posttoday

ถามมาตอบไปของผู้คนที่พยายาม...เรื่องสินเชื่อ

22 มิถุนายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 25/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

คำถาม : เครดิตบูโรมีสินเชื่อ แยกย่อย เช่น บัตรเครดิต สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ ถ้าสถาบันการเงินไหน ประกอบการสินเชื่อประเภทใด เวลาสถาบันการเงินมาเช็กเครดิตบูโรเพื่อพิจารณา ก็ควรเช็กเครดิตประเภทที่ตัวเองปล่อยสินเชื่ออยู่ นั้นๆ เท่านั้น จะมาเช็กเครดิตทุกประเภทที่มีอยู่ แล้ว เหมารวมๆ ว่าไม่ผ่าน อันนี้ไม่ต้องให้กู้เลยดีกว่าไหม

คำตอบ : เรียนพี่ด้วยความเคารพอย่างนี้ สถาบันการเงินทำตามกฎกติกาที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดในเรื่องการบริหารความเสี่ยง เรื่องนโยบายเครดิต เขาจำต้องรู้ว่าคนมายื่นขอกู้มีรายได้เท่าใด และมีหนี้ทั้งหมดกี่มากน้อย เป็นหนี้อะไรบ้าง ผ่อนไหวไหมในแต่ละเดือน ยกตัวอย่าง มีคนมายื่นขอกู้พี่ไปซื้อบ้าน เวลาพี่จะพิจารณา พี่อยากรู้ไหมว่า เขามีหนี้อะไรบ้าง พี่คงต้องอยากรู้หนี้ทั้งหมดใช่ไหมล่ะเพราะเงินของพี่ พี่ต้องปกป้องความเสี่ยง พี่คงไม่อยากรู้แค่ว่าเขามีหนี้บ้านที่อื่นหรือไม่อย่างเดียวเพราะถ้าเขาไม่มีหนี้บ้าน แต่ดันมีหนี้รถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ มีหนี้บัตรเครดิต ใจคอพี่จะไม่คิดจะดูเลยหรือ พี่จะใจถึงพึ่งได้ให้กู้แบบข้อมูลไม่ครบหรือไม่ ถ้าเงินนั้นเป็นเงินของพี่เอง หรือของแฟนพี่ หรือของครอบครัวพี่ ผมไม่ก้าวล่วงความคิดพี่แต่ขอให้เป็นข้อมูลนะครับ

คำถาม : แสดงว่าเมื่อก่อนที่ยังไม่มี บริษัทข้อมูลเครดิต ใช้หลักการอะไรในการปล่อยสินเชื่อครับเท่าที่อ่านดูเสมือนบริษัทข้อมูลเครดิต เอื้ออำนวยต่อสถาบันการเงิน

คำตอบ : ก่อนปี 2540 ก็ใช้หลักการตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยในสมัยนั้น แต่อาจมีความเข้มข้นน้อยกว่า ระบบปฏิบัติการระบบข้อมูล ระบบคอมพิวเตอร์อาจไม่ทันสมัย ทุกประเทศในแถบเอเชีย เริ่มมีบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) หลังปี 2540 ครับ

ส่วนที่บอกว่าเครดิตบูโรเอื้อสถาบันการเงินนั้นขอเรียนว่าแล้วแต่ความคิดของคนครับ คนที่ได้สินเชื่อก็อาจบอกว่าดี เอื้อพวกเขา เพราะประวัติเขาไม่ด่างพร้อย แบงก์ปล่อยกู้ได้เยอะได้มาก ส่วนคนที่ไม่ได้สินเชื่อก็คิดอีกแบบ บางทีถึงขั้นเกลียดเลย ส่วนคนที่ไม่ชอบมีหนี้ก็จะเฉยๆ ส่วนถ้าเป็นพระสงฆ์ก็อาจบอกไม่รู้จัก นานาจิตตังครับ เอาตัวเราเป็นที่ตั้งอาจจะคลาดเคลื่อนได้ครับ

