posttoday

ความท้าทาย 5D หลังโควิด และการลงทุน

05 มิถุนายน 2563

คอลัมน์ เปิดโลกลงทุน...ดร. สมชัย อมรธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนและลูกค้าสัมพันธ์ บลจ. กรุงไทย

สถานการณ์ไวรัสโควิดในประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น และการผ่อนปรนมาตรการล็อคดาวน์ที่เกิดขึ้นเป็นเฟสๆ ก็น่าจะหมายถึงแนวโน้มเศรษฐกิจที่จะค่อยๆ ดีขึ้น สิ่งที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าจากการสัญจร คือ แนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าช่วง 1-2 เดือนก่อน (ที่มีการปิดเมือง) แต่ก็ยังห่างจากภาวะปรกติก่อนวิกฤติ การฟื้นตัวที่เกิดขึ้นนี้เป็นเสมือนการ “ลุกขึ้นยืนบนแข้งตนเอง” หลังจากที่ “สลบ” ไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจริงๆ ถือเป็นสัญญาณที่ดีมาก แต่ยังห่างไกลจากการออกมา “วิ่งเต้น” ได้เหมือนเดิม ทั้งนี้ หากมองไปในอนาคต เศรษฐกิจทั่วโลกยังต้องเผชิญความท้าทายที่สำคัญในหลายด้านจากวิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น ผมขอสรุปมาซัก 5 ด้าน หรืออาจจะเรียกว่า “5-D” (ที่ไม่ดี) ก็ได้

ความท้าทายที่หนึ่งคือ หนี้ที่สูงขึ้น (Debt) ความรุนแรงและความรวดเร็วของวิกฤติที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ทำให้รายได้ทุกภาคส่วนหดตัวลงอย่างรวดเร็ว เมื่อรายได้ไม่เข้ากระเป๋า แต่รายจ่ายยังคงมีอยู่ จึงต้องมีการกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อมา “โปะ” ค่าใช้จ่ายในส่วนนั้น หรืออย่างรัฐบาลในหลายประเทศก็ใช้นโยบายการคลังที่ผ่อนคลายในระดับสูง กว่า 10% ของ GDP ในหลายประเทศ เพื่อช่วยไม่ให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรง จึงจำเป็นต้องกู้มาเพื่อใช้จ่ายเหมือนกัน ผลพวงของหนี้ที่สูงขึ้นก็คือความเสี่ยงในการ “ผิดนัดชำระหนี้” ที่สูงขึ้น ซึ่งสะท้อนในราคาของหุ้นกู้ทั่วโลกในปัจจุบันนี้ หรือถ้าไม่ได้ผิดนัดชำระหนี้ เรายังต้องจ่ายคืนหนี้นั้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง ธุรกิจก็อาจอยากปรับงบดุลตัวเองให้ดีขึ้นเมื่อเข้าสู่ภาวะปรกติ ซึ่งเหล่านี้จะจำกัดความสามารถในการใช้จ่ายในอนาคต ในทุกระดับทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ หรือรัฐบาล

ความท้าทายที่สอง คือ ภาวะเงินฝืด (Deflation) เมื่อความต้องการหดหายไป ราคาสินค้าก็ต้องปรับตัวลดลงไปตามทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งในปัจจุบันราคาน้ำมันก็ถูกลงอย่างเห็นได้ชัด สินค้าทางการเกษตรก็มาขายราคาต่ำให้คนไทยได้บริโภค หรือร้านค้าต่างๆ ก็ขอให้มีการลดค่าเช่าลง หลายสำนักจึงมีการพยากรณ์อัตราเงินเฟ้อของไทยที่ติดลบในปีนี้ แต่ทว่า ลำพังเพียงอัตราเงินเฟ้อติดลบในปีนี้อาจจะเรียกได้ไม่เต็มปากว่าเราเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” เพราะภาวะดังกล่าวหมายถึงการที่ราคาสินค้าปรับลดลงอย่างต่อเนื่องเสียมากกว่า หากแต่ความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด” ก็ได้สูงขึ้น และอาจจะสูงขึ้นไปได้อีกหากเศรษฐกิจออกอาการ “ซึม” ต่อเนื่อง และไม่สามารถออกมา “วิ่งเต้น” ได้ อีกทั้ง โครงสร้างประชากรของไทยก็เป็นความเสี่ยงต่อภาวะเงินฝืดอยู่แล้วด้วย

