posttoday

Lab แห้ง คือ ใช้ความคิดปกติแบบเดิมมาออกแบบแก้ปัญหาที่ไม่ปกติบวกการฟังแต่ไม่ยอมได้ยิน

08 มิถุนายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 23/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

ชื่อบทความผมวันนี้มันออกจะแปลกๆสักนิดนะครับ เพราะเป็นเรื่องนิยาย เป็นเรื่องเล่า ไม่ใช่เรื่องจริงที่เกิดขึ้น ขอยืนยันนะครับว่าตัวบุคคลในเรื่องไม่มีอยู่จริง...555

เรื่องมีอยู่ว่า ได้เกิดโรคห่ากินปอดขึ้นในโลกใบนี้ ไม่มีใครรู้ว่ามันมาได้อย่างไร แต่รู้แน่ๆ ว่ามันแพร่ระบาดได้เร็วมาก มากจนทำให้คนไข้ที่ติดเชื้อสูงเกินศักยภาพทางการแพทย์ คนติดเชื้อจึงต้องล้มตายลง ไม่น่าเชื่อจริงๆ ว่า ไอ้โรคห่ากินปอดสามารถป้องกันได้ด้วยการ

1. ล้างมือ

2. อยู่ห่างๆ กัน

3. ใส่หน้ากากปิดปากปิดจมูก

และก็ไม่น่าเชื่อว่าการใส่หน้ากากปิดปากปิดจมูกจะกลายเป็นเรื่อง เสรีภาพในการจะต้องทำหรือไม่ทำ ทั้งที่หมอบอกว่าจำเป็นแต่ก็มีคนจำนวนหนึ่งเลือกที่จะใช้เสรีภาพที่จะไม่ทำในบางประเทศ

ประเด็นคือข้อ 2. การต้องให้อยู่ห่างๆ กันในโลกที่ต้องมีการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ต้องมีการแลกเปลี่ยนกัน ต้องมีการพบปะ หารือ สนทนา ประชุมกัน การที่ต้องตัดสินใจให้คนทำมาค้าขายหยุด คนซื้อหยุดซื้อ คนขายหยุดทำของขาย ยกเว้นอาหารกับยารักษาโรค แม้กระทั่งปิดสวนสาธารณะไม่ให้คนมาเดิน มาพักผ่อนหย่อนใจ หรือมาออกกำลังกาย

นักเศรษฐศาสตร์หลายคนบอกว่า มันคือการบอกให้คนที่มีชีวิตกลั้นหายใจแบบคนไม่มีชีวิต ผลคือคนอึดอัด ยอมทำเพราะกลัวตาย แต่ถึงจุดๆ หนึ่งคนก็จะต้องหายใจ เพราะคนก็คือคน ไม่มีทางอยู่นิ่งๆ ผลกระทบในข้อที่ต้องทำผิดธรรมชาติมนุษย์ก็มาลงเอยเป็นปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาปากท้อง ปัญหาไม่มีรายได้ ปัญหาคนที่จะตกงานจำนวนมาก

ประเทศสารขัณฑ์ก็เจอกับสภาพการณ์เช่นนี้ ตำราการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ร่ำเรียนกันมาก็บอกว่า ต้องใส่สภาพคล่องให้กับธุรกิจ คนค้าขาย โดยเฉพาะคนตัวเล็กที่ยอมกลั้นหายใจไม่ทำธุรกิจในเวลานั้น เราได้เห็นกัปตันมาวิ่งส่งของกิน เห็นเจ้าของทัวร์มาทำหมูปิ้งขาย

