posttoday

ความท้าทายของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย: เก่งแค่ไหน

18 กุมภาพันธ์ 2563

คอลัมน์ ทันเศรษฐกิจ โดย...ผศ.ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) www.econ.nida.ac.th; [email protected]

ถ้าจะบอกว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าในประเทศจีนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย เป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด (Unexpected)

ดังนั้น เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย (หรือจะใช้คำว่าเพื่อเป็นการเยียวยาก็ตามแต่) แล้วเรียกร้องให้ภาครัฐต้องดำเนินมาตรการเพื่อช่วยเหลือนั้น ในแง่ความเป็นธรรม (Fairness) ของการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจก็ดูเหมือนจะไม่ใช่เงื่อนไขของการดำเนินนโยบายจริงๆ

อีกทั้งยังเป็นการสะท้อนอีกว่า การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนต้องพึงพาภาครัฐมากเกินไป เท่ากับว่าเรากำลังยอมรับกันอย่างหน้าชื่นตาบานว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทยไม่ได้มีขีดความสามารถในการแข่งขันที่ดีไปกว่าที่อื่นเลย เพราะความสามารถในการแข่งขันครอบคลุมไปถึงความสามารถในการปรับตัวรองรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปรวมทั้งธุรกิจต้องเรียนรู้ที่จะคำนึงถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง ธุรกิจที่มีการเตรียมตัวไว้ก่อนล่วงหน้า มีการวางแผนรองรับไว้ก่อน ก็จะสามารถปรับตัวได้ แถมยังสามารถเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน

และถ้าย้อนกลับไปดูแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียงก็จะพบว่า มีการพูดถึงเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งก็หมายถึงการบริหารจัดการความเสี่ยง จริง ๆ แล้ว การเรียกร้องความช่วยเหลือจากภาครัฐและจะได้รับการช่วยเหลือหรือไม่? ในรูปแบบใด? เป็นเรื่องที่มีความสำคัญน้อยกว่าการประเมินผลกระทบจากความเสี่ยงที่เกิดขึ้นให้ชัดเจน กำหนดแนวทางที่ธุรกิจจะดำเนินการเพื่อรองรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น (แน่นอน ธุรกิจก็คงจะต้องได้รับผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์บ้าง เช่น อาจจะขาดทุน แต่ทำอย่างไรจะให้ขาดทุนน้อย) ทบทวนว่าในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาที่การท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง (จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นทุกปีในช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมา) เรามองข้ามความเสี่ยงเหล่านี้ไปเลย ทั้ง ๆ ที่การระบาดก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว แต่เรากลับตัดสินใจลงทุน ตัดสินใจขยายธุรกิจโดยมองเฉพาะโอกาสที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต โดยอาจไม่ได้คำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นอย่างเพียงพอ

เมื่อมีเหตุการณ์เกิดขึ้น คำถามสำหรับธุรกิจคือ แล้วเราจะทำอย่างไร? รอการช่วยเหลือจากภาครัฐ? เรียกร้องให้ภาครัฐต้องมาให้การช่วยเหลือโดยมีเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นตัวประกัน เพราะอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ มีการจ้างงานมาก มีผู้เกี่ยวข้องมาก ถ้าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแย่ เศรษฐกิจของประเทศก็จะแย่ด้วย ดังนั้น รัฐจึงต้องยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งก็ไม่ต่างจากกรณีที่เกิดขึ้นครั้งวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 เพียงแต่ครั้งนั้นเกิดขึ้นกับปัญหาในสาขาธุรกิจการเงิน

ที่เขียนที่พูดแบบนี้ ไม่ได้หมายความว่าภาครัฐเองไม่ควรจะทำอะไรเลย ปล่อยให้ภาคเอกชน ธุรกิจต่างๆ ดิ้นรนต่อสู้กันไปเพียงลำพัง เพราะถ้าประเมินจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น น่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมมากและกว้างขวางพอสมควร อีกทั้งยังไม่สามารถประเมินได้อย่างชัดเจนแม่นยำมากว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงแค่ไหน กลุ่มใดบ้างในระบบเศรษฐกิจที่จะได้รับผลกระทบและมากน้อยแตกต่างกันอย่างไร กลุ่มใดมีความสามารถในการปรับตัวได้มาก กลุ่มใดมีข้อจำกัดในการปรับตัว

