posttoday

ติดตามความคืบหน้าประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน

01 มิถุนายน 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 31.70-32.10 ในสัปดาห์นี้ปัจจัยต่อการเคลื่อนไหวเงินบาทที่สำคัญมาจากความคืบหน้าจากการผ่อนคลายการปิดเมืองต่อเศรษฐกิจและประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กลับมาเป็นปัจจัยกดดันตลาดที่สำคัญอีกครั้งหลังจากสภาประชาชนจีนเห็นชอบกฎหมายความมั่นคงสำหรับฮ่องกง โดยตลาดรอติดตามมาตรการตอบโต้จากทางสหรัฐฯ ด้านนโยบายการเงิน ประเมินธนาคารกลางยุโรปจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันพฤหัสบดีแต่มีแนวโน้มเพิ่มวงเงินการซื้อสินทรัพย์สำหรับโครงการ Pandemic Emergency Purchase Programme ขณะที่ตลาดคาดว่าธนาคารกลางออสเตรเลียและธนาคารกลางแคนาดาจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมสัปดาห์นี้เช่นกัน ด้านตัวเลขเศรษฐกิจ ตลาดรอติดตามการเปิดเผยตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในประเทศเศรษฐกิจหลักเดือนพฤษภาคมซึ่งมีแนวโน้มหดตัวน้อยลงหลังรัฐบาลของหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายนโยบายการปิดเมือง ซึ่งส่งผลให้บริษัทต่างๆ เริ่มกลับมาดำเนินธุรกิจได้ตามปกติ

