posttoday

4 Themes การลงทุนในโลกหลัง COVID-19

26 พฤษภาคม 2563

คอลัมน Global Investment Advisory โดย...คมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (TISCO ESU)

COVID-19 ที่ระบาดไปทั่วโลกส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม จนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนในวงกว้าง ซึ่งเราสามารถหาโอกาสในการลงทุนได้จาก Theme การลงทุนที่คาดว่าจะได้ประโยชน์จากโครงสร้างเศรษฐกิจโลกและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปหลังการระบาดของ COVID-19 ดังนี้

Theme 1: ความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจ

มาตรการ Lockdown ที่ใช้เพื่อควบคุมการระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจหยุดชะงักไปทั่วโลก ภาคธุรกิจต้องสูญเสียรายได้มหาศาล และประชาชนหลายล้านคนต้องกลายเป็นคนว่างงาน ภาครัฐจึงจำเป็นต้องใช้กลไกทั้งด้านการเงินและการคลัง เพื่อช่วยเหลือธุรกิจให้สามารถอยู่รอด พร้อมป้องกันความเสี่ยงในระบบการเงินไม่ให้ลุกลามไปจนเกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ระลอกใหญ่ ซึ่งอาจจุดชนวนให้เกิดวิกฤตทางการเงินขึ้นได้ รวมถึงต้องมีการให้สวัสดิการช่วยเหลือประชาชนที่ว่างงานและขาดรายได้ เพื่อให้ยังสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้และป้องกันปัญหาทางสังคมในระยะยาว

ดังนั้น ความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะป้องกันความเสี่ยงจากผลกระทบของ COVID-19 ที่อาจจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น ผิดนัดชำระหนี้จนนำไปสู่วิกฤตทางการเงิน การว่างงานถาวร และอาจเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าประเทศใดจะสามารถฟื้นตัวได้เร็วจากวิกฤตครั้งนี้ เป็นต้น

ความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ เช่น ระดับหนี้ อัตราเงินเฟ้อ แนวโน้มการขาดดุลการคลัง การขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยน เป็นต้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากปัจจัยดังกล่าว เราประเมินประเทศที่มีความสามารถในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้มาก ดังนี้ Winners:

1. สหรัฐฯ ซึ่งมีข้อได้เปรียบจากการที่สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีสถานะเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ จึงทำให้สหรัฐฯ มีความยืดหยุ่นในการใช้นโยบายการเงินและการคลังมากกว่าประเทศอื่นๆ นอกจากนั้น หากเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน เช่น ญี่ปุ่นและยุโรป แล้ว สหรัฐฯ ยังมีระดับหนี้สาธารณะที่ต่ำ และขนาดของงบดุลของธนาคารกลางเมื่อเทียบกับ GDP ยังต่ำกว่า ซึ่งทำให้สหรัฐฯ มีความยืดหยุ่นมากกว่าในการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งด้านการคลังและการเงิน

2. จีน ซึ่งยังมีหนี้สาธารณะต่ำ และไม่ได้มีการพึ่งพาแหล่งเงินทุนจากนอกประเทศ ในขณะที่นโยบายการเงินยังค่อนข้างเข้มงวด ทำให้จีนยังมีความยืดหยุ่นในการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกมาก

Losers: ประเทศในตลาดเกิดใหม่บางประเทศ ที่มีปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาตกต่ำ จึงทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งทุนจากต่างประเทศ ซึ่งนับเป็นข้อจำกัดในการทำนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ประเทศในกลุ่มละตินอเมริกา

Theme 2: Deglobalization

Deglobalization หรือ การทวนกระแสโลกาภิวัฒน์ เป็นพัฒนาการทางเศรษฐกิจการเมืองที่เริ่มต้นมาก่อนหน้านี้ จากความพยายามของภาคการเมืองในการตอบสนองต่อเสียงเรียกร้องของประชาชนที่ไม่พอใจต่อกระแสโลกาภิวัฒน์ที่สร้างปัญหาความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า ซึ่งส่งผลลบต่อชนชั้นแรงงานที่มีรายได้ต่ำ ในขณะที่เจ้าของกิจการและนักลงทุนกลับได้ประโยชน์จากต้นทุนการผลิตที่ถูกลง โดยกระแสดังกล่าวเริ่มเห็นได้ชัดในปี 2018 ซึ่งประธานาธิบดี Trump เริ่มสงครามการค้ากับจีนด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนหลายระลอก จนจุดชนวนให้เกิดการกระจายฐานการผลิตออกจากจีนในหลายอุตสาหกรรม