ในแง่ของภาครัฐซึ่งเป็นผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจ เป้าหมายสำคัญของนโยบายที่จะใส่เข้าไปจึงไม่ควรเน้นให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือหรือเยียวยาโดยการหยิบยื่นให้ เพราะจะมีความเสี่ยงมากต่อการสร้างปัญหาอื่น ๆ ซึ่งจะเกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจได้ในภายหลังโดยเฉพาะนโยบายที่มีลักษณะเป็นการให้ผลประโยชน์กับกลุ่มหรือหน่ายเศรษฐกิจในบางสาขา แต่ไม่ได้ประโยชน์ในสาขาอื่น ซึ่งก็จะก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการแข่งขัน

แน่นอนว่า การช่วยเหลือด้วยมาตรการของรัฐเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเป็นสิ่งที่ดำเนินการได้ หรือควรจะดำเนินการด้วยซ้ำไป แต่ทางเลือกของการดำเนินนโยบายก็จะมีได้หลากหลาย สามารถเลือกใช้ให้เกิดความเหมาะสมได้ ซึ่งแท้จริงแล้วธุรกิจ (ในสาขาการท่องเที่ยวเอง) ก็มีความจำเป็นต้องให้รัฐเข้าไปหยิบยื่นอะไรให้ (ซึ่งผมคิดว่ามีอยู่เป็นจำนวนมาก) เขามีความสามารถในการแข่งขัน มีความสามารถในการปรับตัวรองรับกับสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้น มีแนวทางในการรับมือได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว เพียงแต่อาจจะต้องการการสนับสนุน การอำนวยความสะดวกจากภาครัฐ และเมื่อสามารถผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ไปได้ ผู้ประกอบการในทุก ๆ สาขาที่ถูกกระทบเหล่านี้ก็จะมีความเข้มแข็งมากขึ้น เรียกว่ามีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นไปอีก

การกำหนดนโยบายของภาครัฐจึงน่าจะตั้งเป้าหมาย หรือให้น้ำหนักกับเรื่องการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Stability) มากกว่าการตั้งเป้าหมายเพื่อให้การช่วยเหลือ ชดเชย หรือเยียวยา ซึ่งถ้าจะวิเคราะห์กันให้ถ่องแท้แล้วก็อาจจะพบว่า การให้ความช่วยเหลือโดยการหยิบยื่นให้จากภาครัฐคงไม่ใช่คำตอบสำหรับอุปสรรคที่กำลังเผชิญกันอยู่ ตัวอย่างกรณีประเทศญี่ปุ่นที่ประสบกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาสอนให้เราได้เรียนรู้ว่า การปรับตัวให้ได้กับสภาวะความผันผวนที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สำคัญมากต่อธุรกิจ และการบริหารเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของไทย อาจจะถือเอาโอกาสนี้ในการปรับเปลี่ยน (Transform) จากอุตสาหกรรมที่เน้นปริมาณไปสู่การเน้นคุณภาพเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่ม เปลี่ยนแปลงไปเป็นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ (Quality Tourism) มากกว่าการท่องเที่ยวเชิงปริมาณ และเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านนี้ ภาครัฐก็อาจจะเข้าไปมีบทบาทได้หลายช่องทาง เช่น การสร้างมาตรฐานการท่องเที่ยวของไทย (Thailand Tourism Standard) ที่ได้มาตรฐานสูงตามหลักสากล การสร้างความเชื่อมั่นทั้งต่อทรัพย์สิน ความปลอดภัยรวมทั้งความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุข หรือแม้แต่เพียงแค่ทำให้บ้านเมืองทุกที่ทุกจังหวัดในประเทศไทยมีระเบียบ มีความสะอาดมากขึ้นเท่านั้น ฯลฯ ซึ่งถ้าเราสร้างสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาได้ (อาจจะด้วยการอัดฉีดงบประมาณลงไป) เมื่อความรุนแรงของเหตุการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้นทุเลาเบาบางลง ประเทศไทยก็จะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งแรก ๆ ที่นักท่องเที่ยวจะนึกถึง และเดินทางกลับมาท่องเที่ยวเหมือนเดิมหรือมากกว่าเดิมอีก การมองการดำเนินนโยบายทางด้านการท่องเที่ยวลักษณะนี้ก็จะมีเป้าหมายที่ชัดเจนทางด้านความยั่งยืน สอดคล้องการแนวทางยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศได้ด้วย

