posttoday

บทเรียน (เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์) จากโรคระบาดโควิด-19

19 พฤษภาคม 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ความสามารถในการเรียนรู้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ปัญหาเมื่อมีวิกฤติเกิดขึ้น เปลี่ยนประสบการณ์เหล่านั้นให้กลายเป็นองค์ความรู้ เป็นบทเรียนที่จะนำมาใช้เพื่อป้องกัน หรือรับมือกับปัญหาอื่น ปัญหาใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ถือได้ว่าเป็นความสามารถในการปรับตัวของมนุษย์ที่จำเป็นต้องมีเพื่อให้อาศัยอยู่รอดปลอดภัยต่อไปได้ การระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางทั่วโลก จะเป็นบทพิสูจน์อีกครั้งหนึ่งว่า สังคมใด ประเทศใด ที่จะสามารถดึงเอาประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนี้มาหล่อหลอมให้สังคมมีความเข้มแข็งได้มากขึ้นเพียงใด

อย่างน้อยที่สุด ณ ปัจจุบัน เราก็ได้เรียนรู้มาแล้วว่า การมีวินัยทั้งต่อตัวเองและสังคม การคำนึงถึงส่วนรวม (สังคม) และความสามัคคีช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นคุณสมบัติที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน มีคุณค่า (มูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างมาก) แต่ทำให้เกิดขึ้นอย่างถาวร (ไม่ใช่แค่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว) ได้ยาก เชื่อแน่ว่าการระบาดของโรคโควิดคงจะให้บทเรียนกับสังคมไทยและสังคมโลกหลากหลายเรื่องด้วยกัน และอาจจะเปลี่ยนแปลงโลกไปในอีกหลากหลายมิติ บทความนี้จะเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของความคิดที่จะได้นำมาแบ่งปัน ช่วยกันคบคิดให้ตกผลึกว่า เราจะรวบรวม สังเคราะห์ สกัดองค์ความรู้จากบทเรียนหรือประสบการณ์ที่เกิดขึ้น หล่อหลอมให้เป็นทักษะที่เป็นประโยชน์ และสร้างให้เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างไรกันบ้าง

บทเรียนที่ 1: องค์ความรู้ (Knowlege) ข้อมูลข่าวสาร (Information) และความสามารถในการใช้ความรู้ และข้อมูล (ทางเศรษฐศาสตร์) เพื่อการวิเคราะห์เป็นสิ่งจำเป็นมาในการบริหารและตัดสินใจในช่วงวิกฤติ (Critical Time Decision Making)

ความรู้ และข้อมูลข่าวสาร ไม่ว่าจะเป็นแขนงใด สาขาใด รวมทั้งเศรษฐศาสตร์ ไม่ได้ล้าสมัยใช้การไม่ได้ เพียงแต่เป็นความสามารถของผู้ที่ได้รับการเรียนรู้ที่จะเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับปัญหาและสถานการณ์ที่เผชิญอยู่

การระบาดของโรคโควิดที่มีผลกระทบอย่างกว้างขวางทำให้มีการดึงเอาองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์ทั้งในระดับมหภาค (Macroeconomics) และระดับจุลภาค (Microeconomics) เพื่อทำความเข้าใจผลกระทบทั้งต่อเศรษฐกิจโดยรวมและการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรม การตัดสินใจที่ส่งผลต่อการเกิดขึ้นของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ตอบคำถามหลากหลายคำถาม เช่น กิจกรรมทางเศรษฐกิจจะลดลงมากน้อยแค่ไหน คิดเป็นมูลค่าเท่าไหร่ ใครบ้างในระบบเศรษฐกิจจะได้รับผลกระทบ และถ้าได้รับผลกระทบ เขาเหล่านั้นมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อรองรับกับผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นได้อย่างไร รับได้มากน้อยแค่ไหน ถ้ารับไม่ได้หรือรับไม่ไหว เราพอจะมีเครื่องมือ มีวิธีการในการจะช่วยเหลือกันอย่างไร ไปจนกระทั่งถึงการตอบคำถามเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลง หรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจและสังคมภายหลังจากการระบาดของโรค ซึ่งก็จะมีช่วงระยะเวลาที่จะต้องพิจารณาอีกอย่างน้อย 2 ช่วงเวลา คือ 1) ช่วงเวลาที่สามารถควบคุมหรือจำกัดการระบาดได้ดีพอสมควรแล้ว แต่ยังไม่มีวัคซีน หรือยารักษา (ยาต้านไวรัสชนิดนี้) (อาจจะใช้เวลา 1-2 ปี) และ 2) ช่วงเวลาหลังจากที่มีวัคซีน หรือยารักษา