เราทำหน้าที่ปกป้องคนฝากเงินครับ คนฝากเงินเอาเงินไปให้แบงก์นำไปปล่อยสินเชื่อ แบงก์ควรมีข้อมูลที่มากพอในการตัดสินใจ เพราะถ้าไม่มากพอเหมือนก่อนปี 2540 ก็จะเกิดปัญหาได้ ยืนยันครับว่าเราอยู่ข้างคนที่ฝากเงิน

คนให้กู้กับคนขอกู้ เป็นธุรกรรมที่ตกลงกันเอง เราไม่เกี่ยวครับ ตัวอย่างชัดๆ คือ เราเป็นสมุดพก คนไปสมัครงาน กับคนเป็นนายจ้าง เขาดูสมุดพกจะจ้างไม่จ้าง คนทำสมุดพกตามที่กฎหมายกำหนดให้ทำ ไม่เข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจครับ เรียนพี่ด้วยข้อมูลอย่างนี้ บางจุดอาจเห็นต่างก็แล้วแต่มุมมองครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายตรงข้ามกันเสมอไปครับพี่

คำถาม : ถ้าเป็นการปกป้องคนที่ฝากเงินก็ดีครับ แต่สุดท้าย เมื่อมีคนที่มีประวัติเสียทางเครดิตบูโรเป็นจำนวนมาก รัฐบาลก็ออกกฎหมาย ลบประวัติออก เป็นเสมือน เครดิตบูโรนี่แหละคือปัญหาทาง สังคมและเศรษฐกิจ ผมจึงบอกว่าน่าจะสมควรแก้ไข เงื่อนไขบางอย่างในการโชว์ประวัติทางเครดิตบูโร

คำตอบ : เรื่องการออกกฎหมายมาลบประวัตินั้นอาจจะมีในอนาคตครับ ขึ้นอยู่กับการชั่งน้ำหนักของคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ทางเครดิตบูโรไม่มีประเด็น สั่งมาก็ทำได้เสมอ ที่ผ่านกรณีน้ำท่วมใหญ่ วิกฤติ subprime หรือแม้แต่ COVID-19 สิ่งที่ทั่วโลกทำมากที่สุดในการรักษาประวัติคือ กำหนดว่าถ้าลูกหนี้เข้าโครงการพักชำระหนี้ในรูปแบบต่างๆ แล้ว ยังคงให้รายงานว่าเป็นลูกหนี้ปกติเช่นกรณีในประเทศไทยครับ

การเป็นหนี้ เป็นได้ ไม่ใช่บาป การเป็นหนี้คือการบริหาร เป็นหนี้ต้องใช้หนี้ สัญญาต้องเป็นสัญญา มีปัญหาต้องแก้ไข ไม่ใช่แก้ตัว หนี้ใครก่อ คนนั้นต้องรับผิดชอบครับ กฎหมายเครดิตบูโรมีการแก้ไขมาเป็นระยะ การแก้ไขทุกครั้งจะมีคนได้และเสีย เพราะมันคือสมุดพกเก็บข้อมูลพฤติกรรมการก่อหนี้และการชำระหนี้ พฤติกรรมมีทั้งพึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ครับ เหมือนใบเกรด เวลาได้เกรด C ถ้าจะไปสมัครงานเราคงนึกกลัว คิดได้คงอยากกลับไปแก้เกรด แต่ถ้าเราเป็น start up เราคงไม่สน ถ้าเราสำเร็จ เราอาจบอกว่าเป็นเพราะเรียนได้ C ฉันจึงมีวันนี้ เพราะเก่งเอง

ท้ายที่สุด ถ้าไม่ไปเอาเงินคนอื่นมากิน มาใช้ มาลงทุน อยู่แบบคนรุ่นพ่อแม่เรา ใช้เงินสด ไม่ใช้บัตรเดบิต ไม่เล่นเก็งกำไรหุ้น ตลาดอนาคต มันก็ยังอยู่ได้ เลี้ยงพวกเรามาได้...

ไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐครับ ขอบคุณครับที่เปิดใจแลกเปลี่ยน ไม่มีคำถามต่อมา...จบการสนทนา