ทัศนคติของทั้งภาครัฐ (การกำหนดนโยบาย) และเอกชน (ความพยายามในการปรับตัวกับปัญหารุนแรงที่เกิดขึ้น) เป็นกระบวนการที่สำคัญของการบริหารจัดการความเสี่ยงจากวิกฤติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น (Crisis Management) ของประเทศ ซึ่งถ้าจะว่ากันจริง ๆ แล้ว สิ่งที่เราเรียกกันว่าเป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นนี้ มีแนวโน้มที่จะเกิดบ่อยขึ้น มากขึ้น และรุนแรงขึ้น ตามลำดับ การวางแผนเตรียมการเพื่อรองรับสิ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ การคาดหมายหรือเตรียมตัวกับสิ่งที่ไม่คาดคิดหรือสิ่งที่ไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น (Expect the Unexpected) คล้าย ๆ กับการเกิดขึ้นของ Technology Disruption ที่กำลังเป็นเทรนของการเปลี่ยนแปลงในช่วงทศวรรษนี้ กลายเป็นสิ่งจำเป็นของการดำเนินธุรกิจไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่

ความเสี่ยงของการดำเนินธุรกิจที่สูงขึ้นนี้ ตอกย้ำให้เห็นถึงความสำคัญขององค์ความรู้ในศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการความเสี่ยง การบริหารจัดการธุรกิจ และการบริหารจัดการในทางเศรษฐศาสตร์เพื่อเป้าหมายของการยกระดับความอยู่ดีกินดีของคนในสังคม และภายใต้ช่วงระยะเวลาที่ยากลำบากอย่างที่กำลังเกิดขึ้นนี้เองที่เราจะได้เห็นความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ อุตสาหกรรม และของประเทศในการก้าวผ่านอุปสรรคไปให้ได้ด้วยนวัตกรรมทางความคิดในเชิงการบริหารจัดการของภาคธุรกิจเอกชน และนวัตกรรมทางด้านการดำเนินมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุน ประคับประคอง ให้สามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจผ่านพายุที่รุนแรงออกไปได้

ความเข้าใจที่ถูกต้องโดยมองผลประโยชน์ของประเทศเป็นหลักมากกว่าการแสวงหาประโยชน์จากโอกาสในการเรียกร้องเพื่อชดเชยผลประโยชน์ส่วนตัวจากการช่วยเหลือ หรือหยิบยื่นให้ของภาครัฐจึงเป็นกับดับที่ต้องระมัดระวัง การสร้างความร่วมมือในการทำงานระหว่างภาครัฐและเอกชน มีช่องทางในการติดต่อสื่อสารที่ดี มีประสิทธิภาพ และความเข้าใจที่ดีของภาครัฐต่อเอกชน รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ร่วมมือช่วยเหลือ ประคับประคองกันไม่เพียงแต่ธุรกิจในสาขาการท่องเที่ยว แต่รวมถึงธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกัน เป็นการสร้างโครงข่ายความร่วมมือ สร้างมูลค่าและความเข้มแข็งของเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ถ้าสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงเชื่อว่าจะทำให้ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแต่รวมไปถึงระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยโดยรวม ซึ่งอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจที่มีฐานในภาคเศรษฐกิจสาขาบริการมากขึ้น มีความเข้มแข็งและมีขีดความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นได้อีกมาก