เราเห็น SME ขาดเงินหมุนเวียนเพราะไม่มีรายได้ การออกแบบให้เงินหมุนออกไปช่วยจึงถูกกำหนดขึ้นว่าคนปล่อยกู้ ไปเอาเงินกู้ละมุนนุ่มจากคลังแสง มาปล่อยต่อโดยให้คิดราคาเงินกู้ให้ถูก แต่พื้นฐานของสมการในการให้กู้มันคือ ความคาดหวังในผลตอบแทน โอกาสที่เงินกู้จะสูญเสีย หักลบกันแล้ว มันต้องมีค่าสูงกว่า ต้นทุนเงินที่กู้มา (ในที่นี้คือต้นทุนเงินกู้ละมุนนุ่ม) + ต้นทุนข้อมูลข่าวสาร+ต้นทุนดำเนินการ

สิ่งที่เกิดขึ้นจริงหลังจากที่คลังแสงได้ยอมให้ดำเนินการเบิกเงินกู้ละมุนนุ่มพบว่า ในความเดือดร้อนขัดสนไปทุกหย่อมหญ้าเพลานี้ มีเพียง SME เมืองสารขัณฑ์จำนวนหนึ่งซึ่งข้อมูลที่แสดงไม่ได้โปร่งใสชัดเจน มีการแสดงเป็นเพียงค่าเฉลี่ยที่ไม่ลงรายละเอียดที่ควรจะมีเช่น มี SME ที่อยู่ในภาคการท่องเที่ยวได้รับไปกี่ราย อยู่ในพื้นที่ใดบ้าง จำนวนที่ได้คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของยอดคงค้าง ไม่ต้องแสดงเป็นรายบุคคล แต่ทำเป็นช่วงได้ไหม เช่น ต่ำกว่า 5 ล้าน 5 ล้านขึ้นไปแต่ไม่เกิน 10 ล้าน สิบล้านขึ้นไปแต่ไม่เกิน 25ล้าน... จนถึง 100 ล้านบาท เป็นต้น

เรื่องที่สำคัญมากคือความเสี่ยงของคนที่ปล่อยกู้อัตราผลตอบแทนมันต่ำกว่า credit cost หรือไม่และ credit cost มันมีแนวโน้มสูงขึ้นสวนทางกับสภาพการณ์ของลูกหนี้เดิมที่จะให้เงินกู้เพิ่มหรือไม่ (กติกาค้าขายโดยทั่วไปนะครับ ของที่ออกจากโรงงานมีต้นทุนสูงกว่าราคาขายที่ลูกค้าจะซื้อ ไม่มีคนทำโรงงานคนไหนอยากจะขาย เพราะยิ่งขายยิ่งกินทุนตัวเอง)

ดังนั้น เราจึงเห็นเรื่องแปลกใจในเมืองสารขัณฑ์ที่ ลูกหนี้ที่อยากได้เงินกู้ออกมาบอกเจ้าของคลังแสงว่าควรพิจารณาเพิ่มผลประโยชน์หนือสิ่งจูงใจเพื่อให้คนปล่อยกู้ต่อเขามีผลตอบแทนคุ้มกับความเสี่ยงที่เขาจะได้รับ แสดงว่าลูกหนี้อยากได้เงินกู้มาก ดอกเบี้ยจะแพงหน่อยก็ไม่ว่าอะไร ดอกเบี้ยถูกดูดี ดูอบอุ่น ดูเหมือนพระมาโปรด แต่มันเอาออกมาไม่ได้ เข้าตำรา ให้ดูแต่ตา มือไม่ต้อง ของจะเสีย เลาพวกในคลังแสงออกไปบอกชาวบ้านตอนตรวจประเมินเขาก็บอกว่า จะทำการสิ่งใดต้องให้ได้ output กับ outcome แล้วทีนี้ มันมีแต่ output no outcome and no impact ไหม

