posttoday

ลักษณะองค์กรและผู้คนในยุคการทำงานแบบใหม่ที่จะไม่เหมือนเดิม

01 มิถุนายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 22/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

ในช่วงเวลาที่นับแต่การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19? ที่มีมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้วต่อเนื่องมาจนถึงเวลานี้ก็นับได้ประมาณ 5 เดือนแล้ว ผู้คนที่อายุรุ่นราวคราวเดียวกันกับผู้เขียนได้เคยนั่งคุยกันแล้วก็มีข้อคิดความเห็นกันได้ประมาณนี้สำหรับสิ่งต่างๆ ที่เกิดในสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจและสังคมไทย

1. วิกฤตการณ์ครั้งนี้หนักหนาสาหัสจริงๆ เกิดกับทุกระดับ เกิดกับแทบทุกประเทศ ไม่มีใครไม่ได้รับผลกระทบ เมื่อเอาไปเทียบกับวิกฤติการณ์ในปี 2540 จะบอกได้เลยว่าครั้งนี้หนักกว่ามาก

2. ความไม่มีวินัยของผู้คนที่ผ่านๆ มาในหลายเรื่องของผู้คนในสังคมเมื่อต้องมาเจอกับของจริง ตายจริง ความกลัวตายบวกกับความเข้มข้นในการใช้กฎหมายแบบจับจริง ปรับจริง อีกทั้งการกระจายอำนาจให้พ่อเมืองต้องรับผิดชอบเมืองและคนในเมืองของตนเอง ทำให้เรามายืนหนึ่งในการจัดการต่อสู้กับการแพร่ระบาดนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. ในแง่ขององค์กรทางธุรกิจ เราๆ ท่านๆ จะพบว่า องค์กรที่สามารถเอาตัวรอดจากพายุการแพร่ระบาดของไวรัสจะมีลักษณะการปรับเปลี่ยนที่ฉับพลันในช่วงข้ามคืนในหลากหลายมิติ ดังนี้

3.1 รูปแบบโครงสร้างองค์กร?จะไม่ใช่เป็นชั้นๆ ไหลการสั่งจากข้างบนลงข้างล่าง แต่จะเปลี่ยนเป็น Network, Working team, Working group เข้ามาแทนที่

3.2 อำนาจการสั่งการจะไม่ได้มาจากคนเป็นผู้นำสูงสุด แต่จะมาจากหัวหน้ากลุ่มงานหรือเครือข่ายนั้นๆ เพราะต้องมีการตัดสินใจในหน้างานแล้วค่อยรายงานเป็นสำคัญ

3.3 ระบบข้อมูลเพื่อการทำงานจะมีการแชร์กันอย่างกว้างขวาง ในบางแห่งจะไม่เกิดปัญหาข้อมูลของฝ่ายฉันฝ่ายเธอ ไม่มีลักษณะเป็นไซโล การเข้าถึงบนความปลอดภัยจะยืดหยุ่นมากขึ้น การหวงกันข้อมูลเพื่อสร้างอำนาจต่อรองให้ผู้บริหารสูงสุดเห็นความสำคัญกับตนเองเทียบกับฝ่ายงานอื่นจะลดน้อยลงไป ภาษานักเลงคือ เล่นเกมส์กั๊กกันไม่ได้เลยมีเดียว

3.4 ยึดเอาเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึงมากกว่ายึดการปฏิบัติที่ต้องทำให้ครบขั้นตอน เพราะการเอาตัวรอดนั้นหมายถึงการบรรลุเป้าหมายรายวัน รายสัปดาห์ดังนั้นมันจะเกิดคำถามตลอดว่าทำไมต้องทำขั้นตอนนี้ ทำไมเลิกขั้นตอนนี้ไม่ได้ ตัวอย่างเช่น การทำงานจากที่บ้าน การประชุมผ่านออนไลน์ มันไม่เห็นต้องมานั่งในที่เดียวกัน ตราบใดที่มีการเห็นหน้า ได้ยินเสียง เห็นภาพต่างๆ มีการหารือกันได้ ที่ผ่านมาทำไม่ได้เพราะไม่ยอมทำ ไม่คิดจะทำ เลยอ้างกฎหมาย จริงแท้แล้วที่ไม่ทำเพราะไม่กล้าครับ กลัวว่าทำไปแล้วตัวเราที่เคยมีเคยได้ก็จะกลายเป็นอะไรที่องค์กรบอกทิ้งไปก็ได้เท่านั้นเอง

