posttoday

ปลดหนี้อย่างไรให้หมดเร็ว

23 มกราคม 2563

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย... ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ AFPT และ ดร.ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ AFPTศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย... ศุทธวีร์ มงคลสินธุ์ AFPT และ ดร.ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ AFPTศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

หนี้ประเภทสินเชื่อเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรกดเงินสด ผ่อนชำระบัตรเครดิต มีลักษณะร่วมกันอย่างหนึ่งคือมีการคำนวณดอกเบี้ยแบบ “ลดต้นลดดอก” โดยดอกเบี้ยที่จะต้องจ่ายอิงจากยอดเงินต้นคงเหลือในงวดก่อนหน้า ซึ่งหากมียอดคงเหลือเยอะ เงินค่างวดที่ผ่อนแต่ละเดือนจะถูกหักไปจ่ายดอกเบี้ยเสียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนที่เหลือจึงนำไปลดเงินต้น หากเราไม่ให้ความสำคัญเร่งปลดหนี้ให้หมดโดยเร็วแล้ว จะทำให้มีภาระดอกเบี้ยจ่ายสูงและผ่อนยาวนาน

สำหรับผู้ที่ต้องการจัดการหนี้ประเภทลดต้นลดดอกให้หมดโดยเร็ว เทคนิคสำคัญคือ การเร่งผ่อนชำระให้มากกว่ายอดขั้นต่ำที่กำหนด เพื่อให้เงินค่างวดแต่ละเดือนไปลดส่วนของเงินต้นได้มากขึ้น วิธีการนี้สามารถทำได้ง่ายและมีประสิทธิภาพ อย่างในกรณีของการปลดหนี้บ้านนั้น ศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. ได้ทำประมาณการผลลัพธ์ของการผ่อนสินเชื่อบ้านวงเงิน 1 ล้านบาท ระยะเวลา 30 ปี พบว่าหากเพิ่มยอดการผ่อนอีกเดือนละ 10% จากยอดขั้นต่ำ (เช่น กำหนดให้ชำระขั้นต่ำ 5,000 บาท ผู้กู้ผ่อนชำระจริงที่ 5,500 บาท) จะทำให้ลดระยะเวลาการผ่อนลงจาก 30 ปี เหลือ 25 ปี และภาระดอกเบี้ยจ่ายโดยรวมที่อาจสูงถึง 9.3 แสนบาทจะลดลงมาที่ 7.5 แสนบาท และหากเพิ่มยอดการผ่อนอีกเดือนละ 20% จากยอดขั้นต่ำ จะทำให้สามารถปลดหนี้ได้ภายใน 20 ปีเศษ และลดภาระดอกเบี้ยจ่ายลงเหลือราว 6.3 แสนบาทเท่านั้น

กรณีนี้ไม่ซับซ้อนเท่าใดนัก เนื่องจากมีหนี้เพียงรายการเดียว แต่หากมีหนี้ตั้งแต่สองรายการขึ้นไป คำถามที่มักพบคือจะเลือกหนี้ตัวไหนที่จะปลดให้หมดก่อนดี

คำแนะนำจากศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. คือให้ทำการแจกแจงหนี้ที่มีอยู่ โดยการเขียนข้อมูลง่ายๆ เช่น ชื่อสถาบันการเงินเจ้าหนี้ ยอดผ่อนต่อเดือนที่สถาบันการเงินกำหนด ภาระหนี้คงค้าง และอัตราดอกเบี้ยต่อปี หลังจากนั้นให้นำมาพิจารณาโดยใช้เกณฑ์ดังนี้

กรณีหนี้แต่ละรายการมีดอกเบี้ยแตกต่างกันมาก เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16 ถึง 28 ต่อปี กับสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยร้อยละ 5 ถึง 7 ต่อปี แนะนำให้เล็งเป้าปลดหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลก่อน โดยใช้การแบ่งเงินออมแต่ละเดือนมาผ่อนเพิ่มเติม หรือนำเงินรายได้พิเศษอื่นมาจัดการโปะหนี้ โดยยังคงชำระหนี้ตัวอื่น ๆ ตามยอดขั้นต่ำที่สถาบันการเงินเจ้าหนี้กำหนด เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาจากการผิดนัดชำระหนี้รายการอื่น

