posttoday

Sell in May ปีนี้ ไม่มีนะครับ

02 มิถุนายน 2563

คอลัมน์ Wealth Design โดย...เพิ่มศักดิ์ จักร์มงคลชัย รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

หลังจากที่ตลาดการเงินทั่วโลกต้องเผชิญกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในระดับ Pandemic ตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม ตลาดการเงินก็เกิดการผันผวนอย่างหนัก ตลาดหุ้นปรับลดลงอย่างรุนแรงจนธนาคารกลางต่างๆ ที่นำโดย Fed ต้องลดดอกเบี้ยลงมาอยู่ในระดับต่ำที่สุดและอัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบอย่างมหาศาล จนทำให้ตลาดหุ้นเริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายเดือนมีนาคมและปรับตัวเพิ่มขึ้นได้อย่างรุนแรงในเดือนเมษายน

พอใกล้จะเข้าเดือนพฤษภาคม ก็เริ่มมีคำๆ หนึ่งโผล่ขึ้นมาในโลก Social ตามหัวเรื่องของเราครับคือคำว่า “Sell in May” เนื่องจากยังมีปัจจัยหลายๆ อย่างที่ยังดูเปราะบางสำหรับตลาดการเงินทั่วโลก ไม่ว่าจะตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆ ดูย่ำแย่มาก ราคาน้ำมันดิบ WTI ที่มีความผันผวนในระดับสูงมากจนมาติดลบถึง -$37 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การเงินจากการเทขายของ ETF กองทุนน้ำมันชื่อดัง USO จนทางกองทุนต้องมีการเปลี่ยนนโยบายการลงทุนใหม่จากเดิมที่จะลงทุนในสัญญาน้ำมันดิบ WTI ตัวที่ใกล้ที่สุด ปรับใหม่เป็นกระจายพอร์ตลงทุนในตัวสั้น กลาง และยาวเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ราคาน้ำมันดิบติดลบได้อีก

ดัชนีของตลาดหุ้นทั่วโลกสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ค่อนข้างดีในเดือนพฤษภาคม โดยมีปัจจัยเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ดีขึ้นต่อเนื่องและส่งผลให้เกิดการเปิดเมืองอย่างต่อเนื่อง ประเทศเศรษฐกิจสำคัญของโลกอย่างสหรัฐฯ ได้เปิดเมืองครบทั้ง 50 รัฐในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ญี่ปุ่นก็ได้ยกเลิกภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศในวันจันทร์ที่ 25 พ.ค. ทางด้านยุโรปก็มีการเปิดเมืองตั้งแต่ช่วงต้นเดือน อย่างเช่นประเทศสเปนก็วางแผนที่จะรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือนกรกฎาคม

ด้านประธาน Fed นายเจอโรม พาวเวลล์ ได้ไปให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ 60 Minutes โดยมีใจความสำคัญว่า ตัวเขาเองเชื่อว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยอย่างรุนแรงอย่างที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 1930s เชื่อว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะฟื้นตัวขึ้นอย่างแน่นอนและจะกลับมาแข็งแกร่งกว่าในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ด้วย ปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เร็วนอกจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ใหญ่พอแล้ว การพัฒนาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นได้

ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญก็เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว อาทิเช่น ตัวเลขความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น และยอดขายบ้านใหม่ที่มากกว่าที่คาดไว้ค่อนข้างมาก รวมถึงความคืบหน้าในเรื่องการพัฒนาวัคซีนของบริษัทอย่าง Moderna, Gilead และ Novavax เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ดัชนีของตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดี

ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม เริ่มเกิดความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนขึ้นมาอีกครั้ง โดยปธน.ทรัมป์พยายามกล่าวหาว่าจีนได้เอา COVID-19 มาปล่อยในสหรัฐฯ และมุ่งหวังจะทำให้ตัวเขาสอบตกในการเลือกตั้งปธน.ในปลายปีนี้ แต่สุดท้าย เรื่องราวก็จบลงด้วยดีโดยตัวแทนทางการค้าจากทั้ง 2 ฝั่งสามารถพูดคุยกันได้รู้เรื่อง เรื่องราวเหมือนจะจบแต่ก็ไม่จบ ในช่วงปลายเดือน จีนได้เปิดเผยว่าจะออกกฎหมายด้านความมั่นคงแห่งชาติต่อประเทศฮ่องกงซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับการต่อต้านการก่อการร้าย การแทรกแซงจากต่างชาติ และการแยกตัว และสภาแห่งชาติจีนก็ได้มีมติอนุมัติกฎหมายตัวนี้และพร้อมที่จะบังคับใช้ภายใน 2 – 3 เดือนต่อจากนี้ ทำให้ทางปธน.ทรัมป์เต้นขึ้นมาอีกครั้ง แต่สุดท้ายแล้ว ตัวผู้นำสหรัฐฯ ก็มาแถลงในวันทำการวันสุดท้ายของเดือนโดยมีใจความว่า มีแผนจะยกเลิกสิทธิพิเศษด้านการค้ากับฮ่องกง แต่ทางปธน.ทรัมป์ก็ไม่ได้พูดเจาะจงในรายละเอียดว่าจะทำอะไรในช่วงเวลาไหน และไม่ได้ส่งสัญญาณว่าจะไปแตะข้อตกลงทางการค้าระยะที่ 1 ที่ได้ลงนามไว้เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา การตอบโต้ที่ไม่ได้รุนแรงอะไรมากของปธน.ทรัมป์ ทำให้ตลาดหุ้นตอบรับในเชิงบวก

