posttoday

ตลาดขึ้นรอบนี้ ตกรถกันไหม?

11 มิถุนายน 2563

คอลัมน์ คู่คิดนักลงทุน โดย...บรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการอาวุโส กิจการค้าหลักทรัพย์ บล. บัวหลวง

นักลงทุนหลายท่านที่ลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ทั้งประสบการณ์มากบ้างน้อยบ้าง ผมเชื่อว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ยังนั่งงงกับตลาดว่า ทำไมปรับขึ้นมาอย่างรวดเร็ว หลังจากตลาดหุ้นปรับตัวตกลงอย่างรุนแรง จากวิกฤต COVID -19 เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งช่วงนั้นตลาดวิตกกันมากทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง, การติดต่อกันง่ายเหมือนไข้หวัดธรรมดา และความรุนแรงของโรคมีอยู่สูง จนพาลทิ้งหุ้นจนหลายตัวติด Floor และดัชนีตลาดหุ้นไทยโดยรวม จากต้นปี 63 ที่ติดลบไปเกือบ 40% จนทางตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องปรับมาตรการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกำหนดระดับ Ceiling Floor ใหม่ จาก 30% เป็น 15%, กำหนดระดับ Circuit Breaker ใหม่ รวมทั้งวิธีการ Short Sell (ยืมหุ้นมาเพื่อขาย) ที่จากเดิมเคาะขายได้ทันทีเป็นต้องตั้งรอขาย เพื่อไม่ให้เป็นการกดราคา และภาครัฐยังออกกองทุนประหยัดภาษี SSFX เพื่อพยุงตลาดหุ้นไทย แต่ก็ใช้เวลาไปไม่ถึง 2 เดือน ดัชนีหุ้นไทยก็ปรับขึ้นมา 400 กว่าจุด จากจุดต่ำสุด หรือคิดเป็น 40% ตีกลับขึ้นมาเหมือนว่า COVID -19 หายไปเรียบร้อย และเศรษฐกิจฟื้นมาปกติ แต่อย่างที่ทราบในความเป็นจริง COVID -19 ยังอยู่ และเศรษฐกิจยังต้องอัดฉีดเร่งกันอีกมาก ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้ คาดว่า ติดลบแน่ แต่หุ้นยังขึ้นไม่หยุด

เหตุการณ์ที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ไม่ได้มีเฉพาะบ้านเรา แต่ทั่วโลกก็มีการฟื้นตัวจากวิกฤตรอบนี้เร็วมากเหมือนกัน หลังหลายประเทศมีมาตรการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น, ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนแทบใกล้ศูนย์ บางประเทศถึงขั้นติดลบ เพื่ออุ้มเศรษฐกิจในรอบนี้ ไม่ให้ถึงขั้นถดถอยอย่างรุนแรง จนหลายคนตั้งตัวไม่อยู่ว่า ทำไมตลาดปรับขึ้นเร็วเหนือความคาดหมาย และปรับตัวขึ้นมาเกือบจะปกติแล้ว ซึ่งการเพิ่มสภาพคล่องในระบบการเงิน และผลตอบแทนจากตราสารหนี้ที่ต่ำมาก เปิดโอกาสให้เงินที่ไม่มีที่จะไป เพราะผลตอบแทนต่ำมาก วิ่งเข้าลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่าง “หุ้น” ที่ผลตอบแทนสูงกว่า ทั้งเรื่องอัตราเงินปันผล, อัตรากำไรเทียบกับราคา (Earning Yield) ที่ยังสูงกว่าดอกเบี้ยพันธบัตร อันนี้เป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวเร็วมากกว่าที่จะมองเรื่องเศรษฐกิจฟื้นตัว เพราะเศรษฐกิจยังคงต้องมองอีกยาว

จากการที่ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายท่านบ่นตกรถและนั่งมองตลาดขึ้น โดยยังไม่ทำอะไรตอนลงก็เครียดตอนนี้ขึ้นมาก็เครียดอีก เพราะยังไม่ได้ซื้อหรือตกรถ “อาการตกรถ” เป็นเหตุปัจจัยทางจิตวิทยาด้านการลงทุนที่เรียกว่า “Fear of Missing Out” หรือ FOMO ที่เรามักจะเห็นเมื่อตลาดปรับตัวขึ้นแล้วเราไม่มีหุ้นหรือมีอยู่น้อย และระหว่างนี้ก็นั่งดูข่าวสารการลงทุน และพูดคุยกับเพื่อนนักลงทุนคนอื่น ๆ ที่มีความยินดีปรีดากับการที่ตลาดหุ้นขึ้น แล้วเราก็จะบ่นกับตัวเองว่า “รู้งี้ซื้อไปแต่แรกก็สบายแล้ว” ซึ่ง ปรากฏการณ์ “รู้งี้” จะทับถมจิตใจท่าน จนสุดท้าย อดรนทนไม่ไหวมาลงทุนเต็มอีกทีตอนที่ตลาดแพงไปแล้ว พูดง่าย ๆ ว่า “มาตีตั๋วตอนป้ายสุดท้าย” ซึ่งโอกาสที่ตลาดจะพักปรับตัวลงมีสูง

