posttoday

ติดตามความคืบหน้าประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน

25 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...วรันธร ภู่ทอง, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 31.70-32.10 ในสัปดาห์นี้ปัจจัยต่อการเคลื่อนไหวเงินบาทที่สำคัญมาจากความคืบหน้าจากการผ่อนคลายการปิดเมืองต่อเศรษฐกิจและประเด็นการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กลับมาเป็นปัจจัยกดดันตลาดที่สำคัญอีกครั้ง โดยเฉพาะจากประเด็นแผนการออกกฎหมายความมั่นคงของชาติในฮ่องกงของจีน เนื่องจากประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์กล่าวเตือนจีนว่าสหรัฐฯ จะมีมาตรการตอบโต้การกระทำของจีน โดยคาดว่าประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะส่งผลให้ความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยสูงขึ้น และกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้ ด้านปัจจัยของไทย ธปท. จะรายงานตัวเลขเศรษฐกิจรายเดือน และประกาศตัวเลขดุลบัญชีเดินสะพัดในสัปดาห์นี้ ซึ่งประเมินว่าดุลการค้าที่เกินดุลจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ดุลบัญชีเดินสะพัดไทยเกินดุล ขณะที่รายได้จากภาคการท่องเที่ยวที่ลดลงมากในเดือนเมษายนจะเป็นปัจจัยลดทอนที่สำคัญ ด้านนโยบายการเงิน ติดตามแถลงการณ์จากประธานเฟด เจอร์โรม โพเวล และการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางเกาหลี

ภาพรวมตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหลังจากอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ปี 2020 หดตัวต่ำกว่าที่ตลาดคาด โดยเศรษฐกิจไทยหดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2014 ที่ -1.8%YoY จากที่ขยายตัว 1.5%YoY ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ตลาดคาดว่าจีดีพีจะหดตัวมากถึง 3.9% นอกจากนี้ เงินบาทยังได้รับปัจจัยสนับสนุนจากจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสรายใหม่ที่ลดลงต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา รวมทั้งภาวะการเงินในตลาดโลกที่ผ่อนคลายลงหลังจากธนาคารกลางและรัฐบาลของประเทศต่างๆ ทั่วโลกอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงในสัปดาห์ที่ผ่านมาหลังจากนักลงทุนเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นจากข่าวดีเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันไวรัส อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังรอติดตามพัฒนาการของความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนหลังจากที่รัฐบาลจีนยืนยันแผนที่จะออกกฎหมายเกี่ยวกับความมั่นคงซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อควบคุมการปลุกระดมในฮ่องกง รวมถึงการแทรกแซงกิจการภายในจากต่างชาติ ทำให้ประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์กล่าวเตือนจีนว่าสหรัฐฯ จะมีมาตรการตอบโต้ที่รุนแรง ขณะเดียวกัน โฆษกประจำรัฐสภาจีนกล่าวว่าจีนจะมีมาตรการตอบโต้ในกรณีที่สภาคองเกรสสหรัฐฯ ผ่านกฎหมายเพื่อคว่ำบาตรจีนในข้อหาเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาดของไวรัส ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ระดับ 31.90 ในวันศุกร์ (เวลา 17.00 น.)

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาโดยรวมเคลื่อนไหวทรงตัวในกรอบเดิม ถึงแม้จะมีปัจจัยกดดันจากข่าวผลการทดลองวัคซีนสำหรับโควิด-19 โดยบริษัท Moderna ที่ช่วยสร้างการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันต่อไวรัส แต่ก็มีผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์ได้ออกมาแสดงความไม่มั่นใจในผลการทดลองของวัคซีนดังกล่าว ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจอย่างยอดขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯ ในสัปดาห์ถึงวันที่ 16 พฤษภาคมเพิ่มขึ้น 2.44 ล้านคน ซึ่งถือว่ายังอยู่ในระดับสูงแต่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้นักลงทุนต้องติดตามความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯกับจีน ที่เริ่มมีประเด็นตอบโต้กันไปมาหลายเรื่อง ล่าสุดมีประเด็นที่จีนพร้อมใช้มาตรการตอบโต้หลังทรัมป์ห้ามบริษัทสหรัฐฯ ส่งออกสารกึ่งตัวนำ (Semiconductor) ให้กับบริษัทหัวเว่ย ซึ่งท้ายสุดแล้วอาจนำมาสู่ประเด็นของสงครามการค้ารอบใหม่

ขณะที่ประเด็นหลักภายในประเทศอยู่ที่ผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีมติ 4 ต่อ 3 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ลง 25bps มาอยู่ที่ระดับ 0.50% เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ได้ประเมินไว้ ซึ่งการปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ โดยที่อัตราดอกเบี้ยปรับลดลงไปแล้วทั้งสิ้น 75 bps โดยสาเหตุหลักของการปรับลดมาจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มหดตัวรุนแรงกว่าที่ประเมินไว้ อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มติดลบกว่าที่คาด รวมไปถึงเสถียรภาพระบบการเงินเปราะบางมากขึ้น จึงจำเป็นต้องผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม ส่วนคณะกรรมการ 3 ท่านที่สนับสนุนการคงดอกเบี้ยและมองว่าควรเร่งรัดประสิทธิภาพมาตรการการเงินและสินเชื่อที่บังคับใช้ไปแล้ว รวมทั้งเร่งปรับโครงสร้างหนี้เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์ สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยมีการรายงานจีดีพีไตรมาสที่ 1 ปี 2020 หดตัวเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2014 ที่ -1.8%YoY จากที่ขยายตัว 1.5% ในไตรมาสก่อน แต่ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจีดีพีจะหดตัวมากถึง 3.9% พร้อมกันนี้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้ปรับลดประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2020 ลงมาที่ -5.0% ถึง -6.0% (ค่ากลาง -5.5%) ถือเป็นแนวโน้มการหดตัวรุนแรงที่สุดตั้งแต่ช่วงหลังปี 1998 โดยมีปัจจัยฉุดรั้งมาจากการลดลงของรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ การส่งออก และการบริโภคในประเทศ ทางด้านความเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวลดลง โดยที่ความชันของเส้นอัตราผลตอบแทนปรับตัวโดยมีความชันสูงขึ้น กล่าวคือพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นและระยะกลางปรับตัวลดลงมากกว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะยาว สอดคล้องกับการลดลงของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทำให้ ณ วันที่ 22 พฤษภาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.52% 0.54% 0.58% 0.72% 0.92% และ 1.11% ตามลำดับ

ติดตามความคืบหน้าประเด็นความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีน

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 8,251 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 375 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 6,801 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 1,825 ล้านบาท