posttoday

กลยุทธ์ฝ่ากงเล็บหมี

31 มีนาคม 2563

คอลัมน์ Wealth Design โดย...เพิ่มศักดิ์ จักร์มงคลชัย รองผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยการลงทุน สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด

ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตลาดหุ้นหลายแห่งในโลกรวมถึงตลาดหุ้นไทยก็เข้าสู่สภาวะหมี หลายๆ ตลาดรวมถึงตลาดหุ้นไทยมีผลตอบแทนตั้งแต่เข้าปี 2020 ติดลบในระดับมากกว่า 20% ดัชนีของตลาดหุ้นไทยอย่าง SET Index และดัชนีของตลาดหุ้นสหรัฐฯ อย่าง S&P 500 มีอัตราผลตอบแทนที่ติดลบในระดับ 30% และ 25% ตามลำดับ นักลงทุนบางท่านมองว่าการขายหุ้นในช่วงนี้น่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้องถึงแม้ว่าดัชนีจะปรับตัวลดลงไปค่อนข้างลึกมากแล้วก็ตาม แต่มันก็ยังดีกว่าที่จะเห็นตลาดหุ้นปรับตัวลดลงไปมากกว่านี้ แต่สำหรับนักลงทุนบางท่านอาจจะมีมุมมองที่ต่างกัน ซึ่งอาจมองว่าการระบาดของ COVID-19 คือวิกฤตจริง แต่การที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาจากจุดสูงสุดเมื่อต้นปี 2018 มาถึงระดับปัจจุบัน ดัชนีได้ปรับตัวลดลงไปแล้วร่วมๆ 40% สำหรับตลาดหุ้นไทย การเข้าซื้อในช่วงนี้คือโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนอย่างงดงามในระยะยาวเสียมากกว่า

ปัจจุบัน ทางเลือกของนักลงทุนมีมากมายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการซื้อหุ้นรายตัวทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ กองทุนแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ ETF ตราสารหนี้ REITs และ Infrastructure Fund หรือแม้กระทั่งทองคำและน้ำมัน ทางเลือกในการลงทุนมีหลากหลายจริงๆครับ มาดูกันว่าเราจะมีเทคนิคในการเลือกซื้อสินทรัพย์เพื่อการลงทุนอย่างไรดี ในภาวะตลาดหมีแบบนี้

1. ลงทุนในสิ่งที่คุณมีความรู้และความถนัด รวมถึงแยกแยะให้ได้ว่าหุ้นตัวนั้นลงจริงหรือแค่ลงตามตลาด

เทคนิคแรกเลยที่นักลงทุนควรเริ่มในการซื้อหุ้นหรือกองทุนที่ปรับตัวลดลงมามากคือเลือกซื้อสิ่งที่นักลงทุนมีความรู้และความเข้าใจมากที่สุดก่อน หุ้นในบางอุตสาหกรรมอาจจะตกลงมาแรงมากทำให้นักลงทุนเกิดความสนใจ แต่เราก็อาจจะไม่รู้ว่าที่ราคาหุ้นมันตกลงมาแรงขนาดนี้มันเป็นเพราะว่าราคาหุ้นมันลงมาตามตลาดที่ตกลงมาแรง หรือเป็นเพราะว่าบริษัทได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 อย่างแรงก็เป็นไปได้ ดังนั้นแล้ว เราควรเริ่มในธุรกิจที่เรารู้จักและมีความชำนาญก่อน ไม่อย่างนั้น เราอาจจะได้หุ้นของบริษัทที่ราคาอาจจะลดมามากก็จริง แต่รายได้และกำไรในอนาคตอาจจะได้รับผลกระทบที่รุนแรงกว่าราคาที่เราเห็นในตอนนี้ก็เป็นไปได้ครับ

เราจะต้องแยกให้ออกระหว่างหุ้นที่ปรับตัวลดลงมาแรงแต่ลงมาแรงเพราะว่า sentiment ภาพรวมของตลาดไม่ดี หรือเป็นเพราะว่าธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจึงทำให้ราคาหุ้นปรับตัวลดลง ถ้าเราไม่สามารถให้คำตอบกับตัวเองได้ว่ามันเป็นเพราะอะไร เราก็ควรที่จะหลีกเลี่ยงการลงทุนในหุ้นตัวนั้นๆไปก่อน มิฉะนั้นแล้วเราอาจจะได้หุ้นที่ “ถูกไม่จริง” เข้าก็เป็นได้