อาการที่ว่าเหล่านี้มีอยู่ทั่วไปสำหรับนักลงทุน ซึ่งเรามี “วิธีคิด วิธีการลงทุน” ที่พอจะช่วยท่านนักลงทุนได้ นั่นคือ 1.ควรทำการลงทุนแบบ DCA หรือ Dollar Cost Average ซึ่งการลงทุนแบบ DCA เป็นการสะสมลงทุนหุ้นอย่างสม่ำเสมอ ช่วงตลาดหุ้นตก เราก็มีโอกาสเก็บหุ้นสะสมไปเรื่อย ๆ เหมือนได้เก็บสินทรัพย์ที่ดีในช่วงที่ของถูก ก็จะทำให้เราไม่พลาดการลงทุนในทุกช่วงตลาด 2.กระจายการลงทุนแบบ DCA บนกองทุนที่ลงทุนในดัชนี เนื่องจากกระจายความเสี่ยงได้ดีกว่า DCA บนหุ้นรายตัว ซึ่งมีโอกาสที่เราเลือกหุ้นพลาดไปไม่กลับเลยก็เป็นได้ แต่ถ้าเป็นกองทุนดัชนีที่กระจายความเสี่ยง ไม่ว่าจะอย่างไรดัชนีจะยังอยู่ต่อไป หุ้นที่อยู่ในเกณฑ์จะยังอยู่ต่อ และจะคัดออกถ้าตกเกณฑ์ หรือมีตัวอื่นที่เข้าเกณฑ์ที่ดีกว่า และต้นทุนต่ำ ทำให้ระยะยาวเราจะได้รับผลตอบแทนตามตลาด 3.มองภาพการลงทุนในระยะยาว ซึ่งจะช่วยทำให้ผลตอบแทนของเราเป็นไปตามค่าเฉลี่ยได้มากขึ้น เพราะการลงทุนในตลาดหุ้นไม่ได้ดีทุกปี และก็ไม่ได้แย่ทุกปี การที่เราทยอยลงทุนต่อเนื่องในระยะยาว ผลตอบแทนที่ได้จะเข้าหาค่าเฉลี่ยอย่างดัชนีหุ้นไทย หรือ SET index ที่ ผลตอบแทนจะอยู่ที่ประมาณ 8-10% ต่อปี ถ้าเรามองระยะสั้น บางปีได้มาก บางปีติดลบ แต่ถ้ามองยาวๆ 5-10 ปีขึ้นไป ก็มีโอกาสได้เท่ากับค่าเฉลี่ยแน่นอน ถามว่า การลงทุนแบบ DCA ดีอย่างไร ขอตัวอย่างการลงทุนในช่วง COVID-19 ให้เห็นว่า การที่เรามาจับเวลา หรือ Timing ตลาดเป็นเรื่องยาก และมีเรื่องจิตวิทยาการลงทุน ความกล้า ความกลัว ความโลภ ทำให้เรามีจิตใจไม่ค่อยแน่นิ่งในการลงทุน ซึ่งเราสามารถขจัดได้ โดยการลงทุนแบบมองกลาง ๆ แต่ได้ประสิทธิภาพที่ดี นั่นคือ การทำ DCA ออมสะสมมูลค่าไปเรื่อย ๆ ช่วยลดความเครียดด้านการลงทุนไปได้พอสมควร

สำหรับผู้ลงทุนที่สนใจลงทุนการออมรายเดือนและมองการออมในระยะยาว หลักทรัพย์บัวหลวง มีโปรแกรมการออมแบบ DCA โดยมีโปรแกรมการออมให้ท่านเลือกลงทุนหลากหลายรูปแบบ เช่น ออมผ่านกองทุนดัชนีไทย อย่าง BMSCITH และ BSET100 หรือออมในตลาดเวียดนาม ผ่าน E1VFVN3001 ซึ่งโปรแกรมจะทำการออมและบริหารเงินให้ท่าน โดยการทยอยซื้อทุกวัน เพื่อให้ได้ค่าเฉลี่ยที่ละเอียดมากยิ่งขึ้นเหมาะกับผู้ที่ต้องการออมอย่างสม่ำเสมอในระยะยาว และไม่ต้องกลัวเรื่องตกรถ