเชื่อถือขั้นต่ำที่ BBB-/Baa3 ณ วันที่ 22 มีนาคม ทั้งนี้มาตรการดังกล่าวจะช่วยเสริมกับการเข้าซื้อ Exchange-traded fund (ETF) ที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้ ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดรองให้กับภาคธุรกิจ โดยภาคหลังจากการประกาศ credit spread ของหุ้นกู้สหรัฐฯยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลง อย่างไรก็ตามเราคาดว่าในระยะยาวมาตรการนี้จะช่วยทำให้ credit spread ของหุ้นกู้ปรับตัวแคบลง อันจะเห็นได้จากช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา credit spread ของหุ้นกู้สหรัฐปรับตัวลดลงจากแรงสนับสนุนผ่านการเข้าซื้อ ETF มาแล้ว

สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของไทยเคลื่อนไหวโดยที่เส้นอัตราผลตอบแทนปรับตัวโดยมีความชันสูงขึ้น กล่าวคืออัตราผลตอบแทนระยะสั้นปรับตัวลดลง ขณะที่อัตราผลตอบแทนระยะยาวปรับตัวสูงขึ้นโดย ณ วันที่ 19 มิถุนายน 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.49% 0.53% 0.63% 0.89% 1.10% และ 1.34% ตามลำดับ ขณะที่ประเด็นสำคัญในสัปดาห์นี้คือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของไทยในวันที่ 24 มิ.ย. 63 นี้ ซึ่งตลาดคาดการณ์ว่าธปท. น่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50%

ตลาดรอติดตามสถานการณ์การกลับมาแพร่ระบาดของไวรัส

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 8,103 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 5,895 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 13,998 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