กลับมามองที่คนในองค์กรระยะต่อไปหลังจากที่องค์กรถูกเขย่าจนต้องปรับเปลี่ยน คนในองค์กรยุคใหม่จะถูกนิยามใหม่ดังนี้นะครับ

1. คำว่าคนเก่ง ไม่ได้หมายถึงคนที่เรียนเก่ง แต่หมายถึงคนที่สอนได้ พร้อมจะเรียนรู้ พร้อมที่จะหาหนทางให้ตนเองได้รู้มากขึ้น และไม่หยุดเรียนหากยังไม่รู้

2. คำว่าทำงานหนัก ไม่ได้หมายถึงทำงานที่ใช้เวลามากมาย ทำหามรุ่งหามค่ำ แต่คำว่าทำงานหนักคือ ทำจริง เอาจริง ทำเร็วจบเร็ว ได้ผลลัพธ์ที่มีผลกระทบต่อเป้าหมายที่สูง เวลาที่ทำเสร็จไม่ใช่ปัจจัยบอกว่ามันหนักหรือไม่หนัก

3. คำว่ามีความภักดี มันจะไม่ได้หมายถึงความภักดีที่คนทำงานจะมีให้กับผู้บริหารสูงสุด แต่มันจะเป็นความภักดีต่อคุณค่าที่องค์กรได้ตั้งและได้ให้เอาไว้ เช่น องค์กรที่ตั้งคุณค่าให้กับตัวเองว่า ฉันคือโครงสร้างพื้นฐานในระบบสถาบันการเงิน มีหน้าที่ประการหนึ่งคือ การเป็นสัญญาณ เตือนภัย (Early warning for financial system) ดังนั้นการออกมาให้ข้อมูลข่าวสารในทางที่เป็นผลลบต่อตำแหน่งหน้าที่ของผู้บริหารระดับสูงเพื่อรักษาไว้ในบทบาทขององค์กรที่ควรจะเป็น คนที่รับผิดชอบก็ต้องดำเนินการให้ไปตามนั้น

เมื่อรูปแบบขององค์กรที่จะตอบโจทย์โลกหลัง COVID-19 มันเปลี่ยน ผู้คนก็ปรับเปลี่ยนทั้งวิธีคิด วิธีทำบนความหมายและคำนิยามที่แตกต่างกัน การวัดและประเมินผล การจัดสรรและการกระจายทรัพยากรจะให้เป็นแบบเดิมก็คงไม่ได้ ยิ่งการจัดสรรผลตอบแทนก็ยิ่งเป็นไปแบบเดิมๆ ก็คงไม่ได้เช่นกัน

ชีวิตต้องเอาให้รอด งานก็ต้องทำให้ดี

สังคมที่ต้องจำใจรักษาระยะห่าง

จะคิดจะทำอะไรต้องฟังหมอก่อนสิ

องค์กรที่ต้องเป็นแบบตุ๊กตาล้มลุก

ผู้คนในองค์กรทำงานบนคำนิยามใหม่

ความจริงจะมีคนสนใจว่าจริงแบบไหน

ที่ว่าจริงมันจริงหรือไม่

ความจริง ความดี ความดีที่เป็นจริงจะถูกแยกแยะในความต่างของการมอง

ท้ายสุด ความเลวร้ายในรายละเอียดจะปรากฏ เช่น รายชื่อบรรดาเจ้าหนี้ที่ต้องมาโหวตแผนฟื้นฟูจะนำไปสู่การตั้งคำถาม การขุดค้นหาความจริงว่า หนี้นี้ท่านได้แต่ใดมา...และรากแก้วที่หยั่งลึกของพิษร้ายจะถูกขุด ถอนทิ้งในโลกยุคหลัง COVID-19 หรือไม่ เราคงได้เห็นกันไม่ช้า