การระบาดของ COVID-19 ยิ่งเป็นการตอกย้ำถึงความเสี่ยงของการใช้วัตถุดิบและส่วนประกอบที่ต้องนำเข้าจากหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการผลิตสินค้าจำเป็น เช่น อาหารและอุปกรณ์การแพทย์ (เช่น หน้ากากอนามัยที่ขาดแคลนทั่วโลก) และเป็นการเร่งกระแส Deglobalization ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น จากทั้งความพยายามของภาคธุรกิจที่ต้องการกระจายความเสี่ยงด้วยการย้ายฐานการผลิต และภาครัฐที่มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายกีดกันทางการค้าและการปกป้องธุรกิจในประเทศที่เข้มข้นขึ้น

Winners: หุ้นกลุ่ม Robotic and Automation เนื่องจากกระแส Deglobalization จะส่งผลให้มีการย้ายฐานการผลิตกลับเข้าสู่ประเทศพัฒนาแล้ว เพื่อให้ฐานการผลิตอยู่ใกล้ผู้บริโภคมากขึ้น โดยจะใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรเพื่อทดแทนแรงงานคนสำหรับชดเชยค่าแรงที่สูงขึ้นในประเทศพัฒนาแล้ว

Losers: กลุ่มประเทศที่ผลิตสินค้าเพื่อส่งออกเป็นหลัก แต่มีขนาดในประเทศขนาดเล็ก อาจเสียประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต เช่น ไทย มาเลเซีย เป็นต้น

Theme 3: เสถียรภาพทางการเงิน

การใช้นโยบายการคลังขนาดใหญ่เพื่อบรรเทาผลกระทบของ COVID-19 เช่น การแจกเงินกับผู้ว่างงานเป็นจำนวนมาก ประกอบกับแรงกดดันทางการเมืองที่ประชาชนเรียกร้องสวัสดิการจากภาครัฐเพิ่มขึ้นเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งอาจทำให้รัฐบาลขาดดุลงบประมาณอย่างต่อเนื่องและเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว

ในขณะที่นโยบายการเงินผ่อนคลายเป็นอย่างมาก เช่น การลดดอกเบี้ยต่ำ และอัดฉีดสภาพคล่องจากธนาคารกลางเป็นจำนวนมหาศาล ซึ่งเมื่อใช้ร่วมกับนโยบายการคลังขนาดใหญ่ นับเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และอาจหนุนให้เงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นได้ในอนาคต นอกจากนั้นกระแส Deglobalization ซึ่งก่อให้เกิดการย้ายฐานการผลิตและทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ยังอาจเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อกลับมาสูงขึ้นอีกด้วย

หากเงินเฟ้อกลับมาเพิ่มขึ้นสูงในขณะที่เศรษฐกิจยังอ่อนแอ ก็จะทำให้ภาครัฐจำต้องถอนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนเวลาอันควร ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่จะทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจชะงักงัน อัตราการว่างงานสูง และเงินเฟ้อสูง)

Winners: ทองคำ เป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนชดเชยเงินเฟ้อได้ดี และมักปรับตัวขึ้นในภาวะเศรษฐกิจซบเซา

Losers: ตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ

Theme 4: การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม

นอกจากโครงสร้างเศรษฐกิจแล้ว COVID-19 ยังเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนในวงกว้าง เช่น การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพที่มากขึ้น การใช้เทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน รวมถึงการทำงานและการเรียนนอกสถานที่ เป็นต้น

Winners: หุ้นในกลุ่ม Health Care, E-commerce, Online Gaming and Content Streaming, Edutainment

Losers: Retail Spaces (Malls, Department Stores, Retail REITs)