posttoday

รีเช็กแผนการลงทุนภายใต้ความไม่แน่นอน

28 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์ Healthy Wealth โดย...เสาวลักษณ์ คำวิลัยศักดิ์ บลจ.เอ็มเอฟซี

สุภาษิตที่ว่า “ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก” คงเหมาะสมกับสถานการณ์การลงทุนในช่วงเวลานี้ที่ปัจจัยเสี่ยงจากการระบาดทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะกลับมาระบาดรอบ 2 หรือไม่ เพราะยังไม่มียาต้านหรือวัคซีนที่รักษาโรคนี้ได้โดยตรง ก็เกิดความเสี่ยงจากความตึงเครียดทางการเมืองระหว่างประเทศสหรัฐฯกับจีน ที่อาจนำไปสู่สงครามการค้าและบริการ สร้างความผันผวนให้กับการลงทุนและส่งผลให้ราคาสินทรัพย์ลงทุนประเภทต่างๆปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลงผิดไปจากการคาดการณ์

ในฐานะนักลงทุนที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ เมื่อได้ตัดสินใจลงทุนไปแล้ว พอร์ตการลงทุนย่อมเผชิญกับความผันผวนที่เกิดขึ้นและอาจไม่บรรลุตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ดังนั้น จึงเป็นช่วงเวลาที่จะได้กลับมาทบทวนแผนการลงทุนและบริหารความเสี่ยงจากการลงทุน ดังนี้

1. ทบทวนวัตถุประสงค์และเป้าหมายการลงทุน หากวัตถุประสงค์และเป้าหมายของการลงทุนไม่เปลี่ยนแปลง แต่พอร์ตการลงทุนได้รับผลกระทบเชิงลบจากความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น ในกรณีที่เป็นการลงทุนระยะยาว นักลงทุนควรรักษาวินัย รอคอยจังหวะและโอกาส ไม่ตัดใจสินใจตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะอาจจะทำให้พอร์ตการลงทุนระยะยาวกลายเป็นการลงทุนระยะสั้นไปโดยอัตโนมัติ ดังที่ วอร์เรน บัฟเฟตต์ กล่าวไว้ว่า ความกลัวและความตระหนกตกใจในตลาดขาลง เป็นสาเหตุให้แผนการลงทุนดีๆ ต้องถูกทิ้งไป

2. ทบทวนแผนการลงทุน และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เมื่อได้วัตถุประสงค์และเป้าหมายการลงทุนแล้ว นักลงทุนควรตรวจสอบว่าความไม่แน่นอนจากปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ลงทุนอย่างไร พอร์ตการลงทุนมีผลกำไรหรือขาดทุน เป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ เพื่อจะได้ประเมินว่าจะยังคงแผนการลงทุนเดิมไว้ หรือจะปรับแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์และระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ เช่น ปัจจัยเสี่ยงที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสมมติฐานหรือกระทบเล็กน้อย ทำให้เกิดความผันผวนกับพอร์ตการลงทุนระยะสั้น แต่อัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ลงทุนยังเป็นไปตามคาดการณ์ได้ในระยะต่อไป ก็สามารถคงแผนการลงทุนเดิมและรอจังหวะที่จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุน ตรงกันข้ามหากปัจจัยที่เข้ามากระทบไม่เป็นไปตามคาดการณ์อย่างมีนัยยะสำคัญ ทำให้ไม่สามารถได้รับอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ลงทุนตามที่คาดไว้ ก็เป็นเวลาที่จะได้ปรับแผนการลงทุนใหม่ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายการลงทุน

3. ทบทวนอัตราผลตอบแทนคาดหวังที่ต้องการ เมื่อได้ทบทวนแผนการลงทุนแล้ว นักลงทุนต้องกลับมาทบทวนข้อสมมติฐานว่าเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประเมินไว้มากน้อยแค่ไหนภายใต้สถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอน โดยพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ปัญหาความไม่สงบเชิงภูมิรัฐศาสตร์ กฎระเบียบของการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่ออัตราผลตอบแทนที่คาดหวัง

4. บริหารความเสี่ยงโดยการกระจายการลงทุน จัดสรรการลงทุนไปในประเภทสินทรัพย์ต่างๆ อย่างเหมาะสม ดังคำกล่าวที่ว่า ให้กระจายไข่ใส่ไว้หลายตะกร้า เผื่อว่าเวลาหกล้มไข่จะได้ไม่แตกหมด (Don’t put all eggs in one basket) นั่นคือ เมื่อได้ทบทวนแผนตามข้อ 1-3 แล้ว การจัดสรรสินทรัพย์ลงทุนจะช่วยให้นักลงทุนบรรลุเป้าหมายการลงทุน โดยนักลงทุนต้องทำความเข้าใจสินทรัพย์ที่ลงทุนทั้งปัจจัยพื้นฐาน ความเสี่ยง และอัตราผลตอบแทน เพื่อสามารถสร้างพอร์ตการลงทุนให้ได้อัตราผลตอบแทนตามที่คาดหวังภายใต้ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้

5. พอร์ตการลงทุนควรมีความยืดหยุ่น เพื่อให้สามารถปรับเปลี่ยนแผนการลงทุนได้ทันเมื่อสภาวะการลงทุนยังมีความไม่แน่นอนสูง

การวางแผนการลงทุน เปรียบเหมือนเข็มทิศหรือแผนที่นำเราไปสู่จุดหมายปลายทาง แม้ว่าจะวางแผนการเดินทางดีเพียงใด แต่หากระหว่างการเดินทางเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ถนนขรุขระ เครื่องยนต์ติดขัด ก็อาจทำให้การเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ อาจจะต้องเปลี่ยนแผนการเดินทางหรือเส้นทางการเดินทาง การลงทุนก็เช่นเดียวกัน แม้ว่าจะวางแผนไว้ดีเพียงใด แต่เมื่อมีเหตุการณ์ไม่คาดคิดเกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบต่อพอร์ตการลงทุน ดังนั้น การทบทวนแผนการลงทุนจึงมีความจำเป็นสำหรับนักลงทุนเพื่อให้ประสบผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้