posttoday

กิจกรรมของภาครัฐในช่วงเวลาที่ยากลำบาก (ในฐานะคนที่มีเงิน)

15 มิถุนายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 24/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

ผู้เขียนได้เฝ้าติดตามมาตรการต่างๆ ที่หน่วยงาน องค์กร องค์การ ของภาครัฐได้ดำเนินการออกมาตลอดช่วงเวลาไตรมาส 1/2563 ต่อเนื่องจนจะมาถึงเดือนมิถุนายนซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของไตรมาส 2/2563 แล้ว ในมาตรการต่างๆ ที่ออกมาเป็นภาษาราชการ จนอาจลืมไปว่าในแต่ละชุดของมาตรการที่พยายามสื่อแบบทางการเมืองนั้นอาจไม่โดน ถ้าเราลองพูดกับชาวบ้านแบบเป็นภาษาง่ายๆ ผู้เขียนคิดว่าอาจทำให้เกิดความเข้าใจกับประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้ดียิ่งขึ้นดังนี้

1. โครงการเงินแจกเอาไปกินเพื่อกันตาย โครงการนี้เน้นคนไม่มีจะกิน คนยากจนคนด้อยโอกาส มันคือเงินแจกเพื่อประทังชีวิตให้ยืนอยู่ต่อไป คนที่มีกินมีใช้ก็ไม่ควรมาแย่งเพียงเพราะอ้างว่าเป็นสิทธิ จริงๆ ก่อนกระจายเงินควรทำพิธีแช่งชักหักกระดูกไอ้พวกที่คอยจะหาโอกาสเอาเงินไปใช้ แบบว่าอย่าได้เจริญงอกงามในชีวิต ให้มีโรคภัยไข้เจ็บจนตาย อะไรประมาณนั้น

2. เงินชดเชย อันนี้มันคือเงินที่แจกให้บนเงื่อนไข ให้คนที่ถูกบังคับให้หยุดการทำงาน หยุดการหากิน หยุดการขาย หยุดการให้บริการ เพราะภาครัฐท่านสั่งให้หยุด มือเท้ายังอยู่ครบ ทำงานได้ แต่ภาครัฐบอกให้อยู่บ้าน เพื่อป้องกันการไปรับเชื้อแล้วระบาดต่อๆ กันไป เงินชดเชยนี้มีระยะเวลาที่จะต้องหยุดชดเชย การคัดกรองต้องมีว่าใครควรได้การชดเชย ใครไม่ควรได้การชดเชย

3. เงินกู้ Soft Loan หรือเงินกู้ดอกเบี้ยถูกมากๆ โครงการนี้มีไว้เพื่อคนค้าขาย คนตัวเล็กที่เป็นลูกหนี้ที่ดีมาตลอด แต่พอมาเจอผลกระทบจาก COVID-19 ยอดขายหายไป กำไรไม่มี เกิดสะดุดชั่วคราว แต่ค่าจ้างลูกจ้างยังต้องแบก ค่าเช่าสถานที่หรือทำเลที่ตั้งมันยังต้องจ่าย เงินหมุนเวียนตรงนี้ต้องเอาเงินกู้ดอกเบี้ยถูกมากๆ ถูกเอามาเติมเพื่อจ่ายไปพลางก่อน เงินกู้คือเงินกู้ หลักคนให้เงินกู้คือ ต้องจัดเงินให้พอใช้ ต้องกำหนดชำระให้มีเหตุผล ลูกค้าดีที่ลำบากต้องได้ก่อน แต่ในความเป็นจริงนั้นด้วยความกลัวบวกความไม่เคยปล่อยกู้  คิดเอง เออเอง แถมกลัวว่าจะเป็นภาระมาชดเชยหนี้เสียเยอะในวันหลัง พอนำเสนอออกมาเลยกลายเป็นของดูเหมือนดี ดมได้กลิ่นหอม แต่กินให้หายหิวไม่ได้ ติดโน่นนี่เยอะไปหมด สงสัยว่าลึกๆ แล้วคนออกแบบโครงการคงคิดว่าเป้าหมายคือ "ถ้ามีคนมาใช้น้อยคือสำเร็จ บรรลุเป้าหมาย เพราะคนไม่มาใช้เงินกู้ดอกเบี้ยถูกมากๆ แต่ดันไปใช้เงินกู้ดอกเบี้ยแบบธรรมดา ภาระสถาบันการเงินจะได้น้อย" เรื่องจริงมันเลยตีลังกากลับหัวอย่างที่เห็น