2. ผู้บริหารหรือเจ้าของมีการซื้อหุ้นเพิ่ม หรือขายออกมา

ในช่วงที่ราคาหุ้นปรับตัวลดลงมาแรงๆ อีกจุดหนึ่งที่น่าสังเกตคือ ผู้บริหารหรือว่าเจ้าของมีการซื้อหุ้นเพิ่มบ้างหรือไม่ และปริมาณในการเข้าซื้อมีนัยยะสำคัญหรือไม่ ถ้าใช่ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจเพราะมันชี้ให้เห็นว่าคนที่ทำธุรกิจมองว่าราคาหุ้นลงมาแรงเกินไป ศักยภาพของบริษัทดีกว่าราคาที่เห็นอยู่ในกระดาน และการเข้าซื้อก็ควรจะมีปริมาณที่มากอย่างมีนัยยะสำคัญด้วย ถ้าซื้อต่อครั้งคิดเป็นเงินไม่กี่หมื่นหรือแสนบาทก็ไม่น่าสนใจนัก แต่ถ้าการเข้าซื้อมีปริมาณที่มากพอสมควรและเข้าซื้ออย่างต่อเนื่อง ยิ่งลงยิ่งซื้อ ก็ถือว่าน่าสนใจและน่าจะเป็นหุ้นที่เราควรจะไปหาข้อมูลต่อว่าจะลงทุนหรือไม่ลงทุน ในทางกลับกัน ถ้าหุ้นตัวนั้นลงมาแรงแล้วเจ้าของหรือผู้บริหารมีการขายออกมาอย่างมีนัยยะ หุ้นเหล่านี้ก็น่าจะเป็นหุ้นที่เราควรหลีกเลี่ยงไว้ก่อน

3. ทยอยเข้าซื้อ น่าจะดีกว่าโยนเงินเข้าไปทั้งก้อน

ถึงแม้ดัชนีของตลาดหุ้นต่างๆ จะปรับลดลงมามากแล้วก็จริง แต่กลยุทธ์ที่เหมาะสมในช่วงนี้คือการทยอยเข้าลงทุน ดีกว่าการโยนเงินทั้งก้อนเข้าไป เราอาจจะมองว่าเมื่อเรื่องการระบาดของ COVID-19 ผ่านไป ตลาดหุ้นทั่วโลกก็จะฟื้นตัวขึ้นมาได้ แต่เราก็ต้องไม่ลืมว่ามันเป็นการยากที่เราจะมั่นใจได้ว่าการระบาดจะคลี่คลายลงได้เมื่อไหร่ และผลกระทบของการระบาดของโรคจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจมากขนาดไหน ในเมื่อความผันผวนยังมีอยู่สูง และยังไม่สามารถมองเห็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน การทยอยเข้าลงทุนน่าจะเหมาะสมกว่า ให้กฎของค่าเฉลี่ยช่วยทำงานและมันจะเป็นการดีต่อสุขภาพจิตของนักลงทุนมากกว่าด้วยเช่นกันครับ

4. อย่าลืมการกระจายการลงทุน

ถึงแม้ว่าตอนลง ตลาดหุ้นหลายๆ แห่งจะปรับตัวลดลงในอัตราที่ใกล้เคียงกัน อย่างดัชนี SET Index และดัชนี S&P 500 ปรับตัวลดลงในระดับใกล้เคียงกัน แต่ในตอนที่ดัชนีฟื้นตัวขึ้นมา ความเร็วในการฟื้นตัวอาจจะไม่เท่ากัน ดังนั้น นักลงทุนควรที่จะมีการกระจายการลงทุนไปในต่างประเทศด้วย ยามที่ตลาดต่างๆ ฟื้นตัวในอัตราที่ต่างกันมาก นักลงทุนจะได้ไม่รู้สึกเสียโอกาส และจะทำให้ผลตอบแทนในระยะยาวมีความผันผวนที่ลดลงไปด้วย

วันนี้ ผมก็อยากจะฝาก 4 เทคนิคนี้ให้กับนักลงทุนทุกท่านครับ เชื่อว่าจะทำให้นักลงทุนมีหลักในการลงทุนที่มากขึ้นเพื่อนำไปใช้ในการลงทุนกับตลาดที่อยู่ในภาวะหมีลักษณะนี้ วิกฤตเกิดขึ้นตลอดสำหรับตลาดการเงิน แรงบ้างเบาบ้าง กินเวลานานบ้างสั้นบ้าง แล้วแต่เหตุปัจจัยที่ต่างกันไป ทุกครั้งที่เกิดวิกฤตขึ้นก็มักจะเกิดเศรษฐีใหม่เพิ่มขึ้นเช่นกัน อยู่ที่ตัวเราแล้วว่าจะหาโอกาสในวิกฤตได้ดีขนาดไหน

หมีไม่ได้อยู่ตลอดไป กระทิงไม่ได้อยู่ตลอดกาล แต่เราต้องอยู่กันอีกนาน ลงทุนกันด้วยความไม่ประมาทครับ