posttoday

ค่าใช้จ่ายเกินความจำเป็น เพื่อไลฟ์สไตล์

01 เมษายน 2563

คอลัมน์ ตลาดนัดการเงิน โดย...กำพล สุทธิพิเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย

คนหลายคนชอบพูดถึงเรื่องการลงทุน การทำให้เงินที่มีอยู่มีผลตอบแทบที่ดี แต่คนส่วนใหญ่ยังไม่ไปถึงจุดนั้น ไม่ใช่เพราะไม่มีความรู้นะครับ แต่ไม่มีเงินเก็บที่จะไปคิดเรื่องลงทุน หรือที่เขาพูดกันว่าเดือนๆ ยังชักหน้าไม่ถึงหลังเลย เพราะหลายคนขอแค่มีเงินเก็บในบัญชีเงินฝากประจำก็ดีใจแล้ว แม้ว่าดอกเบี้ยจะน้อยนิดก็ตาม ดังนั้นก่อนที่จะไปพูดถึงว่าจะลงทุนอะไรที่ให้เงินเก็บงอกงาม ก็ต้องพูดก่อนว่าทำอย่างไรให้มีเงินเก็บ

เงินเหลือเก็บมาจากไหน ก็มีตัวแปรแค่สองตัวง่ายๆ ในชีวิตทุกคนเหมือนกันหมด คือ รายได้ และค่าใช้จ่าย ผมขอพูดถึงคนส่วนใหญ่แล้วกัน คือ กลุ่มมนุษย์เงินเดือนทั้งหลายที่มีรายได้แน่นอนเท่ากันทุกเดือน การเพิ่มขึ้นของรายได้คือ การขึ้นเงินเดือน ซึ่งขึ้นปีละหนึ่งครั้ง มากบ้างน้อยบ้างก็แล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน ดังนั้นการเพิ่มรายได้มากๆ เพื่อที่จะมีเงินเหลือเก็บมากๆ มองแล้วแทบจะเป็นไปได้ยากมากๆ สำหรับมนุษย์เงินเดือน

ก็เหลืออีกแค่ทางเดียวคือลดค่าใช้จ่าย ค่าใช้จ่ายเวลาพูดถึงคนก็มักจะแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นกับไม่จำเป็น ซึ่งหลังๆ คนเราต้องมีไลฟ์สไตล์ในการดำรงชีวิต ค่าใช้จ่ายต่างๆ ก็มักจะถูกบอกว่าจำเป็น ซึ่งจำเป็นจริงๆ หรือเปล่าไม่แน่ใจ ต้องถามต่อว่าเราใช้จ่ายทุกวันนี้ เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต หรือเพื่อใช้ในการดำรงไลฟ์สไตล์ เพราะค่าใช้จ่ายต่างกันมากนะครับ เพราะไลฟ์สไตล์ก็มีราคาของมัน จะถูกจะแพงขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ในแต่ละแบบที่เราอยากจะมี

แล้วจะแยกออกได้อย่างไรว่าค่าใช้จ่ายไหนที่จำเป็นต้องมีเพื่อดำรงชีวิต และค่าใช้จ่ายไหนเพื่อการมีไลฟ์สไตล์ คำตอบสั้นๆ ง่ายๆ ไม่ต้องอธิบายมากครับ คือ ให้เราถามตัวเองว่า ไม่มีแล้วตายไหม ถ้าคำตอบคือ ไม่ตาย แสดงว่าไม่ได้มีไว้เพื่อดำรงชีวิต ยกตัวอย่าง เราต้องทานข้าวหนึ่งมื้อเพื่อดำรงชีวิต เราจะเลือกอะไรระหว่างข้าวแกงหนึ่งจาน กับ บุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่น พอจะเห็นราคาของไลฟ์สไตล์ยังครับ ผมมีทีมงานหลายคนที่ทุกวันต้องทานกาแฟ (แบบมีไลฟ์สไตล์) ที่ทราบเพราะเราดูจากในสังคมออนไลน์เวลาที่เขาโพส ทานกันจนได้บัตรทอง บัตรวีไอพี อะไรประมาณนั้น กาแฟแก้วละ 120 บาท อาทิตย์หนึ่งทานแค่ 5 วันก็พอ เฉพาะวันที่มาทำงาน หนึ่งเดือนคิดเป็นเงิน 2,400 บาท หนึ่งปีเท่ากับ 28,800 บาท สิบปีเท่ากับ 288,000 บาท เกือบสามแสนบาท

ผมไม่คำนวณเรื่องดอกเบี้ยที่เอาเงินไปฝากเลยนะครับ เอาเป็นว่าชดเชยกับเงินเฟ้อก็แล้วกัน เอาเงินฝังตุ่มไว้ยังเกือบสามแสน นี้แค่กาแฟแก้วเดียวนะครับ แล้วในชีวิตจริงของเรามีค่าใช้จ่ายเพื่อไลฟ์สไตล์อะไรอีกบ้าง ลองคิดดู กาแฟแก้วเดียวยังเกือบสามแสน คนที่บอกว่าไม่มีเงินเก็บเพื่อไปลงทุน น่าจะเริ่มเห็นราคาของไลฟ์สไตล์ที่ต้องจ่ายออกไป