ความท้าทายที่สาม คือ การลดลงของกระแสโลกาภิวัฒน์ (Deglobalization) สงครามการค้าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้สร้างแรงกระเพื่อมออกไปทั่วโลก และการแพร่ระบาดของไวรัสอาจยิ่งทำให้การต่อต้านกระแสโลกาภิวัฒน์รุนแรงขึ้นไปอีก การที่แต่ละประเทศต้อง “ยืนด้วยลำแข้งตัวเอง” ในช่วงนี้ ก็อาจทำให้มีนโยบายที่มองตัวเองมากขึ้น กลายเป็นการกีดกันทางการค้าไปโดยปริยาย ไม่นับกับการชี้นิ้วกล่าวโทษซึ่งอาจเกิดขึ้นหลังวิกฤติอีก แม้ว่าในระยะสั้น การลดลงของกระแสโลกาภิวัฒน์อาจทำให้เศรษฐกิจดูดีขึ้นบ้างจากการลงทุนเพื่อการสร้างห่วงโซ่อุปทานใหม่ภายในประเทศ แต่ในระยะยาวความไม่มีประสิทธิภาพจะสูงขึ้น ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น นับเป็นความท้าทายของเศรษฐกิจต่างๆ ว่าจะปรับตัวอย่างไรในอนาคต โดยเหตุการณ์เกี่ยวพันที่ต้องติดตามต่อไปคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี ว่าท่าทีผู้ชนะการเลือกตั้งต่อประเด็นนี้จะเป็นอย่างไร

ความท้าทายที่สี่ คือ กระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอันเกิดจากเทคโนโลยี (Disruption) ผมจะพูดบ่อยๆ ว่า วิกฤติครั้งนี้ “บังคับ” ให้เราต้องเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีมากขึ้น ด้วยความเร็วที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นในสถานการณ์ปรกติ เป็นการเร่งกระบวนการรับเอาเทคโนโลยีมาใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งในภาพรวมน่าจะเป็นสิ่งที่ดีขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะให้มีทั้งผู้ที่ได้ประโยชน์ และ “ผู้ที่ตกกระแส” อีกทั้ง การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนี้อาจทำให้ผู้ที่ตกกระแสปรับตัวไม่ทัน โดยเฉพาะหากเราพูดถึงการปรับทักษะฝีมือแรงงาน ซึ่งต่างจากสมัยก่อนที่การเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้รวดเร็วขนาดนี้ ยังพอมีเวลาให้ปรับตัวรับกระแสใหม่ได้บ้าง ซึ่งหาก Disruption ทำให้มี “ผู้ตกกระแส” มากขึ้น อาจทำให้เป็นปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงขึ้น ซึ่งมักจะนำมาซึ่งปัญหาอื่นๆ ตามมา

ความท้าทายที่ห้า เกิดจากนโยบายลดค่าของเงิน (Currency Debasement) ของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาช่วยพยุงสถานการณ์ในช่วงที่ผ่านมา การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นประวัติการณ์ ดอกเบี้ยต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์ หรือนโยบายการเงินที่ Unconventional (ซึ่งเริ่มเอามาใช้เป็นปรกติ) ที่ทำให้งบดุลของเฟดสูงสุดเป็นประวัติการณ์ นโยบายเช่นนี้เสมือนการฉีด “อะเดรนาลีน” เข้ามาที่ตลาดการเงินโดยตรง ทำให้ราคาสินทรัพย์สูงขึ้น และอาจทำให้ราคาสินค้าทั่วไปปรับตัวขึ้น เป็นการลดคามเสี่ยงเงินฝืด แต่นโยบายเหล่านี้อาจทำให้เกิดปัญหา “ฟองสบู่” ตามมาในภายหลังก็เป็นได้ อีกทั้ง การถอนตัวจากมาตรการเหล่านี้ก็ไม่ง่าย ถือเป็นความท้าทายของธนาคารกลางต่างๆ ว่าจะถอนตัวอย่างไร และกระแสการตอบรับจากตลาดการเงินจะเป็นอย่างไรในอนาคต