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าในกรอบ 31.80 – 32.00 โดยเงินบาทเปิดตลาดอ่อนค่าลงจากสัปดาห์ก่อนสอดคล้องกับค่าเงินสกุลอื่นในภูมิภาคเนื่องจากนักลงทุนกังวลความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่สูงขึ้นหลังจากจีนประกาศว่ากำลังจะพิจารณากฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับฮ่องกงฉบับใหม่ในการประชุมสภาประชาชนจีน (National People’s Congress) ส่งผลให้ชาวฮ่องกงออกมาต่อต้านและกดดันให้ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีนทวีความรุนแรงขึ้น อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาแข็งค่าในช่วงกลางสัปดาห์ แม้ว่าสภาประชาชนจีนเห็นชอบ "กฎหมายความมั่นคง" สำหรับฮ่องกง โดยกฎหมายระบุว่าการแบ่งแยกฮ่องกงออกจากจีน ล้มล้างรัฐบาลปักกิ่ง และก่อการร้าย ใช้ความรุนแรง หรือกองกำลังภายนอกคุกคามกิจกรรมประชาชน อันถือเป็นการแทรกแซงกิจการภายในฮ่องกง โดยร่างกฎหมายจะบังคับใช้เป็นกฎหมายภายในเดือนสิงหาคมนี้ ทั้งนี้ เงินบาทยังแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องในช่วงปลายสัปดาห์เนื่องจากอุปสงค์ต่อเงินดอลลาร์ลดลงเนื่องจากนักลงทุนเปิดรับความเสี่ยงตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังจากจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการสะสมในสหรัฐฯ ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา รวมถึงยอดคำสั่งซื้อสินค้าคงทนและตัวเลขการบริโภคสหรัฐฯ หดตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาด ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเดือนเมษายนกลับมาขาดดุลที่ 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากที่เกินดุล 697 ล้านดอลลาร์สหรัฐในเดือนก่อน ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.81 ในวันศุกร์ (เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังคงเคลื่อนไหวทรงตัวในกรอบเดิม โดยในช่วงต้นสัปดาห์ตลาดอยู่ในโหมดเปิดรับความเสี่ยงจากความหวังของการเปิดเมืองและสัญญาณบวกของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 86.6 ในเดือนพฤษภาคม จาก 85.7 ในเดือนก่อน ขณะที่รายงานยอดขายบ้านใหม่เพิ่มขึ้น 623,000 ต่อปีในเดือนเมษายน จาก 619,000 ในเดือนก่อนหรือ +0.3%MoM ซึ่งตลาดคาดว่าอยู่ที่ 480,000 ขณะที่ความเคลื่อนไหวจากฝั่งยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรปเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกองทุนฟื้นฟูเม็ดเงิน 7.5 แสนล้านยูโร โดยจะแบ่งเป็นเงินโอนให้เปล่าที่ 5 แสนล้านยูโร และวงเงินให้กู้ที่ 2.5 แสนล้านยูโร พร้อมกันนี้ประธานอีซีบี คริสติน ลาการ์ด แถลงว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะหดตัวสูงถึง 8% ถึง 12% ในปีนี้จากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งถือเป็นการหดตัวของเศรษฐกิจมากกว่าช่วงวิกฤตปี 2009 ถึงสองเท่า ทั้งนี้ในช่วงท้ายสัปดาห์ตลาดกลับมาอยู่ในโหมดปิดรับความเสี่ยงจากประเด็นความกังวลด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้น ระหว่างจีน-ฮ่องกง และจีน-สหรัฐฯ ภายหลังจากที่จีนมีมติเห็นชอบกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติเกี่ยวกับฮ่องกงฉบับใหม่ในการประชุมสภาประชาชนจีน ซึ่งประเด็นที่สร้างความกังวลต่อตลาดคือผลกระทบต่อธุรกิจต่างชาติในฮ่องกง ขณะที่ประเทศสหรัฐฯเองก็ ออกมาต่อต้านการกระทำดังกล่าวของจีน นำมาซึ่งความเป็นไปได้ในการคว่ำบาตรจีนภายใต้พระราชบัญญัติสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของฮ่องกงในปี 2019 รวมไปถึงการคว่ำบาตรบริษัทจีนและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านความเป็นประชาธิปไตย หรือแม้แต่การพิจารณาตัดสิทธิพิเศษที่ฮ่องกงมีต่างจากจีนทั้งด้านภาษีนำเข้าและการจำกัดเทคโนโลยีสหรัฐฯ โดยปัจจัยข้างต้นดังกล่าวส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของประเทศเศรษฐกิจหลักยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบเดิม และรอความชัดเจน รวมถึงปัจจัยใหม่ที่จะมาชี้นำทิศทางตลาดในระยะต่อไป

ส่วนประเด็นในประเทศไทยมีการประกาศตัวเลขการส่งออกไทยเดือนเมษายนขยายตัวต่อเนื่องที่ 1.12%YoY จาก +4.17%YoY ในเดือนก่อน สวนทางกับที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว ขณะที่ตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในเดือนเม.ย. ขาดดุล 654 ล้านดอลลาร์สหรัฐจากเดือนก่อนที่เกินดุล 697 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นการขาดดุลครั้งแรกตั้งแต่เดือนพ.ค. ปี 2019 นอกจากนี้มีรายงานจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุว่าการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ผู้ว่างงานสูงขึ้นอยู่ที่ 394,520 คน ซึ่งคิดเป็นอัตราว่างงาน 1.03% จาก 0.92% ในไตรมาสแรกปีก่อน และประเมินว่า ในไตรมาสที่ 2 มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของโควิด-19 และปัญหาภัยแล้ง ทั้งภาคเกษตร 6 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 8.4 ล้านคน โดยคาดว่าอัตราการว่างงานปีนี้จะอยู่ที่ 3-4%ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับระดับในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997 ทางด้านความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะแรงขายทำกำไร ภายหลังจากที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับตัวลดลงมาก่อนหน้า ตามการปรับลดของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ ณ วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.52% 0.56% 0.64% 0.82% 1.04% และ 1.24% ตามลำดับ

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 9,736 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 1,757 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 7,979 ล้านบาท และไม่มีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