posttoday

ค่าบาทผันผวนสูง รอผลการลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้

16 มีนาคม 2563

คอลัมน์ มันนี่วีก (Money week) โดย...พีรพรรณ สุวรรณรัตน์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย

สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยประเมินว่าเงินบาทผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยอยู่ในกรอบ 31.50-32.00 การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนารุนแรงขึ้นมาก โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และยุโรป อีกทั้งองค์การอนามัยโลกประกาศให้ Covid-19 เป็นโรคที่แพร่ระบาดระดับโลก ทำให้ตลาดอยู่ในภาวะความเสี่ยงสูงและการเงินตึงตัว ความสนใจของตลาดในสัปดาห์คาดว่าจะอยู่ในการประชมุนโยบายการเงินของสหรัฐฯ ที่ปัจจุบันตลาดคาดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยนโยบายมากถึง 50-100 bps ในคราวเดียว เพื่อบรรเทาผลกระทบของการแพร่ระบาดไวรัสและตลาดประเมินว่ามาตรการการคลังของรัฐบาลทรัมป์อาจไม่เพียงพอ และยังมีการประชุมนโยบายการเงินของญี่ปุ่นที่อาจมีการออกมาตรการเพิ่มเติมด้วย หลังจากที่การประชุมผู้นำ G7 ซึ่งมีญี่ปุ่นรวมอยู่ด้วยส่งสัญญาณว่าจะทำทุกวิธีทางเพื่อบรรเทาผลกระทบของไวรัสต่อเศรษฐกิจและการเงินโลก ด้านจีน ตลาดคาดว่าจะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงเช่นกัน

ในสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาท เงินบาทผันผวนสูงและอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วในช่วงปลายสัปดาห์ ตลาดการเงินทั่วโลกเข้าสู่ภาวะความเสี่ยงสูง โดยตลาดหุ้นหลายแห่งทั่วโลกประสบภาวะ Circuit Breaker หลายครั้ง เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นอีก โดยจำนวนผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นเกินกว่า 1 แสนคน และองค์การอนามัยโลกประกาศให้ Covid-19 เป็นโรคที่แพร่ระบาดระดับโลก

ด้านไทยมีการประกาศจำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น โดยตลาดกังวลว่าเศรษฐกิจโลกเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยธนาคารกลางอังกฤษประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงฉุกเฉิน ขณะที่ธนาคารกลางยุโรปแม้ไม่ได้ลดดอกเบี้ยนโยบายลงตามที่ตลาดคาดไว้ แต่ได้ออกมาตรการเพิ่มสภาพคล่องชุดใหญ่ อาทิ การใช้มาตรการ LTRO รอบใหม่โดยขยายวงเงิน 1.2 แสนล้านยูโรในช่วงที่เหลือของปี 2020 และลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ LTRO และ TLTRO ลงต่ำสุดที่ -0.75% ขณะที่เฟดประกาศเพิ่มการปล่อยกู้ระยะสั้น (Repo operation) เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงินกว่าล้านล้านดอลลาร์เพียงพอ โดยประกาศปล่อยกู้ระยะ 3 เดือนที่ 5 แสนล้านดอลลาร์ทันที และจะปล่อยกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านในวันนี้ พร้อมกับการปล่อยกู้ระยะ 1 เดือนอีก 5 แสนล้าน

นอกจากนี้ เฟดได้มีการปรับนโยบายเข้าซื้อตั๋วเงินคลังที่ 6 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อเดือนมาเป็นการเข้าซื้อได้ทั้งตั๋วเงินคลัง และพันธบัตรรัฐบาลในทุกช่วงอายุ และประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศห้ามการเดินทางจากยุโรปมายังสหรัฐฯ เพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อ Covid-19 โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เที่ยงคืนของวันศุกร์ โดยการระงับการเดินทางดังกล่าวไม่รวมสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ นอกเขตแดนวีซ่าเชงเก้น ซึ่งมาตรการนี้มีระยะเวลาบังคับใช้ 30 วัน

นอกจากนี้ ทรัมป์ประกาศมาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อ Covid-19 ได้แก่ การให้เงินสนับสนุนพนักงานที่ลาป่วย ให้เงินทุนและสภาพคล่องกับธุรกิจขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบ และการเลื่อนกำหนดชำระภาษีทั้งบุคคลและบริษัทออกไปอีก 3 เดือน ทั้งนี้ เงินบาทปิดตลาดที่ 31.8 ณ 17.30 น.

