posttoday

การออกแบบสินเชื่อในยามที่ทั้งคนให้กู้และคนขอกู้ต่างก็ไม่ปกติ

13 เมษายน 2563

คอลัมน์ เศรษฐกิจคิดง่ายๆ (ดิจิทัล) ตอนที่ 15/2563 โดย...สุรพล โอภาสเสถียร ผู้จัดการใหญ่ เครดิตบูโร

มีใครหลายคนกล่าวไว้ว่า ในยามที่ไม่ปกติ การใช้ระบบคิดที่จะแก้ปัญหาแบบคิดว่ามันยังปกติ ท่านที่คิดทางออกแบบนั้นท่านก็คือ "คนไม่ปกติแถมไม่ฉลาด รังแต่จะสร้างภาระ ให้คนฉลาดกว่าท่านมาเก็บกวาดขยะหลังจากเข้าสู่ภาวะปกติ" อุปมาอุปไมยดัง ปลากระป๋องสามแม่ครัวที่อยู่ในกระป๋องเดียว ปลาก็ตัวเดียวกัน หากแม่ครัวเอาน้ำซอสต่างรสกันตามมายาคติของแต่ละแม่ครัว ที่ตนเองเชื่อว่าอร่อยใส่เข้าไปในกระป๋องเดียวกันด้วยข้อตกลงแบบไทยๆ ว่าแบ่งกันหารสอง รอมชอมกันไป เวลาเทออกมาทำเป็นอาหารจานด่วนมันจะไม่เห็นสีอะไรที่แตกต่าง แต่เวลาชิมตอนจะกิน คนกินจะบอกได้เลยว่า ไม่ได้เรื่อง เพราะรสชาติมันไปคนละทาง

ผู้เขียนเกริ่นมาก็เพราะมีคนในธนาคารกลางของดินแดนกรุงสารขัณฑ์ (ยืนยันว่าไม่ใช่ประเทศเราแน่นอน) บอกว่ามีประเทศหนึ่งนั้น ก็เจอกับปัญหาโรคห่ากินปอด จำเป็นต้องสั่งให้ทุกคนจำศีล SME ในประเทศนั้นก็สลบสิครับ เพราะมีแต่รายจ่าย รายได้ไม่มี แต่หนี้สินอยู่ครบ มาตรการที่ออกมาช่วยลำดับแรกคือ

1. ปรับโครงสร้างหนี้แบบสมัครใจ ซึ่งก็พบว่าไม่มากพอ แรงไม่พอ น้อยไป

2. ปรับโครงสร้างหนี้แบบกว้างขวางและมีมาตรการขั้นต่ำ ซึ่งก็พบว่าคนให้กู้ไปแล้วยังเลิ่กลั่ก ยังละล้าละลัง ห่วงโน่นโยนนี่ ไม่ยอมจบเพราะไม่อยากเจ็บ

3. มาถึงเพลานี้จึงออกมาตรการแบบเข้ม

3.1 ชะลอการจ่ายต้นและดอกเบี้ยออกไป 6 เดือนอย่างกว้างขวาง และให้บันทึกในสมุดพกการชำระหนี้ว่า "ปกติ" เพราะก่อนหน้าที่โรคห่ากินปอดจะลง ลูกหนี้ไม่มีปัญหาการชำระหนี้

3.2 ลูกหนี้ที่มีศักยภาพในการหารายได้ (หลังโรคห่ากินปอดจบ) แต่เวลานี้ไม่อยากเอาคนออก ยังมีของในโกดังออกมาขาย มีลูกหนี้ให้เก็บเช็คได้ แต่มีเจ้าหนี้การค้ามารอหน้าประตูร้านจะทำอย่างไร ทางการจึงสั่งมาว่า ให้มีการจัดสรรเงินก้อนใหญ่ก้อนหนึ่งเรียกว่า "เงินกู้ละมุนนุ่ม" ออกมาช่วย ช่วยอย่างไร ช่วยอย่างนี้ครับ 6 เดือนแรกไม่ต้องจ่ายดอก หลวงท่านออกให้ ต้นก็ให้ชะลอการจ่ายไป 6 เดือน อายุเงินกู้ 2 ปี (ตามอายุของโรคห่ากินปอดที่คาดว่าน่าจะจบ) ดอกเบี้ยก็จิ๊บๆ 2% ต่อปีเอง

3.3 เงินกู้นี้จะให้เพิ่มคนตัวเล็กตัวน้อยที่มีเกือบสองล้านราย รายละไม่เกิน 20% ของยอดหนี้เดิม