ค่าใช้จ่ายเพื่อไลฟ์สไตล์ของเรามีอะไรกันอีกบ้าง ย่อหน้านี้ผมลองยกตัวอย่างคร่าวๆ นะครับ ค่าเคเบิ้ลทีวี ค่า wifi ค่าสมาชิกฟิตเนส ค่าสันทนาการ ค่าเสื้อผ้า ค่ารองเท้า ค่ากระเป๋า ค่าอุปกรณ์ไตรกีฬา (อันนี้เขียนเตือนสติตัวเอง) ที่เหลือลองไปนึกๆ กันดูนะครับ เพราะกาแฟแก้วเดียวยังเกือบสามแสน

เราเองก็อย่าดูถูกเงินจำนวนน้อยว่ามันไม่มีผลอะไร ยิ่งคนที่มีหนี้สินอยู่ ต้องขอบอกว่าเงินทุกบาทมีพลังมาก ถ้าเรารู้จักใช้ เช่น ถ้าเรามีหนี้บัตรเครดิตอยู่ 5,000 บาท ดอกเบี้ยคงค้างบัตรเครดิตค่อนข้างสูง เช่น 16% ถ้าเราผ่อนขั้นต่ำทุกเดือน คือเดือนละ 500 บาท เราต้องใช้เวลา 11 เดือนในการปลดหนี้ แต่ถ้าเราหักเงินจากค่าใช้จ่ายเพื่อไลฟ์สไตล์อะไรมาสักอย่าง ขอแค่เดือนละ 100 บาท แล้วเราเอาจ่ายหนี้บัตรเครดิตเพิ่มจากเดือนละ 500 เป็น เดือนละ 600 จะใช้เวลาในการปลดหนี้ 9 เดือน เป็นไงครับ แค่งดกาแฟแก้วละ 100 บาท แค่เดือนละแก้ว จากที่เราทานเดือนละ 20 แก้ว เหลือ 19 แก้ว เราก็สามารถปลดหนี้บัตรเครดิตได้เร็วขึ้นถึงสองเดือน ดังนั้นใครก็ตามที่ยังมีหนี้คงค้างบัตรเครดิตอยู่ แล้วยังทานกาแฟ (แบบมีไลฟ์สไตล์) ก็น่าคิดนะครับ

ยิ่งเป็นพวกสินเชื่อบ้านที่เป็นสินเชื่อแบบลดต้นลดดอก เงินที่เราจ่ายเพิ่มเข้าไปจากค่างวดปกติ มันจะไปหักเงินต้น แล้วอย่างที่บอกสินเชื่อบ้านเป็นประเภทลดต้นลดดอก มันจะมีผลต่อระยะเวลาในการผ่อนชำระหมดของคุณอย่างเหลือเชื่อ เอาง่ายๆ เรื่องกาแฟเหมือนเดิม แค่ลดกาแฟอาทิตย์และหนึ่งแก้ว หนึ่งเดือนมีเงินเหลือ 480 บาท (120 คูณ 4) ลองเอาไปจ่ายค่างวดบ้านเพิ่มจากค่างวดปกติทุกเดือนดูครับ เงินแค่ 480 บาทต่อเดือน เชื่อไหมครับคุณสามารถปลดภาระหนี้เรื่องบ้านได้เร็วกว่าเดิมเป็นปีนะครับ ขอย้ำเป็นปีครับ ไม่เชื่อลองไปคำนวณดูได้

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจจะมีคำถามว่า ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อการดำรงไลฟ์สไตล์ มันเป็นการซื้อความสุขชนิดหนึ่ง ทำงานเหนื่อยก็ต้องใช้บาง หรือบางคนอาจบอกว่าเราทำมาหากิน ไม่ใช่ทำมาหาเก็บ ตายไปก็ไม่ได้เอาไปใช้ ก็ไม่ผิดครับ แต่ถ้าไม่ตายแล้วไม่มีเงินใช้ อันนี้เหนื่อยแน่นอนครับ

ดังนั้นไม่ใช่ว่าจะห้ามไม่ให้หาความสุขกันเลย การมีไลฟ์สไตล์ก็เป็นความสุขทางใจ แต่ไลฟ์สไตล์มันมีราคาของมัน จะถูกจะแพงขึ้นอยู่กับรสนิยมของแต่ละคน ขอให้ใช้อย่างมีสติและตามกำลัง รู้เท่าทันว่าเงินเก็บในอนาคตเราจะเป็นอย่างไร หนี้สินในอนาคตเราจะเป็นอย่างไร อย่าปรามาสเงินจำนวนเล็กน้อยที่ประหยัดได้ และก็อย่าประมาทกับเงินจำนวนเล็กน้อยที่เราใช้จ่ายไปในแต่ละวันด้วยเช่นกันครับ