มาดูกันว่าตลาดหุ้นที่นักลงทุนให้ความสนใจได้ให้ผลตอบแทนเป็นอย่างไรกันบ้างในเดือนพฤษภาคม

ดัชนี Nikkei ของญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้นได้มากที่สุดในเดือนพฤษภาคม +8.3% รองลงมาคือดัชนี DAX ของเยอรมนี +7.1% และดัชนี Nasdaq 100 ของสหรัฐฯ ที่รวมหุ้นเทคโนโลยี เฮลท์แคร์ และสินค้าฟุ่มเฟือยไว้ +6.2%

สำหรับดัชนีที่ให้ผลตอบแทนต่ำที่สุดคือดัชนี Hang Seng ของฮ่องกง -6.8% จากปัจจัยที่ทางจีนได้ออกกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติต่อฮ่องกงทำให้ความกังวลว่าจะเกิดความรุนแรงของผู้ประท้วงแบบในปี 2019 ขึ้นอีก ดัชนี CSI300 ที่รวมหุ้นขนาดใหญ่ของตลาดหุ้นจีน -1.2% ส่วนหนึ่งเป็นเพราะดัชนีของตลาดหุ้นจีนปรับตัวลดลงค่อนข้างน้อยมากตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดจึงทำให้ดัชนีไม่ได้ฟื้นตัวดีอะไรและยังมาเจอกับความตึงเครียดกับทางสหรัฐฯอีก

ด้านภาพรวมของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผ่านดัชนี S&P 500 ก็ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ค่อนข้างดีที่ +4.5% จากการฟื้นตัวของหุ้นในกลุ่มที่ Laggard ตลาดในช่วงเดือนเมษายนอย่างหุ้นในกลุ่มสถาบันการเงิน ท่องเที่ยว และน้ำมัน

ดัชนี SET Index ของตลาดหุ้นไทยก็ยังปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่องถึงแม้ว่าผลตอบแทนในเดือนเมษายนจะสูงถึง +16% โดยผลตอบแทนในเดือนพฤษภาคม +3.2% ในช่วงปลายเดือน หุ้นในกลุ่มธนาคารมีการฟื้นตัวอย่างโดดเด่นจากความกังวลในเรื่องหนี้เสียที่ลดลงหลังที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดีมาก

จากผลตอบแทนของตลาดหุ้นสำคัญๆ ที่นักลงทุนไทยและทั่วโลกสนใจก็พอจะตอบได้ว่า “Sell in May ปีนี้ ไม่มีนะครับ”

ปัจจัยที่นักลงทุนจะต้องจับตาต่อจากนี้คงเป็นเรื่องของสงครามเย็นระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่สถานการณ์คงจะขึ้นๆ ลงๆ ไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้งปธน.ในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ รวมถึงความเสี่ยงของการแพร่ระบาดระรอกที่ 2 แต่ตลาดก็ยังมีปัจจัยด้านบวกรออยู่อีกพอสมควร ไม่ว่าจะเป็น (1) นโยบายผ่อนคลายชุดใหญ่จากประเทศเศรษฐกิจชั้นนำอย่างสหรัฐฯ กลุ่มยูโรโซน ญี่ปุ่น และจีน ที่จะออกมาเพิ่มเติม (2) ความคืบหน้าในการพัฒนาวัคซีนของบริษัทไบโอเทคโนโลยีขนาดใหญ่ และน่าจะมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพออกมาก่อนสิ้นปี 2020 (3) การฟื้นตัวของตัวเลขเศรษฐกิจที่เชื่อว่าจะฟื้นตัวได้อย่างโดดเด่นในช่วงครึ่งหลังของปี 2020

สุดท้ายนี้ ก็อยากจะฝากให้นักลงทุนมีการกระจายการลงทุนที่ดี เหมาะสมกับความสามารถในการรับความเสี่ยงของตัวเอง ซึ่งการลงทุนในกองทุนลดหย่อนภาษีอย่าง SSF และ RMF ยังเป็นทางเลือกที่ดีมากสำหรับทุกคนในภาวะดอกเบี้ยต่ำมากเช่นนี้ ได้ทั้งลดหย่อนภาษี ได้ทั้งออมเงินไว้ใช้ในยามเกษียณ และด้วยกติกาที่กึ่งบังคับให้เราต้องลงทุนระยะยาวและสม่ำเสมอ

COVID-19 ก็คงจะเป็นอีกเรื่องที่สุดท้ายแล้ว “มันก็จะผ่านไป” ครับ