สมมติตามท้องเรื่อง มีลูกหนี้ SME รายหนึ่งมีหนี้เดิม 100 หน่วย มูลค่าหลักประกันเดิม 130 หน่วย ขอกู้เพิ่มได้อีก 20 หน่วย คำถามคือ ธนาคารคนปล่อยกู้จะทำอย่างไร ในเวลาที่ไม่ปกติ ใจก็อยากจะให้ แต่เงินกู้ใหม่มาแชร์หลักประกันเก่าไหม มันจะมีโอกาสหนี้สูญไหม ประเมินความสามารถในการหารายได้ยังไงถึงจะเรียกว่ายังมีศักยภาพ ไอ้ค่าใช้จ่ายไม่ต้องหาข้อมูลเพิ่ม มันเห็นคาตาอยู่แล้ว ไอ้มาตรฐานการบัญชีนั่นอีก เอ้าเข้าไปที่สำคัญผู้ตรวจการที่จะมาสอบธนาคารในอีกสองปีข้างหน้า จะเป็นโรคความจำสั้นไหมว่าเพลานั้นฉันช่วยชาติ ช่วยเมือง ช่วย SME อยู่ เพราะเดี๋ยวก็เจอว่าโน่นนั่น เข้าตำรามือไม่พาย (เวลาทำ) ยังเอาเท้าราน้ำ (เวลาจบเรื่องเพื่อเป็นผลงานการตรวจ) นายธนาคารเขามีประสบการณ์จึงเจ็บและจำมาถึงวันนี้

การออกแบบเงินกู้ช่วย SME ในประเทศสารขัณฑ์ (ย้ำว่าไม่ใช่ประเทศเรา) จึงน่าจะเป็นแบบนี้ดีไหม ผู้เขียนเจอแรงยุจึงขอเผือกส่งไปให้กับแม่ครัวประเทศนั้นดังนี้

1. เงินกู้ที่ให้ใหม่ควรเป็น unsecured loan ห้ามธนาคารเรียกเพิ่มจาก SME เพื่อตัดปัญหาความไม่สบายใจของคนให้กู้

2. เงินกู้ที่ให้ใหม่ควรมีบุริมสิทธิ์เหนือเงินกู้ที่ไม่มีหลักประกันอื่นๆ ที่เกิดก่อนหน้า เพราะเป็นเงินกู้ละมุนนุ่ม มีความอ่อนโยนต่อผู้กู้ แต่มีความแข็งแรงต่อผู้ให้กู้

3. เงินกู้ใหม่ถ้าให้ข้ามแบงก์ได้ จะได้คะแนนความประพฤติดีเพิ่ม หมายความว่าถ้า แบงก์ A ปล่อยกู้ลูกค้าแบงก์ B ได้หรือเป็นลูกค้า new to แบงก์ A จะยิ่งได้แต้ม เพราะเวลานี้ต้องการให้เม็ดเงินลงไปเร็ว ไปให้ถูกที่ ถูก SME มากที่สุด โรคห่ากินปอดกับการจำศีลมันสุดจะทนแล้ว

ที่ต้องระวังคือ แบงก์จะรีบปล่อย Top up เงินกู้ละมุนนุ่มลงไปยังลูกค้าที่ไม่ได้ต้องการใช้ แล้วอีกเดือนสองเดือน ลูกค้ารายนั้นก็คืนเงินกู้ก้อนอื่นกลับมาให้ เพื่อลดต้นทุนของตัวเอง SME ที่ต้องการเงินหมุนเลยกินแห้วเหมือนอย่างที่ผ่านๆ มา

กระบวนการไม้เรียวกำกับการทำงานจึงสำคัญกว่าการไปสร้างหรือออกแบบเงินกู้ให้มันซับซ้อน วุ่นวาย เหตุเพราะคนไม่เคยปล่อยกู้ คิดเอาเองว่าฉันปล่อยกู้เป็น เลยจะไปสั่งคนให้กู้ว่าแบบนั้นแบบนี้ คนปล่อยกู้ตัวจริงเลยนั่งเฉยสิครับ รอให้มันไม่เข้าเป้า ขี้คร้านแม่ครัวก็ต้องวิ่งมาคุยด้วยแล้วก็ปรับเกณฑ์ เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ยังคิดจะทำ มันก็เป็นดั่ง สามแม่ครัวทำปลากระป๋องน้ำซอสสามรสในถ้วยเดียวกัน

สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด นายธนาคารกลางที่กระซิบกระซาบกับผมก็จบด้วยภาพ ทหารราบแบกเจ้าลาเดินฝ่าดงกระสุน ไม่ใช่เพราะรักเจ้าลามาก แต่กลัวมันจะทำอะไรแบบไม่ฉลาด จนวินาศวายป่วง เสียเวลา (เพราะเวลาคือสิ่งที่ห่ากินปอดกับการจำศีลกำลังแย่งกับเวลาหายใจของ SME)

ขอภาวนาอย่าให้ SME ในสารขัณฑ์ ไม่ต้องใส่ท่อหายใจตอนห่ากินปอด 80% ทั้งที่ควรจะแค่กันบริเวณ 14 วันแล้วก็รอด ได้แต่ภาวนากุ๊กใหญ่ใช้อำนาจยุติจินตนาการของแม่ครัวแล้วให้ทำอาหารบ้านๆ แบบเจียวไข่ ไข่ต้ม โปรตีนครบด้วยเถิด

วันเสาร์วันอาทิตย์ เงียบสงบ

อยู่กันครบในบ้านที่อาศัย

หมอขอร้องก็เพื่อความปลอดภัย

จงร่วมใจหยุดเชื้อเพื่อชาติ...