posttoday

หยวนดิจิทัลความท้าทายใหม่ของโลกการเงิน

03 มิถุนายน 2563

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...เจษฎา เจริญสันติพงศ์ ที่ปรึกษาบริหารทรัพย์ลูกค้าบุคคลพิเศษ ธนาคารกสิกรไทย

หยวนดิจิทัล มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า Central Bank Digital Currency (CBDC) หรือ Digital Currency Electronic Payment (DCEP) ที่ออกโดยธนาคารกลางของประเทศจีน ซึ่งหลาย ๆ ท่านคงสงสัยว่าการทำงานของเงินหยวนรูปแบบใหม่นี้เป็นอย่างไร วัตถุประสงค์ของการทำดิจิทัลหยวนนั้นมีขึ้นเพื่ออะไร และความแตกต่างกับเงินดิจิทัลตัวอื่น ๆ นั้นเป็นอย่างไร เราจะมาทำความรู้จักหยวนดิจิทัล และทำการตอบคำถามข้อสงสัยของหยวนดิจิทัลกันครับ

หยวนดิจิทัล คือ เงินหยวนที่เปลี่ยนจากเงินกระดาษมาเป็นดิจิทัลบนเทคโนโลยี Block chain ซึ่ง Block chain คือ ระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์รูปแบบคล้ายกับใยแมงมุมที่เก็บสถิติในการทำธุรกรรมการเงิน หรือสินทรัพย์ต่าง ๆ ในอนาคตโดยไม่ผ่านตัวกลาง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการทำธุรกรรมต่าง ๆ นั้นลดลง

หยวนดิจิทัลที่พัฒนาขึ้นไม่ใช่เงินสกุลใหม่ตามที่หลายคนเข้าใจ และหยวนดิจิทัลเป็นสกุลเงินที่เรียกได้ว่าเป็นเงินสกุลดิจิทัลที่ธนาคารกลางเป็นผู้ออกเหรียญรายแรกของโลก โดยจุดประสงค์ที่ทำให้ประเทศจีนนั้นผลักดันหยวนดิจิทัลออกมาในช่วงนี้ปัจจัยที่สำคัญ คือ การหมุนเวียนของเงินที่มากขึ้นจะทำให้ GDP ของประเทศจีนสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดดตามหลักการทางเศรษฐศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการประกาศใช้เงินดิจิทัลหยวน ทั่วประเทศเร็วเท่าไร จะทำให้ การหมุนเวียนเงินดิจิทัลหยวนมากขึ้นเป็นลำดับ อีกนัยหนึ่ง ประเทศจีนทำการค้ากับต่างประเทศค่อนข้างมาก ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะดึงดูดเม็ดเงินจากต่างประเทศมากขึ้นประกอบกับภาวะโรคระบาด COVID 19 ยังส่งเสริมให้ผู้คนหันมาใช้เงินดิจิทัลมากขึ้นเป็นลำดับ

นอกจากจะเปลี่ยนแปลงระบบธนบัตรภายในประเทศของตนแล้วจีนยังพยายามที่จะให้ประเทศที่ทำการค้าด้วยนั้นหันมาใช้หยวนดิจิทัลมากขึ้นจากในปัจจุบันนั้นระบบเดิมในการชำระเงินระหว่างประเทศ ข้อมูลการทำธุรกรรมต่าง ๆ นั้นถูกส่งไปที่ฐานข้อมูลของสหรัฐ ซึ่งประเทศจีนไม่ต้องการเช่นนั้นจึงสร้างหยวนดิจิทัลเพื่อมีระบบธนาคารระหว่างประเทศเป็นของตนเอง จุดเด่นของหยวนดิจิทัลที่จะทำให้ประเทศที่ทำการค้ากับจีนนั้นหันมาใช้หยวนดิจิทัลมากขึ้น ก็คือเวลาและต้นทุนการโอนเงินระหว่างประเทศ ถ้าหากเป็นการทำธุรกรรมผ่านสกุลเงินดิจิทัลนั้นต้นทุนแทบจะเป็นศูนย์ และสามารถนำส่งเงินที่โอนได้ทันที รวมถึงความน่าเชื่อถือที่รัฐบาลจีนเป็นผู้กำกับและดูแลซึ่งมีความเข้มงวดรัดกุม