การตัดสินใจทางเศรษฐกิจที่จะแสดงออกมาในรูปของพฤติกรรมหรือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเพื่อนำไปสู่คุณภาพมาตรฐานการครองชีพที่ดีขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคตอกย้ำให้เห็นว่า องค์ความรู้เป็นทรัพย์สินที่มีค่าทางเศรษฐกิจมาก การปลูกฝังให้คนในระบบเศรษฐกิจมีองค์ความรู้อย่างพอเพียง มีความสามารถใช้องค์ความรู้นั้นเพื่อประยุกต์ใช้ในการจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้สังคมมีภูมิคุ้มกันที่ดีต่อความผันผวนที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นลักษณะใด

ดังนั้น การศึกษา (Education) และการให้บริการการศึกษา (Education Services) จึงยังคงเป็นสิ่งที่มีความสำคัญและมีคุณค่าต่อระบบเศรษฐกิจ ไม่ได้แปลว่า ต่อไปนี้เราจะไม่จำเป็นต้องมีโรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือสถาบันการศึกษาอีกต่อไปแล้ว เพียงแต่คงต้องกลับมาทบทวนกันว่า วิธีการที่เราจะทำให้เกิดการเรียนรู้ การสร้างองค์ความรู้ การใช้องค์ความรู้ในการวิเคราะห์ให้กับคนในระบบเศรษฐกิจกันอย่างไรจึงจะมีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลอย่างแท้จริง

ในช่วงที่มีการระบาดของโรคจนมีการพูดถึงเรื่องการที่ผู้บริหารประเทศต้องตัดสินใจเลือกระหว่างการรักษาชีวิต (Health) ด้วยมาตรการทางด้านสาธารณสุข และการรักษาเศรษฐกิจ (Wealth) ให้มีความเสียหายน้อย เป็นตัวอย่างหนึ่งของการตัดสินใจที่ต้องอาศัยองค์ความรู้ และข้อมูลข่าวสารอย่างรอบด้าน และการตัดสินใจนั้นยังต้องคำนึงถึงองค์ประกอบของประเทศที่มีความเฉพาะ (ไม่ใช่ว่าประเทศหนึ่งตัดสินใจอย่างไรแล้ว ก็จะเป็นคำตอบสำหรับทุก ๆ ประเทศที่จะทำอย่างเดียวกัน) เพราะในช่วงเวลาของวิกฤต การตอบสนองของคนในสังคม และการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในแต่ละประเทศที่มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันย่อมมีความแตกต่างกันไปด้วย จะเห็นได้ว่าองค์ความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์เป็นแขวงหนึ่งที่มีความสำคัญ และไม่ได้ล้าสมัยต่อการใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจภายใต้สถานการณ์ที่มีการระบาด หรือสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตของประเทศหรือของโลก

บทเรียนที่ 2: ทำไมต้องช่วยเหลือคนจนและลดความเหลื่อมล้ำ

ช่วงเวลาที่ยากลำบากจากการระบาดของโรค COVID-19 ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะได้เรียนรู้กันจากประสบการณ์ตรงเลย (ไม่ต้องเปิดอ่าน เรียนรู้กันจากตัวหนังสือ) ว่าทำไมต้องช่วยคนจน ทำไมต้องพยายามที่จะลดความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการระบาดของโรคทั้งจากผู้ติดเชื้อ และผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการเพื่อหยุดหรือจำกัดการระบาดของโรค แสดงให้เห็นว่าในสังคมหนึ่ง (สังคมไทย) ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่ประเทศไทยทุ่มเททั้งกำลังคนและทรัพยากรเพื่อที่จะแก้ไขปัญหา ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาไทยก็ถือได้ว่า เป็นประเทศหนึ่งที่จัดการกับปัญหานี้ได้ดี