เรื่องสุดท้ายคือการออกแบบให้มีกลไกชดเชยความเสียหาย ตอนนายธนาคารเมืองสารขัณฑ์ประชุมหารือก็เพียรพยายามบอกว่า อย่ามายุ่งกับหลักประกันเงินกู้เดิมที่เป็นฐานการคำนวณได้ไหม ทำแบบค้ำประกันเป็น portfolio อย่างที่ผู้บริหารคลังแสงได้เคยให้สถาบันการค้ำประกันสินเชื่อในบางประเทศแถวๆ นี้ทำ แต่ยกระดับ % การค้ำประกันขึ้นมาให้มากพอกับความเสี่ยงดีกว่าไหม การเอาสูตรการชดเชยไปผูกกับสำรองที่เพิ่มกับหลักประกันส่วนขาด (ส่วนเกิน) แล้วถ่วงน้ำหนักด้วยหนี้เดิมที่เป็นฐานกับหนี้เงินกู้ละมุนนุ่ม แม้ % ที่สื่อสารออกมาจะดูดี ดูอบอุ่น หากแต่ว่าดาบในรอยยิ้ม คนเขาก็ดูออก

คนที่กำกับดูแลคนอื่นมาตลอดก็มักจะคิดว่าบังคับให้คนเขายอมเข้าใจไปอย่างที่ตัวดิฉันคิด (ชีวิตจริงมันไม่ง่ายอย่างการพาลูกไปติวเพราะเชื่อว่าดีกับลูกโดยไม่ฟังเสียงของคู่สมรสว่าลูกนั้นต้องการเวลาทำตามใจตัวเองบ้างตามประสาเด็ก อันนี้ผู้เขียนสมมติขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบให้เห็นภาพเท่านั้นนะครับ ท่านผู้อ่านอย่าคิดมากนะครับ)

ถ้าคิดว่าสูตรการคำนวณนั้นมันชดเชยความเสียหายในอนาคตข้างหน้าเกิดได้จริง ทำไมไม่ตั้งเป็นตุ๊กตาเฉลยในเฟซบุ๊ก เขียนเลยว่ามีหลายกรณี เช่น หลักประกันเงินกู้เก่าพอดี ปริ่มๆน้ำ ไม่มีการเรียกเพิ่ม ถ้าเป็น NPL แล้วชดเชยอย่างไร ถ้าเรียกหลักประกันเพิ่ม แต่รวมแล้วยังขาดหลักประกัน หรือมีหลักประกันเกิน ถ้าเป็น NPL แล้วชดเชยอย่างไร ถ้ามันเป็นสูตรที่เหมาะแท้ดูอบอุ่น เป็นมิตร ทำแฉออกมาเลยว่า คนที่เอาเงินกู้จากคลังแสงไปปล่อยต่อได้รับชดเชยสูงขนาดนี้แล้วยังไม่ยอมปล่อย มีกรณีใดที่สามารถชดเชยได้ถึง 70% ของความเสียหายบ้าง คนขอกู้จะได้มีอาวุธทางปัญญาไปต่อกรกับนายทุน

เงินกู้ในเมืองสารขัณฑ์เมืองสมมติที่ผู้เขียนได้เล่ามา จนถึงเวลานี้ผู้เขียนได้แต่บอกว่า การทำ Lab แห้ง แบบผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน ผ่านกันชม ชนิดที่คนทำเขาบอก เขาพูดให้ฟัง แต่ใจที่ไม่ได้ยิน มันจึงเป็นได้เพียง output ที่ยังไม่เป็น outcome แถมมันเป็นความเจ็บปวดที่ต้องมานั่ง VDO conference โดยมีท่านเจ้าเมืองเป็นตัวกลาง ในการส่งผ่านจุดที่ขอให้มีการผ่อนปรน เพื่อให้เขาได้เงินกู้ให้ทันต่อลมหายใจ โดยมีข้อเสนอแนะที่น่าสนใจว่า ขอให้คลังแสงเพิ่มผลประโยชน์ให้กับผู้ปล่อยกู้ต่อ เพื่อให้ผู้ปล่อยกู้ต่อปล่อยสินเชื่อง่ายขึ้น มีเงื่อนไขน้อยลง

"Lab แห้ง คือ ใช้ความคิดปกติแบบเดิมมาออกแบบแก้ปัญหาที่ไม่ปกติบวกการฟังแต่ไม่ยอมได้ยิน"