ประธานของสถาบันสกุลเงินดิจิทัลประจำธนาคารประชาชนจีน รัฐบาลของประเทศจีนนั้นออกมายืนยันว่า หยวนดิจิทัลนั้นจะไม่ถูกนำมาเก็งกำไร โดยทางการจีนนั้นตั้งใจที่จะสร้างและออกแบบเหรียญหยวนดิจิทัล ให้เหรียญไม่ถูกนำเข้าสู่ระบบตลาดคริปโตเพื่อจะได้ไม่ถูกนำไปเก็งกำไร ซึ่งตัวของหยวนดิจิทัลเองจะมีเงินหยวนเป็นสินทรัพย์อ้างอิง 1:1 และเป็นเงินดิจิทัลที่ถูกต้องตามกฎหมายเพียงหนึ่งเดียวในประเทศจีน

มาถึงตรงส่วนนี้มีคำถามที่เกิดขึ้นต่อมา คือ การที่ประเทศจีนนั้นออกดิจิทัลหยวนขึ้นมานั้นเป็นการท้าทายและแย่งชิงตำแหน่งระบบสกุลเงินหลักของโลกหรือไม่?

ในปี 2019 นั้นดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นเงินสกุลหลักที่ใช้กันสากลในระบบเศรษฐกิจโลก โดยเกือบ 90% ของธุรกรรมระหว่างประเทศเกิดขึ้นในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ และประมาณ 60% ของทุนสำรองระหว่างประเทศ ทั่วโลกก็เก็บอยู่ในรูปสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เช่นกัน ในขณะที่เงินหยวนของจีนมีสัดส่วนเพียง 2% ของระบบการชำระเงินและทุนสำรองระหว่างประเทศทั่วโลก ซึ่งถ้าหากในอีก 1-2 ปี บริษัทต่าง ๆ ที่เป็นประเทศคู่ค้ากับประเทศจีนสามารถส่งคำสั่งการซื้อขายและชำระเงินผ่านตัวดิจิทัลหยวนนั้นก็จะเป็นทางเลือกใหม่ในการทำธุรกิจนอกเหนือจากดอลลาร์ และยังเป็นการทำให้เงินหยวนเป็นที่แพร่หลายมากขึ้นในเวทีการค้า ซึ่งตัวดิจิทัลหยวนเองนั้นยังลดความเสี่ยงเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยนและมีต้นทุนทางธุรกรรมที่ต่ำกว่ารวมถึงมีความน่าเชื่อถือมากกว่าเงินดิจิทัลสกุลอื่น ๆ จากปัจจัยที่ได้พูดถึงข้างต้นนั้นทำให้มีมุมมองเกี่ยวกับศักยภาพการแข่งขันที่จีนนั้นมีและโอกาสที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจ และประเทศจีนเป็นประเทศที่น่าสนใจลงทุนอย่างยิ่ง ซึ่งนักลงทุนต้องติดตามความเคลื่อนไหวของโลกการเงินอย่างใกล้ชิดต่อไป

อย่างไรก็ตามหยวนดิจิทัล เป็นเพียงปัจจัยเสริมที่ช่วยให้เศรษฐกิจจีนมีการเติบโต นักลงทุนยังคงต้องติดตามสถานการณ์การลงทุนและปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบกับการค้าโลกเพื่อช่วยในการตัดสินใจ การลงทุนในประเทศจีนซึ่งยังถือว่ามีความผันผวนที่ค่อนข้างสูง โดยนักลงทุนควรที่จะกระจายความเสี่ยงและลงทุนในสัดส่วนที่เหมาะสมกับความเสี่ยง เพื่อให้มีความสุขกับการลงทุนและเพิ่มโอกาสในการรับตอบแทนไปกับการเติบโตของประเทศจีน