คนจนที่เรียกกันว่าเป็นคนจนแบบสุดๆ (Extreme Poverty: ประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน) ที่ใช้เกณฑ์เส้นความยากจนสากลถูกขจัดไป (คือ ประเทศไทยไม่มีคนจนที่อยู่ในระดับที่เรียกว่ามีรายได้ไม่เพียงพอต่อการหาอาหารเพื่อประทังชีวิตได้) แต่ไม่ได้หมายความว่า เราไม่มีคนจนในประเทศ ข้อมูลในเชิงตัวเลขยังแสดงว่า ประเทศไทยมีคนจนตามความหมายความยากจน (มีรายได้ต่ำกว่า $5.50 ต่อวัน) อยู่คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 7.9-10 ของประชากร ซึ่งคิดเป็นคนจำนวนไม่น้อยในระบบเศรษฐกิจที่เข้าข่ายว่า เป็นคนยากจน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในทางเศรษฐกิจจากการขาดประสิทธิภาพของการใช้ทรัพยากรการผลิต กลุ่มคนที่เป็นคนจนไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจได้อย่างเป็นธรรม ทำให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ยากลำบาก หรือมีมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี นอกจากนี้ กลุ่มคนจนยังเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางต่อการถูกชักจูงไปสู่กิจกรรมผิดกฎหมาย (เพราะมีทางเลือกจำกัด) ก่อให้เกิดปัญหาสังคม เช่น ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ฯลฯ ทำให้สังคมโดยรวมมีต้นทุนทางสังคม (Social Cost) ที่สูงขึ้น โดยต้นทุนทางสังคมที่สูงขึ้นนี้ย่อมส่งผลให้ต้นทุนทางเศรษฐกิจโดยรวมของทั้งประเทศสูงขึ้นด้วย ผลิตภาพและประสิทธิภาพในการผลิตของประเทศลดลง และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง

การระบาดของโรคโควิด-19 สะท้อนภาพของคนจำนวนมากที่ยังมีความขาดแคลน และยังจะมีคนอีกจำนวนหนึ่งซึ่งได้ใช้ความพยายามในการยกระดับรายได้ของตนเองจนก้าวพ้นระดับความยากจนขึ้นมาแล้วต้องตกกลับลงไปมีสถานะเป็นคนยากจนอีกเพราะผลกระทบจากการชะงักของเศรษฐกิจทั้งจากการระบาดของโรค และการใช้มาตรการเพื่อหยุดยั้งการระบาดของโรค ปัญหาความยากจนจึงจะยังคงต้องกลับมาเป็นปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจอีกปัญหาหนึ่งที่จะต้องมีมาตรการของรัฐเข้าไปดูแลแก้ไข หรืออาจจะพูดได้ว่าคนจนในระบบเศรษฐกิจน่าจะมีมากกว่าที่เราคิดไว้มาก

บทเรียนที่ 3: ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่รุนแรงในสังคมไทย

ต่อเนื่องจากปัญหาความยากจนที่กล่าวถึงข้างต้น ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ยังแสดงให้เห็นว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยมีความรุนแรง และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศในหลายมิติ ความพยายามในการให้ความช่วยเหลือกับประชาชนในกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนมากและเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการรับมือกับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ไม่มากในรูปแบบของมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่เกิดช่องโหว่ ทำให้ประชาชนจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อนตกหล่นไม่ได้รับความช่วยเหลือ ในขณะที่มีคนอีกจำนวนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจสามารถปรับตัว และมีขีดความสามารถในการปรับตัวได้อย่างดีจนแม้ว่าจะได้รับผลกระทบ แต่ก็ไม่ถึงกับได้รับความเดือดร้อน ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นนี้สะท้อนออกมาในหลายมิติ ทั้งในด้านรายได้ การออม ผลิตภาพ การศึกษา โอกาสทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการรองรับความเสี่ยงหรือความผันผวนทางเศรษฐกิจ ฯลฯ