เมื่อความท้าทายมากมายขนาดนี้แล้ว นักลงทุนควรทำอย่างไร? เรามองว่าภาวะเศรษฐกิจในอนาคตน่าจะค่อยๆ ดีขึ้น ช่วงเวลาที่เลวร้ายที่สุดของวิกฤติรอบนี้น่าจะผ่านไปแล้ว (ภายใต้สมมติฐานเกี่ยวกับไวรัสหลายๆ อย่าง เช่น การพัฒนาวัคซีนได้ หรือไวรัสไม่กลายพันธ์ เป็นต้น) แต่การฟื้นตัวในช่วงถัดไปน่าจะขึ้นอยู่กับพัฒนาการในด้านต่างๆ โดยเฉพาะความท้าทายทั้ง 5 ที่กล่าวข้างต้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่าหนทางข้างหน้ายังไม่ชัดเจน แต่คำแนะนำในการลงทุนที่ชัดเจน คือ การลงทุนอย่างต่อเนื่อง (Stay Invested) แม้กระทั่งในช่วงที่ตลาดผันผวนแต่ยังมีความท้าทายอีกหลายด้านเช่นนี้ เพราะการลงทุนควรเป็นมุมมองระยะยาว และนักลงทุนจัดพอร์ตให้เหมาะสมกับความเสี่ยงและเป้าหมายทางด้านการเงิน

เพราะหากเราดูตัวเลขในอดีต ผลตอบแทนของ SET Total Return Index (รวมเงินปันผล) ในช่วงทศวรรษ 2010s (ปี 2553 ถึง 2562) อยู่ที่ 11.8% ต่อปี เรียกว่าผลตอบแทนเหมาะสมกับความเสี่ยง แต่หากเรา “พลาด” ผลตอบแทนเพียง 5 วันที่ดีที่สุดในแต่ละปี ผลตอบแทนจะลดลงมาเหลือเพียง 0.8% ต่อปีเท่านั้น จริงอยู่ว่าในทางตรงกันข้าม หากเรา “หลบ” ผลตอบแทนที่แย่ที่สุด 5 วันในแต่ละปี ผลตอบแทนจะกระโดดขึ้นเป็น 24.8% ต่อปี อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นอยู่บ่อยๆ ว่า ผลตอบแทนที่ดีที่สุดของแต่ละปี มักจะตามหลังช่วงเวลาแย่ที่สุดของปี ซึ่งก็มักจะเป็นช่วงที่คนเกิดความกลัวเป็นที่สุด แต่มีการตัดสินใจบนพื้นฐานความ “กลัว” นั้น ซึ่งผลการตัดสินใจนั้นไม่น่าจะดีเท่าใดนัก ดังนั้น สำหรับพอร์ตการลงทุนระยะยาว อย่างเช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น การ Stay Invested หรือการคงพอร์ตการลงทุนที่เหมาะสมสำหรับเป้าหมายระยะยาว (Stay the course) น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีในการลงทุนท่ามกลางความผันผวนและความท้าทายเช่นนี้

ทั้งนี้ แม้ว่าสถานการณ์ไวรัสจะดีขึ้น แต่สิ่งสำคัญคือเรายังต้องช่วยกันป้องกันกันอย่างต่อเนื่อง “การ์ดอย่าตก” อย่าลืม #ใส่หน้ากาก และ #รักษาระยะห่างทางสังคม ด้วยนะครับ