ภาพรวมตลาดตราสารหนี้ในสัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นสัปดาห์หนึ่งที่มีความผันผวนสูงมากครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ โดยปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อตลาดยังคงเป็นเรื่องของการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ที่รุนแรงขึ้นในหลายประเทศนอกจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ และยุโรป รวมไปถึงประเด็นการเปิดสงครามราคาน้ำมันระหว่างกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันโอเปกและรัสเซีย

สิ่งที่น่าสังเกตอย่างหนึ่งคือความสัมพันธ์ระหว่างการเข้าถือสินทรัพย์เสี่ยงและสินทรัพย์ปลอดภัยกลับไม่เป็นไปอย่างที่นักลงทุนได้เคยทราบกันมา กล่าวคือมีแรงขายออกมาในทุกสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นตราสารทุนหรือหุ้น ตราสารหนี้และทองคำ ซึ่งเหตุการณ์แบบนี้อาจสามารถตีความได้ว่านักลงทุนเลือกที่จะถือเงินสด ท่ามกลางความไม่แน่นอนของปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นในเวลานี้

โดยล่าสุดองค์การอนามัยโลกประกาศให้การระบาดของไวรัสโคโรนาเป็นการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ (Pandemic) พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ เพิ่มความพยายามในการควบคุมการระบาดของไวรัสหลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกเพิ่มขึ้นสูงกว่าหนึ่งแสนราย ขณะที่ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักเดินหน้าผ่อนคลายนโยบายการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแบบฉุกเฉินลง 50 bps มาอยู่ที่ 0.25% เพื่อบรรเทาผลกระทบของการระบาดของไวรัสโคโรนาต่อเศรษฐกิจ หลังจากจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ BOE ได้ประกาศมาตรการปล่อยกู้ (Term Funding Scheme) ที่มีแรงจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้เพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs รวมถึงประกาศลดอัตราส่วนที่ธนาคารพาณิชย์ต้องนำเงินเข้ากองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสี่ยงเชิงระบบในช่วงเศรษฐกิจขาลง (Counter Cyclical Buffer) ลงมาอยู่ที่ 0% ขณะที่การประชุมธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยที่ -0.50% ในการประชุมเดือนมีนาคม พร้อมกับปล่อยมาตรการผ่อนคลายทางการเงินชุดใหญ่ โดยอีซีบีประกาศการเข้าซื้อสินทรัพย์ผ่านมาตรการ QE เม็ดเงิน 1.2 แสนล้านยูโรภายในปี 2020 เพิ่มเติมจากมาตรการซื้อสินทรัพย์ที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ 2 หมื่นล้านยูโรต่อเดือน โดยจะเน้นการเข้าซื้อสินทรัพย์ของภาคเอกชนเพื่อลดทอนผลกระทบจากการระบาดของเชื้อ Covid-19 ต่อภาคธุรกิจ

ด้านอีซีบีได้ประกาศมาตรการปล่อยกู้ให้กับธนาคารพาณิชย์ (LTROs) รอบใหม่ที่ดอกเบี้ยเท่ากับค่าเฉลี่ยของดอกเบี้ยเงินฝากของอีซีบี โดย (3) ดอกเบี้ยที่ให้กับ LTROs ใหม่และมาตรการ TLTROs III เดิมนั้นจะลดลงที่มาต่ำสุดได้ถึง -0.75% ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2020 ถึง 2021 ในส่วนของธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เพิ่มการปล่อยกู้ระยะสั้น (Repo operation) เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าระบบการเงินกว่าล้านล้านดอลลาร์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้ระบบการเงินสหรัฐฯ มีสภาพคล่องเพียงพอ

อย่างไรก็ตามตลาดยังคงคาดหวังให้เฟดผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม พิจารณาจากตลาดฟิวเจอร์ที่คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 80 bps (ณ วันที่ 13 มี.ค. 63 เวลา 16.00น.) ในการประชุมที่จะเกิดขึ้นวันที่ 17-18 มีนาคมนี้ ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลไทยปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแรงขายทั่วโลก โดย ณ วันที่ 13 มีนาคม 2563 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลไทยรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 0.84% 0.89% 0.98% 1.05% 1.18% และ 1.35% ตามลำดับ

ค่าบาทผันผวนสูง รอผลการลดดอกเบี้ยของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นในสัปดาห์นี้

กระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 33,243 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 14,582 ล้านบาท ขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 17,540 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 1,121 ล้านบาท