กรณีหนี้แต่รายการดอกเบี้ยไม่ได้แตกต่างกันมากนัก เช่น อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16 กับร้อยละ 18 ต่อปี จากตัวอย่างในตาราง อาจคิดว่าการผ่อนหนี้สถาบันการเงิน ข. น่าจะช่วยประหยัดดอกเบี้ยได้มากกว่า ด้วยเหตุที่อัตราดอกเบี้ยและฐานเงินต้นอยู่ในระดับสูง

ปลดหนี้อย่างไรให้หมดเร็ว

แต่หากพิจารณาอีกมุมหนึ่ง ถ้าเรานำเงินส่วนเพิ่มไปเล็งเป้าลดภาระหนี้ของสถาบันการเงิน ก. จะสามารถปิดหนี้ได้ในเวลาที่รวดเร็วกว่า และเมื่อปิดหนี้ได้หนึ่งตัวแล้ว ข้อดีคือจะทำให้เรามีเงินเหลือเป็นสภาพคล่องเพิ่มขึ้นอย่างมากในแต่ละเดือน ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ทั้งการดำรงชีพทั่วไปหรือนำไปผ่อนเพิ่มกับสถาบันการเงิน ข. ในภายหลังได้อีก นอกจากนี้ การปิดหนี้ลงได้หนึ่งตัวจะเป็นการสร้างกำลังใจว่าเราสามารถทำได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ที่อยู่ในช่วงปลดหนี้

อีกทั้งควรเพิ่มเติมวินัยด้านการเงินในช่วงเป็นหนี้ควบคู่กันไปด้วย 4 เรื่อง ดังนี้

(1) ซื้อของด้วยเงินสด เป็นการควบคุมค่าใช้จ่ายให้อยู่ภายใต้เงินที่มีอยู่เป็นวิธีแบบดั้งเดิมที่ทำให้เราฝึกความอดทน ปรับเปลี่ยนนิสัยทางการเงินไม่ให้ใช้เงินแบบวู่วาม

(2) ออมก่อนใช้อย่างสม่ำเสมอ เมื่อมีรายได้เข้ามาในแต่และเดือนให้ออมอย่างน้อย 10% ของรายได้ ถือว่าเป็นการผ่อนเงินค่าการเกษียณของตนเอง

(3) เตรียมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน ควรมีเงินก้อนเตรียมไว้ในรูปเงินสดหรือเงินฝากออมทรัพย์อย่างน้อย 3 เท่าของรายจ่ายต่อเดือนเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นมาก็มีเงินไว้ใช้ไม่ต้องก่อหนี้เพิ่ม

(4) ใช้ชีวิตแบบพอเพียง ดำเนินชีวิตด้วยความเรียบง่าย ไม่ก่อหนี้ ไม่ฟุ้งเฟ้อ วิถีชีวิตด้านการเงินแบบใหม่นี้เป็นทางที่ยั่งยืนในการสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับตัวเองและครอบครัว

ศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. ได้จัดทำ “คู่มือจัดการหนี้” เพื่อให้ความรู้และแนวทางการจัดการหนี้ที่ถูกต้อง โดยในคู่มือจะมีตัวอย่างการบันทึกบัญชีรายจ่ายและตัวอย่างการบันทึกแจกแจงหนี้ รวมทั้งเทคนิคการจัดการหนี้ประเภทต่าง ๆ สมาชิกหรือผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดเอกสารได้ที่เว็บไซต์ กบข. www.gpf.or.th ทั้งนี้ สมาชิกสามารถขอคำแนะนำแนวทางปลดหนี้เพิ่มเติมได้ที่อีเมล [email protected] หรือนัดหมายศูนย์ข้อมูลการเงิน กบข. ผ่าน My GPF Application เมนู “นัดหมายบริการข้อมูลการเงิน”