ความแตกต่างทางเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานจากความเหลื่อมล้ำทำให้การดำเนินนโยบายเพื่อการพัฒนาทางเศรษฐกิจมีความยากลำบากทั้งในแง่การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Target group) การกำหนดเงื่อนไขของการดำเนินนโยบายเพื่อให้การเข้าถึงเป็นไปอย่างเป็นธรรม หรือแม้แต่การใช้มาตรการเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เช่น ในระบบเศรษฐกิจที่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสะสมความมั่งคั่งในรูปแบบของการถือครองที่ดินเป็นอุปสรรคอย่างมากต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์จากที่ดิน ซึ่งเป็นทรัพยากรการผลิตที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ ทำให้ผลิตภาพการผลิตโดยรวม (สำหรับทุก ๆ ปัจจัยการผลิต) ลดลงด้วย

ความรุนแรงของปัญหาความเหลื้อมล้ำถูกเปิดเผยให้เห็นมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจไทยเมื่อมีการระบาดของโรค และภาครัฐจำเป็นต้องใช้มาตรการทางด้านสาธารณสุขเพื่อจำกัดการระบาด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใยเขตเมือง (เช่นกรณีกรุงเทพมหานคร) ทันทีที่มีการประกาศใช้มาตรการ แรงงานจำนวนมากตัดสินใจเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนาทั้ง ๆ ที่รู้ว่ามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อระหว่างการเดินทาง และเมื่อเดินทางกลับถึงภูมิลำเนาแล้ว ก็ไม่ได้มีการรับประกันว่าจะมีงานทำ หรือมีรายได้ที่นั่น เพียงแต่รู้ว่าเมื่อไม่มีรายได้จากการทำงาน (รายวัน) แรงงานเหล่านั้นก็จะไม่มีรายได้เพียงพอต่อค่าครองชีพที่จะต้องใช้จ่ายในเมือง แรงงานที่เดินทางจำนวนมากนี้ยังไม่รวมถึงแรงงานอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งมีความยากลำบากมากกว่านั้น คือกลุ่มที่ไม่มีแม้แต่ค่าเดินทางที่จะเดินทางกลับไปภูมิลำเนา หรือไม่มีภูมิลำเนาไปเดินทางกลับไป เรียกว่าถูกกักไว้ในเมืองโดยที่รู้ว่ามีรายได้ไม่เพียงพอ กลุ่มคนเหล่านี้ก็กลุ่มที่ด้านล่างของสังคม มีความยากลำบากอย่างมากต่อการพยายามจะดำรงชีพให้ผ่านไปวันๆ

ในขณะเดียวกัน เมื่อมีการประกาศมาตรการให้รักษาระยะหว่างด้วยการอยู่บ้าน ประชาชนจำนวนหนึ่งเช่นกัน มีรายได้ มีกำลังทรัพย์เพียงพอที่จะเห่กักตุนสินค้าทั้งที่จำเป็นจริง ๆ และที่ไม่ได้จำเป็นจริง ๆ สองภาพที่เห็นจากการประกาศใช้มาตรการอย่างเดียวกันสะท้อนให้เห็นถึงความแตกต่างกันอย่างมากของสถานะทางเศรษฐกิจของคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจเดียวกัน ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะใช้เป็นบททดสอบความทนทานของครัวเรือน (Household Stress Test) ได้ในระดับหนึ่งว่าครัวเรือนใดสามารถรองรับความผันผวนจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้มากน้อยเพียงใด และด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ปรากฎขึ้นนี้ การใช้จ่ายของภาครัฐในการให้ความช่วยเหลือกับผู้เดือดร้อน ในที่สุดมักจะมีแนวโน้มไปจบลงในมือของผู้ที่มีความมั่งคั่งมากกว่า เพราะกลุ่มคนที่มีความมั่งคั่งมากกว่ามักจะมีช่องทางและมีความสามารถในการดึงเม็ดเงินเหล่านี้ไปอยู่ในมือของตนได้เสมอ จึงเป็นที่คาดเดาได้ว่า ยิ่งภาครัฐมีการใช้จ่ายงบประมาณไปเพื่อการช่วยเหลือ เยียวยามากเท่าไหร่ แนวโน้มความเหลื้อมล้ำในระบบเศรษฐกิจก็อาจจะมีมากขึ้นเท่านั้น จริงเท็จอย่างไรคงต้องรอดูกันอีกทีในอีก 3-5 ปีข้างหน้า