posttoday

เงินกู้ละมุนนุ่มสำหรับ Non bank มุมมอง ข่าวสาร และความคิดเห็น

18 พฤษภาคม 2563

คมลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 20/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

เมื่อได้เห็นข่าวครั้งแรกของการที่สถาบันการเงินภาครัฐ ได้ระบุว่าจะมีการจัดสรรเงินกู้ละมุนนุ่มหรือ Soft loan ให้กับสถาบันการเงินที่มิใช่ธนาคาร หรือ Non bank คนที่รับรู้โดยทั่วไปก็จะคิดว่า มันคือการส่งผ่านการปล่อยกู้ต่อมาให้กับลูกค้า แต่พอข่าวสารขยายไปว่า Non bank รับมา 2% แล้วปล่อยต่อ 12% ในปีแรก 24% ในปีที่สอง และ 36% ในปีที่สาม โดยมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยในปีแรก 3-6 เดือน สังคมที่รับข่าวแล้วอาจไม่กรองก็เกิดความไม่สบายใจทันที

ต่อมานายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ (VTLA) ทำหนังสือชี้แจงสื่อหนังสือพิมพ์ว่า เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษหรือ Soft loan ที่ Non bank จะได้รับจัดสรรมา

1. ไม่ได้มีไว้เพื่อให้ไปปล่อยกู้ต่อ

2. การจะเบิกเงินได้นั้น สถาบันการเงินจะต้องช่วยเหลือลูกหนี้มากกว่ามาตรการขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงก์ชาติ)

3. จะมีการจำกัดวงเงิน ซึ่งอาจมีมูลค่าน้อยกว่าที่ผู้ประกอบการได้ให้ความช่วยเหลือลูกหนี้จริง

4. เงินกู้ดังกล่าวจะสามารถนำไปช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบในการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมต่อไปในอนาคต

แล้วเงินกู้ละมุนนุ่ม (ภาษาผู้เขียน) ครั้งนี้มันทำหน้าที่อะไร ก็พบว่า

1. เงินกู้ก้อนนี้เอามาช่วย Non bank เอาไปจ่ายเจ้าหนี้ของตนเอง เอาไปจ่ายหนี้ตามตราสารที่ตนเองออกไประดมเงินมา เอาไปจ่ายเงินเดือนพนักงาน เหตุเพราะถ้า Non bank ยอมให้ลูกหนี้ตน/ลูกค้าพักชำระหนี้ แขวนต้น แขวนดอก กระแสเงินที่รับเข้ามาเพื่อนำไปบริหารและส่งต่อให้กับเจ้าหนี้ของ Non bank, เจ้าหนี้ตราสารก็จะไม่สะดุด

2. ลูกค้าของ Non bank เมื่อได้รับความช่วยเหลือจากฝั่งธนาคารพาณิชย์แล้วแต่ไม่ได้รับจากทางฝั่งนี้ก็อาจจะร้องเรียนได้เพราะยังต้องชำระต้นเงินและดอกเบี้ยในยามที่รายได้ลด รายได้หาย ไม่มีรายได้มาจ่ายเป็นต้น

3. จำนวนเงินที่ Non bank เลื่อนการรับชำระหนี้ออกไป เช่น แขวนเงินต้นแขวนดอกเบี้ย 3 เดือน หรือลดยอดการส่งค่างวดลงมามันมีมาตรฐานขั้นต่ำที่ทางแบงก์ชาติกำหนดไว้แล้ว การคำนวณตัวเลขก็ไม่ยาก การใส่เงินกู้ละมุนนุ่มก็จะสอดคล้องต้องกัน คือน่าจะหลอกตัวเลขกันไม่ได้

4. ข้อจำกัดทางธรรมชาติของ Non bank คือจะรับฝากเงินไม่ได้ ต้องระดมเงินผ่านการกู้ยืมเงินจากธนาคาร หรือออกตราสารหนี้ เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้าต่อ เมื่อลูกค้านำค่าผ่อนตามงวดมาชำระ ตัว Non bank ก็จะรวบรวมเงินดังกล่าวไปชำระคืนแก่เจ้าหนี้ อันนี้คือหลักการบริหารเงินของเขา ดังนั้นถ้าช่วยลูกค้าตัวเองแขวนหนี้ ชะลอการรับชำระหนี้ ตัวเองก็ต้องมีกระแสเงินรับเข้ามาอุดช่องว่างของเวลาตามจำนวนความช่วยเหลือ

5. ลูกค้าของ Non bank มักจะเป็นลูกค้าที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ได้อย่างเต็มที่ และ Non bank เป็นตัวเลือกของผู้ให้บริการทางการเงินที่ได้รับการกำกับดูแลจากภาครัฐ ดีกว่าการไปขอกู้นอกระบบ จึงจำเป็นที่ต้องไม่ปล่อยให้สถาบันเหล่านี้เกิดมีปัญหาสภาพคล่อง แล้วลุกลามไปยังเจ้าหนี้คือธนาคารพาณิชย์และผู้ถือตราสารหนี้ อันเป็นเรื่องอันตรายต่อระบบส่วนการที่เจ้าใดจะได้เงินกู้ละมุนนุ่มด้วยเงื่อนไขแก่อ่อนประการใดก็เป็นเรื่องของการเจรจาว่าความกันไป

ผู้เขียนเพียงมีประเด็นเดียวว่า ควรถือเอาโอกาสนี้จัดระเบียบเรื่องมาตรการให้ความช่วยเหลือสำหรับคนกลุ่มฐานรากอย่างเบ็ดเสร็จดีหรือไม่ เช่น

1. การลดดอกเบี้ยเงินกู้เก่าและที่จะให้ใหม่ลงมาในช่วงปี 2563?-2564 เป็น Promotion ไทยช่วยไทยให้ไทยรอดเพื่อไทยชนะ

2. การคิดดอกเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระ ไม่ควรจะสูงจนทำให้เกิดความท้อใจที่จะจ่ายชนิดท่วมเงินต้น

3. ในระหว่างการให้ความช่วยเหลือ ถ้ามีลูกค้ารายใดยังรักษาการชำระตามเงื่อนไขเดิม ควรเอาเงินทั้งก้อนนั้นมาตัดเงินต้นทั้งหมดเพื่อลดภาระหนี้ หลังจากพ้นช่วงช่วยเหลือแล้วลูกหนี้จะตัวเบาจากภาระหนี้มากขึ้น

4. ควรมีการให้ Cash back ในจำนวนหนึ่งหรือไม่สำหรับลูกค้าในข้อ 3 ข้างต้นเพื่อให้เห็นว่า คนทำดี ทำตามสัญญาก็จะได้รับอะไรที่มากกว่าความช่วยเหลือตามมาตรฐานครับ

ผมก็เป็นคนหนึ่งที่เห็นข่าวตอนแรกแล้วก็ตกใจว่าทำไมจึงเป็นแบบนั้น แต่พออ่านข่าวหนังสือที่นายกสมาคมฯ ชี้แจงก็เข้าใจได้ และอยากส่งต่อความเข้าใจที่ถูกที่ควรมายังทุกท่านที่อ่านนะครับ อาจเห็นแย้ง เห็นต่าง ก็ว่ากันตามเหตุตามผลได้นะครับ

ขอบคุณมากครับ