posttoday

ช่วงเวลาแห่งความหนักหน่วง

12 มีนาคม 2563

คอลัมน์ คู่คิดนักลงทุน โดย...บรรณรงค์ พิชญากร กรรมการผู้จัดการ กิจการหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง

ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อคืนวันที่ 9 มี.ค.2563 เป็นอีกหนึ่งวันที่โลกจะต้องจดจำ เนื่องจากดัชนี DJIA ปรับตัวลดลงมากกว่า 2,000 จุด สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ หรือคิดเป็นราว 7.8% ขณะที่ดัชนี S&P500 ปรับตัวลดลงมากกว่า 200 จุด หรือคิดเป็น 7.6% โดยหากพิจารณามูลค่าตลาดของบริษัทเทคโนโลยีที่ใหญ่ที่สุดในโลก 5 บริษัท ได้แก่ Alphabet, Amazon, Facebook ,Apple และ Microsoft พบว่าหายไปถึง 3.2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ราว 9.9 ล้านล้านบาท ในคืนเดียว โดยมาจากมูลค่าบริษัท Apple ถึง 1 ใน 3

หากไล่เรียงเหตุการณ์แล้ว เราจะพบว่าตั้งแต่เปิดปี 2563 มา เราก็มีข่าวที่เหนือคาดอยู่หลายเรื่อง เริ่มตั้งแต่ข่าวประธานาธิบดีทรัมป์สั่งยิงนายพลอิหร่านเสียชีวิต การแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 ที่จีน จนกระจายไปทั่วโลก การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศลดดอกเบี้ยฉุกเฉิน 0.5% และมีการคาดการณ์ว่าจะลดอีกครั้งในการประชุมวันที่ 17-18 มี.ค. นี้เพื่อลดกระทบของไวรัส COVID-19 ต่อเศรษฐกิจ การที่ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ 10 ปี ต่ำกว่า 1% เป็นครั้งแรกในรอบ 150 ปี และลงไปทำจุดต่ำสุดที่ 0.318% หรือ การที่ราคาน้ำมันดิ่งเหวกว่า 24% หลังซาอุดิอาระเบียเปิดฉากสงครามราคา ส่งผลให้ดัชนี S&P 500 Energy ดิ่ง 20% ในคืนเดียวกัน รวมถึง การที่ bid-ask spreads ของผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลห่างผิดปกติ โดยในบางช่วงพันธบัตร 30 ปีสหรัฐฯ ถึงกับไม่มี offer ของ จน Trader ของ JPMorgan ท่านหนึ่งให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่าเป็นสถานการณ์ที่เค้าไม่เคยพบมาก่อนตั้งแต่ทำงานมา 40 ปี

อย่างไรก็ดี หากพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในเดือน ก.พ. จะพบว่ายังไม่ได้แย่หนักอย่างที่คิด ไม่ว่าจะเป็นดัชนี ISM ภาคบริการที่ประกาศออกมาขยายตัวถึง 57.3 ดีที่สุดในรอบ 1 ปี จากที่ตลาดคาด 54.8 โดยดัชนีดังกล่าวสะท้อนภาคเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ดี เนื่องจากภาคบริการคิดเป็นสัดส่วนราว 2 ใน 3 ของ GDP แม้ดัชนี ISM ภาคการผลิตที่ประกาศออกมาก่อนหน้าจะชะลอตัวเหลือ 50.1 แต่ระดับที่มากกว่า 50 ก็ยังสะท้อนว่าเศรษฐกิจยังขยายตัวได้ หรือจะเป็นตัวเลขอัตราการว่างงานที่ออกมา 3.5% ต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี แต่ก็ต้องติดตามว่าหลังจากนี้ ผลจากเหตุการณ์เหนือคาดต่างๆ ที่กล่าวข้างต้นจะกระทบเศรษฐกิจสหรัฐฯ หนักหน่วงเช่นไร

ในแง่การลงทุนนั้น คงตอบได้ยากว่าตลาดจะลงไปอีกแค่ไหน หรือ ต่ำสุดที่ใด แต่หากพิจารณามูลค่าพื้นฐานหรือ PE ของดัชนี S&P500 ที่อยู่ระดับแถว 16 เท่าในปัจจุบันแล้ว นับว่าดูน่าสนใจขึ้นหากเทียบกับ PE เมื่อช่วงปลายปี 2562 ที่ราว 21 เท่า หุ้นหลายๆ บริษัทที่เป็นบริษัทระดับโลก มีศักยภาพในการแข่งขันสูง และอยู่มานาน บางบริษัทเป็นร้อยปี ผ่านเหตุการณ์ลักษณะนี้มาหลายครั้ง เช่น Coca Cola ,P&G ,Walmart ,CostCo ,Apple ,Microsoft หรือ Starbucks ผมเชื่อว่าจะสามารถผ่านช่วงเวลาแห่งความหนักหน่วงที่สุดครั้งหนึ่งแห่งทศวรรษนี้ไปได้ในที่สุด

นอกจากนี้ การลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้น เรายังมีทางเลือกอื่นๆ ที่ช่วยให้การลงทุนสะดวกได้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนผ่าน ETF ที่อิงดัชนี S&P500 ที่ชื่อว่า SPY หรือ VOO ที่ได้กระจายการลงทุนไปยังหุ้น 500 ตัว หรือ สามารถเก็งกำไรไปกับ ETF น้ำมัน ที่ชื่อว่า USO หรือ ETF ทองคำที่ชื่อว่า GLD รวมถึง Inverse ETF ที่ช่วยป้องกันความเสี่ยงของพอร์ตในช่วงตลาดขาลงที่ชื่อว่า SPXU ซึ่งเครื่องมือทางการเงินเหล่านี้ ทีม BLS Global Investing ของหลักทรัพย์บัวหลวงมีข้อมูลและคอยให้คำแนะนำลูกค้าอยู่อย่างใกล้ชิดครับ