4. เงินกู้ 400,000 ล้านบาท มีเป้าหมายเอามาเป็นเงินจ้างมีไว้เพื่อสร้างงาน ดังนั้นเงินกู้ 400,000 ล้านบาท ควรเน้นปล่อยเพื่อจ้างงาน ย้ำว่าไม่ใช่สร้างผลงาน ไม่งั้นเราจะมีศาลาริมทางสู้ COVID-19 ถนนลาดยางสู้ COVID-19 ฝายทดน้ำสู้ COVID-19 ศูนย์การเรียนรู้สู้ COVID-19 สนามกีฬาสู้ COVID-19 คือมันจะเอาโครงการที่รู้ๆ กันว่าจบที่เงินรับเหมามาใส่ต่อท้ายว่า สู้ COVID-19 แล้วเสนอขอใช้เงินกู้ งานนี้ผู้เขียนขอเชิญชวนเกรียนคีบอร์ด นักขุด นักแฉ นักร้อง (เรียน) เพจอยากดังพี่จัดให้ เข้าไปดูข้อมูล http://nscr.nesdc.go.th/thaime/ ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) จัดไว้ให้แล้วนำเสนอออกมาให้สาธารณะได้รับทราบ เอาแบบโครงการอาหารกลางวันนักเรียนที่เจอแฉนะครับ

5. เงินสมทบ มีไว้เพื่อให้เปล่าแก่ผู้จำต้องเปลี่ยนอาชีพเพราะงานการ อาชีพนั้นอุตสาหกรรมนั้น งานนั้นจะไม่มีที่ยืนในการแข่งขันทั้งปัจจุบันและในอนาคตแล้ว เงินสมทบนี้ต้องมีเงื่อนไขสมทบกับเงินหลักขององค์กรเพื่อให้ใครในองค์กรหรือใครคนที่สนใจไปฝึกฝนตนเองใหม่ในสาขาที่ภาครัฐแนะนำเพราะขาดแคลนเงินสมทบจึงเป็นเงินไม่มาก แต่ต้องไปสมทบกับเงินกองกลางจำนวนหนึ่งที่ใหญ่กว่าในการดำเนินการ

6. เงินให้ยืมเอาไปพัฒนาทักษะใหม่ๆ เพิ่ม เงินให้ยืมแบบนี้จึงไม่ควรมีดอกเบี้ยและต้องผ่อนใช้คืนได้ยาว ยาวมากพอจะเห็นว่าคนที่เอาเงินไป ได้พัฒนาทักษะจนสามารถสร้างผลตอบแทนกลับมาได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ไม่ใช่ตามไปดูผลแล้วยังไม่เป็นโล้เป็นพาย

เงินแต่ละประเภท มันจะมีเป้าหมายในการใช้แตกต่างกันไป คนที่จะได้ก็จะต้องต่างพรรคต่างพวกกัน การจัดสรรและการกระจายจึงจะทำได้อย่างเป็นมรรคเป็นผล ครั้งนี้ยังดีนะครับที่กระทรวงการคลังมีการออกแบบระบบการโอนเงินจากแหล่งเงินจ่ายตรงไปที่คนที่ควรได้ เงินหาย เงินหล่นระหว่างทางมันเลยไม่มี จะมีก็แต่ปัญหาจ่ายผิดฝาผิดตัว เพราะฐานข้อมูลมันมีประเด็น ก็ต้องค่อยๆ แก้กันไปครับ ย้ำเตือนอีกครั้ง เราต้องช่วยกันไล่ดูพวกโครงการเจาะเอาเงินกู้ไปสู้ COVID-19 แบบปลอมปนเชื้อชั่วที่ไม่มีวันตาย แล้วแฉมันออกมาอย่าให้มันกัดเซาะเงินกู้ที่มาจากภาษีของเราๆ ท่านๆ ทุกคนนะครับ