posttoday

ตลาดการเงินเคลื่อนไหวตอบรับแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกหลังการเปิดเมือง

15 มิถุนายน 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 30.70-31.20 ความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของไวรัสระลอกที่ 2 ในสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยกดดันความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ ในสัปดาห์นี้ รายงานตัวเลขเศรษฐกิจของจีน อาทิ การผลิตภาคอุตสาหกรรม ยอดค้าปลีก และการลงทุน ที่มีกำหนดเปิดเผยในสัปดาห์นี้มีแนวโน้มดีขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสนับสนุนการแข็งค่าของค่าเงินเอเชีย ทั้งนี้ นโยบายการเงินทั่วโลกยังมีแนวโน้มผ่อนคลาย โดยประเมินว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นมีแนวโน้มขยายวงเงินของมาตรการปล่อยสินเชื่อ สอดคล้องกับมาตรการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ประกาศไปในสัปดาห์ก่อน ด้านธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 25bps ลงมาอยู่ที่ 4.25% ในการประชุมนโยบายการเงินวันพฤหัสบดี ขณะที่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางอังกฤษจะขยายวงเงินของมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ในการประชุมสัปดาห์นี้เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสและความไม่แน่นอนด้าน Brexit

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าลงมากในสัปดาห์นี้และเคลื่อนไหวในกรอบ 30.87 – 31.50 โดยเงินบาทเปิดตลาดที่ 31.50 และเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นในช่วงต้นสัปดาห์สอดคล้องกับความเชื่อมั่นต่อเงินดอลลาร์ที่ลดลงเนื่องจากนักลงทุนกลับเข้าถือสินทรัพย์เสี่ยงจากความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังทั่วโลกผ่อนมาตรการปิดเมืองและกลับมาเปิดประเทศ ทั้งนี้ เงินดอลลาร์ยังอ่อนค่าลงต่อเนื่องในช่วงกลางสัปดาห์หลังคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ให้คำมั่นว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายใกล้ศูนย์ไปจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว โดยประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ชี้ว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ย ณ ระดับปัจจุบันอย่างน้อยจนถึงปี 2022 นอกจากนี้ เฟดจะรักษาระดับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ระดับ 1.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน ทำให้เงินบาทเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นแตะระดับแข็งค่าที่สุดในรอบ 4 เดือนที่ระดับ 30.87 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

ด้านธนาคารแห่งปะเทศไทยให้ความเห็นว่าการแข็งค่าของเงินบาทมาจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าและเงินทุนของนักลงทุนไทยและกองทุนที่กลับจากต่างประเทศ ขณะที่เงินทุนไหลเข้าจากต่างชาติยังน้อยในเดือนมิถุนายน ในระยะข้างหน้า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนจากความไม่แน่นอนที่สูงทางเศรษฐกิจและการเงินโลก ทั้งนี้ เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงปลายสัปดาห์ โดยเปิดตลาดอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ในวันศุกร์หลังดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเนื่องจากนักลงทุนกลับเข้าถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยจากความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาระลอกที่ 2 ในสหรัฐฯ โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ปรับลดลงมากที่สุดตั้งแต่เดือนมีนาคมและดัชนีค่าเงินดอลลาร์เพิ่มขึ้นมากที่สุดตั้งแต่กลางเดือนเมษายน อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาเคลื่อนไหวแข็งค่าขึ้นและปิดตลาดที่ระดับ 31.97 ในวันศุกร์ (เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เม็ดเงินไหลกลับเข้ามาสู่พันธบัตรรัฐบาลอีกครั้ง โดยสาเหตุหลักของการขายสินทรัพย์เสี่ยงมาจากความกังวลต่อการระบาดของไวรัสรอบที่ 2 ในสหรัฐฯ ภายหลังจากการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเกิน 2 ล้านคน ยิ่งไปกว่านั้นหลายรัฐ อาทิ แอริโซนา ฟลอริดา แท๊กซัส และแคลิฟลอเนีย มีการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะ นอกจากนี้ยังมีประเด็นสำคัญที่ตลาดให้ความสนใจคือการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.00-0.25% พร้อมกับมีการออกประมาณการอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเฟดมีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ย ณ ระดับปัจจุบันไปจนถึงปี 2022 รวมถึงจะรักษาระดับการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ณ ระดับปัจจุบันเพื่อสนับสนุนเสถียรภาพของตลาดการเงิน ขณะเดียวกันเฟดประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะหดตัว 6.5% ในปีนี้ ก่อนที่จะกลับมาขยายตัว +5.0% ในปี 2021 ส่วนอัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มอยู่ต่ำกว่าระดับเป้าหมายที่ 2.0% และคาดว่าอัตราการว่างงานจะลดลงมาที่ 9.3% ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ผลการประชุมในครั้งนี้ถือว่าเป็นไปตามที่ตลาดได้คาดการณ์เอาไว้ก่อนหน้า อย่างไรก็ดีมุมมองของอัตราดอกเบี้ยในระยะข้างหน้ารวมไปถึงมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ถือว่าออกมาค่อนข้าง Dovish ซึ่งสนับสนุนการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลและเห็นการปรับตัวลดลงของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลในประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 10ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 20 bps โดยประมาณเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

ตลาดการเงินเคลื่อนไหวตอบรับแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกหลังการเปิดเมือง

ขณะที่ความเคลื่อนไหวของพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสอดคล้องกับตลาดโลก กล่าวคืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลง ท่ามกลางเม็ดเงินไหลเข้าจากนักลงทุนต่างประเทศเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน โดยกระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 8,225 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 7,883 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 344 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 2 ล้านบาท ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทในระยะนี้อาจทำให้ ธปท. ต้องพิจารณามาตรการบางอย่างเพื่อดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นปัจจัยที่นักลงทุนคงต้องติดตามกันต่อไป โดย ณ วันที่ 12 มิถุนายน 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.49% 0.53% 0.63% 0.85% 1.05% และ 1.28% ตามลำดับ